เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดได้อย่างไร


อาจารย์ ดร.ภญ.กัลยาณี โตนุ่ม ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://bgh.sgp1.digitaloceanspaces.com/...002_38.jpg
อ่านแล้ว 26,065 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/07/2565
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ด

ปัญหาปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือการที่มีปัสสาวะออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเป็นภาวะที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในเพศหญิงสาเหตุสำคัญคือการที่ระดับเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือน เป็นเหตุให้ผนังท่อปัสสาวะบางลง ลดความสามารถในการปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้หูรูดปิดสนิทได้ยากขึ้น ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้ ส่วนในเพศชายมักเกิดจากการที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตจึงไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร หรืออายุที่มากขึ้น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้ที่มีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่ท้องผูกเรื้อรัง หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น 


ภาพจาก : http://ptworks.ca/wp-content/uploads/2018/08/urinary_incontinence_explained.jpg 

ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วย ไต (kidney) ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำปัสสาวะ (urine) โดยมีท่อไต (ureter) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำปัสสาวะที่ไตผลิตได้ไปยังกระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder) ก่อนปล่อยออกภายนอกร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ (urethra) ในการลำเลียงน้ำปัสสาวะท่อปัสสาวะจะบีบตัวเป็นคลื่น ๆ ที่เรียกว่า peristaltic contraction ซึ่งจะลำเลียงน้ำปัสสาวะ ได้ 1-2 มิลลิลิตร/นาที โดยในคนปกติจะสามารถเก็บน้ำปัสสาวะได้ 200-400 มิลลิลิตร แบบไม่รู้สึกอึดอัดและไม่มีการเล็ดของปัสสาวะออกมา แต่ถ้าน้ำปัสสาวะมีมากกว่า 400 มิลลิลิตร จะเริ่มรู้สึกอยากขับถ่ายปัสสาวะ การขับถ่ายปัสสาวะอาศัยการทำงานของระบบประสาทในการควบคุมการทำงานของหูรูดของท่อปัสสาวะและกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้เกิดการทำงานที่ประสานกัน ดังนั้นหากมีความผิดปกติของระบบประสาทที่มาควบคุมการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะหรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทางเดินปัสสาวะเองก็จะทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ 

ชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ชนิดของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. Stress incontinence 
    เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบได้มากสุด โดยเป็นผลมาจากการที่ตัวหูรูดท่อปัสสาวะหดรัดตัวได้ไม่ดีหรือการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้องอย่างกะทันหัน เช่น การไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย หรือยกของหนัก จะทำให้ไม่สามารถควบคุมการไหลของปัสสาวะได้
  2. Urge incontinence 
    คือภาวะที่กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะ มีการบีบตัวที่รุนแรงกว่าปกติ หรือมีการบีบตัวทั้ง ๆ ที่ปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะไม่มากพอที่จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกปวดปัสสาวะ โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สัญญาณประสาทที่ส่งลงมาควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะบกพร่อง หรือเกิดพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น การติดเชื้อ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
  3. Overflow incontinence 
    การกลั้นปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากปัสสาวะล้น สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะสูญเสียความสามารถในการบีบตัวจากความบกพร่องในการส่งสัญญาณของกระแสประสาท เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีพยาธิสภาพของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดจากมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ต่อมลูกหมากโต เป็นผลให้ยังคงมีน้ำปัสสาวะเหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมากภายหลังจากการขับถ่ายปัสสาวะแล้ว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย หรือน้ำปัสสาวะในส่วนที่เกินความจุของกระเพาะปัสสาวะอาจเล็ดออกมาเองในปริมาณน้อย ๆ แต่ออกมาเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการปวดปัสสาวะได้
  4. Functional incontinence 
    การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชนิดนี้ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ แต่เป็นปัญหาอื่นที่ทำให้ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ เช่น ปัญหาทางด้านสมอง หรือปัญหาทางสุขภาพกายที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว

การรักษา

  • การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ (bladder training) หรือฝึกการปัสสาวะตามเวลาที่กำหนด เป็นการฝึกเพื่อยืดระยะเวลาของการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น และให้กระเพาะปัสสาวะมีความเคยชินกับปริมาณปัสสาวะที่มากขึ้น โดยวิธีคือ เริ่มจากฝึกกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นครั้งละประมาณ 30 นาที จนกระทั่งรู้สึกว่าสามารถทนได้ดี (อาจใช้เวลา 3-5วัน) จากนั้นให้ปรับเพิ่มระยะเวลาระหว่างครั้งให้นานขึ้น จนความถี่ในการเข้าห้องน้ำลดลงเป็นทุกๆ 2-4 ชั่วโมง
  • การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อช่วยลดแรงดันภายในช่องท้อง
  • การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle exercise) ซึ่งทำได้โดยขมิบรูทวารและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (สังเกตการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้จากการพยายามจะกลั้นปัสสาวะ) ระหว่างขมิบให้นับ 1-5 ช้า ๆ แล้วคลายกล้ามเนื้อลง ให้ทำซ้ำประมาณ 10-15 ครั้ง จำนวน 3 เซ็ต เป็นประจำทุกวัน และไม่ควรกลั้นหายใจขณะบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การใช้ยาเพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ยากลุ่ม Anti-muscarinic และ Beta-3 agonist
  • การรักษาด้วยการฉีดสาร Botulinum toxin
  • การรักษาด้วยการใช้เลเซอร์
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. วันทิน ศรีเบญลักษณ์, ปณิตา ลิมปะวัฒนะ. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในผู้สูงอายุ. North-Eastern Thai Journal of Neuroscience. 2013;8(2):82-92.
  2. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Disease. Symptoms & Causes of Urinary Retention [cited 2022 May 4]. Available from: https://www.niddk.nih.gov/health-information/urologic-diseases/urinary-retention/symptoms-causes
  3. Shenot PJ. Urinary incontinence in adults. 2021 [cited 2022 May 12]. Available from: https://www.msdmanuals.com/home/kidney-and-urinary-tract-disorders/disorders-of-urination/urinary-incontinence-in-adults
  4. de Groat WC, Griffiths D, Yoshimura NJCP. Neural control of the lower urinary tract. 2015;5(1):327.
  5. Yoshimura N, Kaiho Y, Miyazato M, Yunoki T, Tai C, Chancellor MB, et al. Therapeutic receptor targets for lower urinary tract dysfunction. 2008;377(4):437-48.
  6. Robinson D, Cardozo LDJU. The role of estrogens in female lower urinary tract dysfunction. 2003;62(4):45-51.
  7. Rovner ES, Wyman JF, Lam S. Urinary Incontinence. In: DiPiro JT, Yee GC, Posey L, Haines ST, Nolin TD, Ellingrod V. eds. Pharmacotherapy: A Pathophysiologic Approach, 11e. McGraw Hill;2020. Accessed May 08, 2022. https://accesspharmacy.mhmedical.com/ content.aspx?bookid=2577§ionid=231922139
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้