เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคกระดูกพรุน ใช้อย่างไร?


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 174,342 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/12/2553
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/y8m39y4h
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y8m39y4h
 

ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยมักจะเป็นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่จะไม่ค่อยพบในเด็กๆ และคนหนุ่มสาว ยกเว้นแต่กรณีที่มีภาวะปัจจัยเสี่ยง เหตุผลที่เด็กและคนหนุ่มสาวไม่เป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากวัยเด็ก ร่างกายจะเติบโต มีการสร้างเนื้อกระดูกอยู่ตลอดเวลา เด็กจึงตัวโตขึ้น สูงขึ้น การสะสมเนื้อกระดูกจะมากและเร็วในช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นการสะสมของเนื้อกระดูกจะเริ่มช้าลง จนได้เนื้อกระดูกที่มีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่ออายุประมาณ25-30 ปี เนื้อกระดูกจะคงที่อยู่เช่นนั้น จนถึงช่วงอายุประมาณ 35-40 ปี จากนั้นความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ประมาณ 0.5-1% ต่อปี ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในผู้หญิงจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มมากขึ้นนั่นคือ ภาวะหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน”มีส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อกระดูก แต่ในภาวะหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลงอย่างมาก จึงทำให้การสร้างเนื้อกระดูกทดแทนเป็นไปได้น้อยมาก และกลับมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเร็วขึ้น กล่าวคือมีการลดลงของเนื้อกระดูกประมาณ 3-5% ต่อปีในช่วงอายุ 50-55 ปี หลังจากนั้นการลดลงของเนื้อกระดูกจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (0.5-1% ต่อปี) สำหรับผู้ชายยังมีฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า “เทสโทสเตอโรน” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกเช่นกัน แต่ในช่วงอายุ 50-55 ปี การลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นไปอย่างช้าๆ และมีเนื้อกระดูกลดลง 0.5-1% ต่อปี ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิง ดังนั้นจึงเกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นในผู้หญิงได้เร็วกว่าผู้ชาย แต่ในที่สุดทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ไม่แตกต่างกัน

ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะเสี่ยงต่อการมีกระดูกหัก บางครั้งเพียงแค่ไอ จาม ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหัก การลื่นหกล้มแม้จะยั้งตัวได้โดยหัวไม่ฟาดพื้นก็อาจเกิดกระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวไว้ หรือกระดูกสะโพกหักจากก้นกระแทกพื้นได้

รู้อย่างนี้แล้ว ทุกคนคงต้องการหาวิธีป้องกัน แต่ก็ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ทำได้แต่เพียงการพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

1. รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ คือ ประมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน (อายุ 50-55 ปี) ควรรับประทานแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม โดยอาจเป็นการดื่มนม หรือรับประทานปลาตัวเล็กตัวน้อยทอดกรอบ กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ เต้าหู้เหลือง เป็นต้น หรือรับประทานยาเม็ดแคลเซียม

ชนิดอาหาร ปริมาณที่บริโภค ปริมาณแคลเซียม (มิลลิกรัม)
นมสดยูเอชที 200 ซีซี (1 กล่อง) 240
นมโยเกิร์ต 150 ซีซี (1 ถ้วย) 150
กุ้งแห้งตัวเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ 145
ปลาสลิด 1 ตัว 106
กะปิ 2 ช้อนชา 156
ไข่ไก่ 1 ฟอง 63
ไข่เป็ด 1 ฟอง 78
งาดำคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ 116
เต้าหู้ 1 ก้อน 240
ผักคะน้า 1 ถ้วยตวง 230
ใบยอ 1 ถ้วยตวง 469
มะเขือพวง 1 ถ้วยตวง 299

สำหรับการรับประทานยาเม็ดแคลเซียมนั้น พึงทราบด้วยว่าผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมมีความแตกต่างกันที่รูปเกลือ ซึ่งจะให้ธาตุแคลเซียมได้ไม่เท่ากัน โดยในรูปแคลเซียมคาร์บอเนตให้แคลเซียมได้มากที่สุดคือร้อยละ 40 แต่แคลเซียมกลูโคเนตให้แคลเซียมได้น้อยที่สุดคือร้อยละ 9 ดังนั้น จะต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมคาร์บอเนตวันละ 2,500 มิลลิกรัมจึงจะได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมตามความต้องการ หรือ จะต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมกลูโคเนตวันละ 11-12 กรัมจึงจะได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมตามความต้องการ

แคลเซียมในรูปเกลือต่างๆ ปริมาณแคลเซียมที่ได้จากเกลือแคลเซียม 100 มิลลิกรัม
แคลเซียมคาร์บอเนต 40 มิลลิกรัม
แคลเซียมอะซิเตต 25 มิลลิกรัม
แคลเซียมซิเตรต 21 มิลลิกรัม
แคลเซียมแลคเตต 13 มิลลิกรัม
แคลเซียมกลูโคเนต 9 มิลลิกรัม

นอกจากรูปเกลือที่ต่างกันแล้ว ผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมยังมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นยาเม็ดแข็ง ยาเม็ดฟู่ และยาแคปซูล ซึ่งต่างก็ทำขึ้นมาเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน เช่น ยาเม็ดฟู่มีรสชาติดีกว่ายาเม็ด โดยใส่ยาเม็ดฟู่ลงในน้ำและดื่มขณะยังมีฟองฟู่ ยาแคปซูลจะกลืนได้ง่ายกว่ายาเม็ดและไม่ละลายในปาก แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็มีประสิทธิภาพเท่ากัน บางผลิตภัณฑ์มีการเติมวิตามินดี หรือวิตามินซี ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้ดีขึ้นจากทางเดินอาหาร และวิตามินดียังช่วยเก็บแคลเซียมไม่ให้ถูกขับออกทางไตด้วย สำหรับยาวิตามินรวมที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบมักจะมีปริมาณแคลเซียมไม่พอสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากจะรับประทานยานี้ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเสริม ไม่ควรเพิ่มขนาดยาวิตามินรวมนั้น เพราะแม้จะได้ปริมาณแคลเซียมตามต้องการ แต่จะได้ปริมาณวิตามินเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งวิตามินบางชนิดในขนาดสูงจะเป็นอันตรายได้

2. ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้/ออกแรง อย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่งหรือเดินเร็วๆ ที่มีการลงน้ำหนักบนกระดูก (ไม่วิ่งจ๊อกกิ้ง ไม่วิ่งบนพื้นปูนหรือซีเมนต์ และไม่เดินทอดน่อง) การยกน้ำหนัก การลีลาศ และฝึกการทรงตัว เช่น ยืนด้วยขาข้างเดียว


3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป คือมีค่าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 18-23 (คำนวณค่าดัชนีมวลกายได้โดยการนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)


4. หยุดสูบบุหรี่


5. หยุดดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ ยาเม็ดฮอร์โมนทดแทน ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนยาพ่นจมูกแคลซิโตนิน (calcitonin)ยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonate) และยาเม็ดแคลเซียม ยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกขึ้น จึงลดโอกาสของการเกิดกระดูกหัก

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต เช่น อะเลนโดรเนต (alendronate), ไอแบนโดรเนต (ibandronate), ไรซิโดรเนต (risedronate) เป็นยาที่ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย นิยมใช้ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ควรทราบเวลารับประทานยากลุ่มนี้ คือ ควรรับประทานยาตอนท้องว่าง นั่นคือรับประทานก่อนอาหารเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดีขึ้น และเนื่องจากยานี้มีอาการข้างเคียงที่ทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้ ดังนั้นหลังจากรับประทานยาแล้ว ห้ามนอนราบโดยเด็ดขาดอย่างน้อย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ยาย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้มากขึ้น ซึ่งอาการที่สังเกตได้ คือ รู้สึกเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บเวลากลืนอาหาร ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวในระหว่างรับประทานยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อีกประการหนึ่งที่ควรทราบด้วย คือ ยาในกลุ่มนี้มีวิธีรับประทานหลายแบบ ได้แก่ แบบที่ต้องรับประทานทุกวันวันละ 1 ครั้ง แบบที่รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แบบที่รับประทานเดือนละ 1 ครั้ง ดังนั้นเวลาได้รับยามาแล้วจะต้องตรวจสอบรูปแบบยา และวิธีรับประทานยาทุกครั้งก่อนเริ่มรับประทานยา หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเพื่อจะได้ไม่รับประทานยาที่ผิดไป

ยาเม็ดฮอร์โมนทดแทน และ ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นยาที่ใช้ในผู้หญิงโดยเฉพาะ ผู้ที่รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนทดแทนจะต้องได้รับการตรวจว่าไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนจะใช้ยา ระหว่างใช้ยาก็จะต้องระวังการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ยานี้จะต้องรับประทานให้ตรงเวลาทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ และหยุด 7-10 วันซึ่งในระหว่างที่หยุดยานี้จะมีเลือดคล้ายระดูออกมา จากนั้นจึงรับประทานยาแผงใหม่ต่อไป หรือจำง่ายๆ ว่ารับประทานยาเฉพาะช่วงวันที่ 1-21 ของทุกๆ เดือนก็พอ ส่วนยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนนั้นสามารถรับประทานต่อเนื่องกันทุกวันได้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 1 นาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้