เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาคุม 24+4: วิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับผู้หญิงไทยยุคใหม่


อาจารย์ ดร. ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน
ภาควิชาเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge...14-666.jpg
อ่านแล้ว 46,255 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/06/2566
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/2y6tyogt
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/2y6tyogt
 

ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 คืออะไร ?

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมรุ่นใหม่ที่ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ ฮอร์โมนกลุ่ม estrogen และ progestin ประกอบอยู่ในยาเม็ดเดียวกันจำนวน 24 เม็ด ร่วมกับยาเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมนอีก 4 เม็ด ที่เรียกว่าแบบ 24+4 หรือ 24/4 ปัจจุบัน ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 ที่มีใช้ในประเทศไทย จะใช้ฮอร์โมนกลุ่ม progestin คือ  drospirenone (ดรอสไพรีโนน) หรือ gestodene (เจสโตดีน) ร่วมกับ ethinyl estradiol ที่เป็นฮอร์โมนกลุ่ม estrogen ยาคุมรูปแบบนี้จะมีปริมาณฮอร์โมนที่ต่ำมาก อีกทั้งมีช่วงปลอดฮอร์โมนระยะสั้นเพียงแค่ 4 วัน ทำให้ความแตกต่างของระดับฮอร์โมนในช่วงที่รับประทาน "เม็ดยาฮอร์โมน" และ "เม็ดยาหลอก" ไม่แปรปรวนมาก ส่งผลช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์เปรปรวน หงุดหงิด ซึมเศร้า เครียดปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม และลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ

ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 แตกต่างและดีกว่าสูตรเดิมอยางไร ?

ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 เป็นการพัฒนาสูตรยาเม็ดคุมกำเนิดจากสูตร 21+7 (มียาเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ด และยาหลอก 7 เม็ด) เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยลดปริมาณฮอร์โมน estrogen จากเดิมสูตร 21+7 ซึ่งมี 35 ไมโครกรัม เป็น 20 ไมโครกรัม นอกจากนี้ก็มีการพัฒนาฮอร์โมน progestogen ตัวใหม่ ที่ช่วยลดผลข้างเคียงของฮอร์โมน progestogen และมีประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากการคุมกำเนิด ได้แก่ ลดการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ การลดการเกิดสิว หน้ามัน ขนดก ลดอัตราความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ รวมไปถึงภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน การรักษากลุ่มอาการ polycystic ovarian syndrome รวมทั้งการลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน  ดังนั้น องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกจึงได้อนุญาตให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตัวใหม่นี้ ในการรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนที่มีอาการทางร่างกายและอาการทางด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ที่เรียกว่า premenstrual dysphoric disorder (PMDD) รวมถึงการใช้ในการรักษาสิว

ข้อได้เปรียบของยาคุมกำเนิดสูตร 24+4

  1. ความสะดวกสบาย: ยาคุมกำหนดเวลา 24+4 ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องสับสนกับวันที่จะหยุดหรือเริ่มทานยา นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดในการจำวันที่และเวลาที่จะทานยาคุมประจำวัน 
  2. มีประสิทธิภาพสูง: ยาคุมประเภทนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยสามารถกดการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่ายาคุมแบบ 21+7
  3. ลดอาการข้างเคียง: ลดจำนวนวันที่มีประจำเดือน รวมถึงลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน

ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 ที่มีในประเทศไทยในปัจจุบัน

ชื่อผลิตภัณฑ์

ชนิดของ estrogen และปริมาณต่อเม็ด

ชนิดของ progestin และปริมาณต่อเม็ด

มินิดอช (Minidoz)

Ethinyl estradiol 0.015 mcg

Gestodene 60 mcg

ไมนอช (Minoz)

Ethinyl estradiol 0.015 mcg

Gestodene 60 mcg

ยาส (Yaz)

Ethinyl estradiol 0.020 mcg

Drospirenone 3 mg

ชินโฟเนีย (Synfonia) 

Ethinyl estradiol 0.020 mcg

Drospirenone 3 mg

เฮอร์ซ (Herz) 

Ethinyl estradiol 0.020 mcg

Drospirenone 3 mg

 

ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4 ประโยชน์ที่มากกว่าการคุมกำเนิด ?

1. ลดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากฮอร์โมน 

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมน Estrogen ต่ำที่สุด จึงช่วย ลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ บวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อาการคัดตึงเต้านม การเกิดฝ้า ความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคหัวใจ

2.ลดอาการก่อนมีประจำเดือน (premenstrual syndrome: PMS) และอาการผิดปกติทางอารมณ์อย่างรุนแรง (premenstrual dysphoric disorder: PMDD)

ด้วยการพัฒนาสูตรของยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 24+4 ที่ช่วยแก้ปัญหาความผันผวน ไม่คงที่ของฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 21+7 มีช่วง วันที่ไม่ได้รับฮอร์โมนยาวถึง 7 วัน ทำให้ระดับฮอร์โมนมีความแปรปรวนแตกต่าง กันอย่างมากในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ไม่ได้รับฮอร์โมน อาจทำให้เกิด กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย ปวดศีรษะ ครียด ซึมเศร้า ปวดตึงเต้านม ตัวบวม และ น้ำหนักตัวเพิ่มวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 

3.ลดปัญหาเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติ และ ลดภาวะซีดจากการเสียเลือด

เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนมามากและมาจำนวนหลาวัน อาจทำให้เกิด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วูบหมดสติ การเสียเลือดอย่างฉับพลันนี้เป็น 1 ในสาเหตุของการเกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 24+4 ชนิดฮอร์โมนต่ำมาก (uItra-low-dose) EE 15 ไมโครกรัม ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการที่เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน จึงเป็นประโยชน์ในผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ รวมทั้งอาการปวด ประจำเดือนรุนแรง หรือมีภาวะซีดร่วมกับการมีประจำเดือนด้วย

ใครเหมาะสำหรับยาคุมกำเนิดสูตร 24+4

  1. เหมาะสำหรับผู้หญิงผู้มีผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน ซึ่งจะมีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะวูบ คลื่นไส้อาเจียน คัดเต้านม ตัวบวมน้ำ รวมถึงผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ เนื่องจากมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ 
  2. เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งจะมีสิว หน้ามัน ขนดก 
  3. เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอารมณ์แปรปรวนและมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก่อนมีประจำเดือน
  4. เหมาะสำหรับผู้หญิงที่กลัวน้ำหนักขึ้นและไม่ต้องการรักษาสิวที่รุนแรง เนื่องจากยาคุมที่มีส่วนประกอบของ drospirenone 

วิธีกินยาคุมกำเนิดสูตร 24+4

  • เริ่มกินวันที่ 1-5 ของรอบประจำเดือน
  • กินวันละ 1 เม็ด เวลาใกล้เคียงกันในแต่ละวันเพื่อให้ระดับฮอร์โมนคงที่ และหยุดกิน 4 วันหลังเม็ดสุดท้าย สำหรับแผง 24 เม็ด
  • หากเพิ่งผ่านการแท้งหรือคลอดบุตร อาจรอให้มีรอบประจำเดือนมาก่อน โดยงดเพศสัมพันธ์หรือใช้ถุงยางอนามัย ก่อนเริ่มกินยา
    • หากแท้งบุตรที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเริ่มยาทันทีหลัง
    • หากคลอดปกติหรือแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเริ่มกิน 2-3 สัปดาห์ หลังแท้ง/คลอด
    • กรณีหลังคลอดบุตรที่ให้นมแม่อย่างเดียว (exclusive breast feeding) อาจเริ่มกินยาที่ 3 เดือนหลังคลอดได้
  • หากลืมกินยา (เม็ดที่ฮอร์โมน)
    • 1 วัน ให้กินยาเพิ่มอีก 1 เม็ดในวันถัดไป
    • 2 วัน ติดกัน ในช่วงเม็ดที่ 1-14 ให้กินยา วันละ 2 เม็ด ใน 2 วันถัดไป
    • 2 วัน ติดกัน ช่วงหลังเม็ดที่ 14 ให้เริ่มยาแผงใหม่ทันที และ ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย 7 วัน
    • 3 วันติดกัน ช่วงหลังเม็ดที่ 14 ให้เริ่มยาแผงใหม่ทันที และ ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย 7 วัน

ข้อห้ามโดยเด็ดขาด (absolute contraindications) ในการใช้ยาคุมกำเนิดสูตร 24+4

  • ผู้ที่มีโรค/เคยเป็นโรค/ประวัติเสี่ยง (รวมถึงประวัติญาติพี่น้องสายตรง) ของภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โคหลอดเลือดหัวใจ 
  • การทำงานของตับผิดปกติ (ต้องรักษาให้ normal liver function ก่อน จึงจะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้)
  • มะเร็ง (หรือสงสัย) มะเร็งเต้านม
  • เลือดออกจากทางช่องคลอดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป
  • ไขมันในเลือดสูงมาก ยังควบคุมไม่ได้ (Severe hypercholesterolemia or hypertriglyceridemia > 750 mg/dL)
  • ความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้

จะเห็นได้ว่าการใช้ยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หรือ HIV/AIDS การใช้วิธีการป้องกันเชิงรุก เช่น การใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยขณะมีเพศสัมพันธ์จะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีขึ้น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Koltun W, Lucky AW, Thiboutot D, et al. Efficacy and safety of 3 mg drospirenone/20 mcg ethinylestradiol oral contraceptive administered in 24/4 regimen in the treatment of acne vulgaris: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Contraception. 2008;77(4):249–256.
  2. Bachmann G, Kopacz S. Drospirenone/ethinyl estradiol 3 mg/20 mug (24/4 day regimen): hormonal contraceptive choices - use of a fourth-generation progestin. Patient Prefer Adherence. 2009 Nov 3;3:259-64. doi: 10.2147/ppa.s3901.
  3. Drugs.com. Exeltis USA, Inc. Announces the Approval of Slynd (drospirenone), the First and Only Progestin-Only Pill Providing Pregnancy Prevention with a 24/4 Dosing Regimen and 24-hour Missed Pill Window.2019. [online]
  4. Anttila L, Neunteufel W, Petraglia F, Marr J, Kunz M. Cycle control and bleeding pattern of a 24/4 regimen of drospirenone 3 mg/ethinylestradiol 20 µg compared with a 21/7 regimen of desogestrel 150 µg/ethinylestradiol 20 µg: a pooled analysis. Clin Drug Investig. 2011;31(8):519-525. doi: 10.2165/11590260-000000000-00000.
  5. เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ และเภส้ชกรหญิงนฤมล อังเศกวิไล. (2559) ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเม็ดคุมกำเนิดของฮอร์โมนรวมแบบ extended-cycle (24/4) regimen 
  6. โรงพยาบาลศิริราช ปียมหาราซกรุณย์. (2562), ภาวะโลหิตจาง อย่าวางใจ (Aneria), สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2566, อ้างอิงจากเวปไซต์ https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/936/Anemnia
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้