เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ศยามล สุขขา

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 5,078 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/12/2566
อ่านล่าสุด 2 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/yqcbo26w
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yqcbo26w
 

เมื่อกล่าวถึงการตั้งครรภ์แล้ว ในหลายครั้งเราจะนึกถึงการเตรียมความพร้อมของฝ่ายหญิงสำหรับการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปรับรูปแบบทางโภชนาการ การรับประทานวิตามินเสริมบางประเภท หรือการหลีกเลี่ยงยาบางชนิดตั้งแต่ก่อนเริ่มตั้งครรภ์ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเตรียมความพร้อมของฝ่ายชายก็มีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์เช่นกัน บทความนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อเพื่อส่งเสริมการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีได้อีกด้วย

ปัจจัยในเพศชายที่เป็นสาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก1,2 

ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก จากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ที่อาจทำให้ความพร้อมของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรนั้นอยู่ในช่วงอายุที่มากขึ้น ในเพศหญิงเมื่อมีอายุที่มากขึ้นย่อมส่งผลต่อจำนวนและคุณภาพของไข่ที่จะปฏิสนธิ และส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ในส่วนของเพศชายนั้นก็พบรายงานปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเช่นกัน ดังนี้

  • สภาะวะทางจิตใจ จากการศึกษาพบว่าสภาวะทางอารมณ์ หรือภาวะเครียดส่งผลต่อระบบการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ลดการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ และการสร้างอสุจิ อีกทั้งภาวะเครียดยังทำให้ไวต่อการติดเชื้อ กระบวนการอักเสบ และการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำลายอสุจิได้
  • กลุ่มโรคทางกายบางชนิดจะมีผลต่อคุณภาพของอสุจิ เช่นภาวะอ้วน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เบาหวาน มีการรายงานว่าผู้ชายที่เป็นเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีจะมีปัญหาของอสุจิในด้านการเคลื่อนไหว ความข้นและจำนวนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี และในผู้ที่เป็นเบาหวานยังพบการรายงานการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย 
  • ยาที่ได้รับจากแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง รวมถึงสมุนไพร และอาหารเสริม โดยกลุ่มยาที่มีรายงานสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยากได้แก่ยาฮอร์โมน (exogenous testosterone ซึ่งจะมีผลลดการสร้างอสุจิ, androgen supplement ซึ่งมีผลในการกดวงจรของ HPG axis ที่ส่งผลต่อฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์) ยาลดความดัน (alpha-blockers สัมพันธ์กับภาวะการหลั่งของน้ำอสุจิไหลย้อนกลับ, spironolactone ซึ่งสัมพันธ์กับการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย androgen) ยาฆ่าเชื้อ (erythromycin, neomycin, tetracycline, nitrofurantoin, gentamicin มีผลทำให้การสร้างอสุจิบกพร่อง) ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบจิตและประสาท (SSRIs, monoamine oxidase inhibitors, lithium, phenothiazines ซึ่งส่งผลลดความต้องการทางเพศ) ยาเคมีบำบัด มีผลต่อการสร้างอสุจิที่บกพร่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในผู้ที่ได้รับยาดังกล่าวในการรักษาโรคประจำตัว และมีการวางแผนมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาปรับยา หรือให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร และยังคงควบคุมอาการของโรคได้ดี
  • สารเสพติดจำพวกโคเคน มารีฮัวน่า การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลโดยตรงต่อการสร้างอสุจิ และส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ 
  • ความผิดปกติของผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิด อาจส่งผลต่อการมีบุตรยากได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เพศชายทำการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการตามคำแนะนำในแต่ละช่วงอายุอย่างสม่ำเสมอ เช่นการตรวจไขมันเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี หรือทำการตรวจเร็วขึ้น (อายุ 20-35 ปี) หากมีภาวะเบาหวาน มีประวัติของบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีความเสี่ยงหลายด้านต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาสั่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการที่สัมพันธ์กับอาการ/อาการแสดงของโรคที่สัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยากเพิ่มเติม เช่น การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อค้นหาภาวะไทรอยด์ต่ำ หรือมากเกินไป การตรวจการทำงานของต่อมหมวกไต เพื่อค้นหาภาวะ Addison หรือ Cushing syndrome การตรวจเอนไซม์แสดงการทำงานของตับ หากตรวจร่างกายและเจอตับโต หรือการตรวจระดับฮอร์โมนที่สัมพันธ์ต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่เทสโทสเตอโรน เอสโตรเจน เอฟเอสเอช (follicle stimulating hormone, FSH) เอลเอช (luteinizing hormone, LH)

การเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายเพื่อส่งเสริมโอกาสการมีบุตร1,2

    สำหรับการเสริมสร้างสุขภาพในเพศชายนี้มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรกระทำไม่ว่าจะมีการวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่ ตัวอย่างคำแนะนำด้านล่างนี้เกี่ยวข้องกับการดูแลทางโภชนาการ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การป้องกันโรค และความเครียด รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะที่ดีได้

  • การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากข้อมูลพบว่าหากมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 9 กิโลกรัม จะสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากได้ร้อยละ 10 ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI > 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร) ควรได้รับคำแนะนำในการลดน้ำหนักที่ถูกวิธีเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เช่น การส่งปรึกษากับนักโภชนาการ การเข้าโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก และส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยวันละ 30 นาที)
  • การควบคุมอารมณ์ การทำจิตใจให้สบายเพื่อลดความเครียด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด รวมถึงการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปนเปื้อนโลหะหนัก หรือมีการสวมใส่เครื่องแบบ/สวมใส่ถุงมือที่มีการป้องกันอย่างเหมาะสมเมื่อต้องสัมผัสกับสารรังสี หรือการทำ x-ray
  • รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และอาหารที่ช่วยบำรุงอสุจิได้แก่ ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วปากอ้า ถั่วพู วอลนัท ซึ่งมีปริมาณโปรตีน วิตามิน ธาตุเหล็ก ที่ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ดี และรักษาระดับฮอร์โมนเพศชาย เพิ่มความแข็งแรง และปริมาณของอสุจิ3 
  • การรับประทานกรดโฟลิก และแร่ธาตุสังกะสีเสริม เนื่องจากมีรายงานพบว่าการเสริมด้วยสารดังกล่าวซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ มีความสัมพันธ์ต่อการสร้างอสุจิเพิ่มขึ้น ซึ่งจากคำแนะนำปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 สำหรับปริมาณกรดโฟลิกที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับเพศชาย อายุ 19-70 ปี คือ 0.3 มิลลิกรัม/วัน และแร่ธาตุสังกะสีในเพศชาย อายุ 19-30 ปี คือ 11.6 มิลลิกรัม/วัน และเพศชายอายุ 31-70 ปี คือ 10.9 มิลลิกรัม/วัน4 

คำแนะนำข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อให้มีโอกาสในการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การวางแผนครอบครัวด้วยความรัก และความเข้าใจล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการส่งเสริมการมีบุตร คู่สมรสที่ต้องการมีบุตรควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ต่อไป

Image by Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Warner JN, Frey KA. The well-man visit: addressing a man's health to optimize pregnancy outcomes. J Am Board Fam Med. 2013;26(2):196-202.
  2. Frey KA, Navarro SM, Kotelchuck M, Lu MC. The clinical content of preconception care: preconception care for men. Am J Obstet Gynecol. 2008;199(6 Suppl 2):S389-95.
  3. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. การเตรียมความพร้อมก่อนใช้ชีวิตคู่และก่อนตั้งครรภ์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ, 2564.
  4. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน พ.ศ. 2563. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ, 2563.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 30 วินาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้