เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการใช้กัญชา


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ และ รองศาสตราจารย์ ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ ** ภาคเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ** ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://thegreenerinstitute.com/wp-conten...nnabis.jpg
อ่านแล้ว 8,841 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/06/2565
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

การนำใบหรือดอกกัญชามาประกอบอาหารหรือใส่ในเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ มีความปลอดภัยเหมือนกับพืชผักอื่นที่ใช้ทำอาหารหรือไม่

คำตอบ ใบและดอกกัญชามีสารออกฤทธิ์หลายชนิด รวมถึง THC ด้วย แต่ปริมาณ THC ที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับปริมาณกัญชาที่ใช้ และวิธีการปรุง อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบแม้จะช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอร่อยขึ้น แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการมึนงง อาเจียน ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมขึ้นได้ เนื่องจากแต่ละคนมีการตอบสนองต่อ THC แตกต่างกัน ดังนั้น หากไม่ตั้งใจจะรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ควรสอบถามผู้จำหน่ายถึงส่วนประกอบของอาหารก่อนทุกครั้ง 


การลองใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพียงครั้งเดียว ไม่ทำให้เกิดการเสพติดจริงไหม

คำตอบ การใช้กัญชามีผลทำให้เกิดฤทธิ์กดสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงซึม มีความสุข คลายเครียด เคลิ้ม และประสาทหลอนได้ แม้ว่าการทดลองใช้เพียงครั้งเดียวจะไม่ใช่การเสพติด แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอยากทดลองหรือใช้ซ้ำเพื่อให้ได้ฤทธิ์ของกัญชาที่อยากให้เกิดขึ้น จึงสามารถพัฒนาไปเป็นการใช้อย่างต่อเนื่องจนเกิดการเสพติดได้ในที่สุด 


กัญชามีผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหรือไม่ 

คำตอบ สาร THC ในกัญชามีผลกดการทำงานของสมอง ให้เกิดอาการง่วงซึม เคลิ้ม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวลำบาก หรือหากใช้ปริมาณมาก ก็ทำให้เกิดอาการหลอนได้ (ปริมาณการใช้ที่จัดว่า “มาก” นี้มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล) โดยเฉพาะหากได้รับร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น หากได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ เพราะอาจทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ช้าลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรที่ต้องอาศัยสมาธิหรือความตั้งใจสูงด้วย 


ทำไมถึงไม่ให้เด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงหญิงมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรใช้กัญชา 

คำตอบ การศึกษาทางการแพทย์พบว่า สารในกัญชามีผลต่อพัฒนาการของสมอง ทำให้ความจำแย่ลง รวมถึงทำให้ระดับสติปัญญา (IQ) ลดลง และทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำมีขนาดเล็กลงด้วย นอกจากนี้ เด็กหรือเยาวชนที่ใช้กัญชาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเภทได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรให้เด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทดลองใช้หรือใช้กัญชา เพราะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวมาก นอกจากนี้ สารในกัญชายังสามารถผ่านรกและน้ำนมได้ จึงมีผลต่อพัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ อาจทำให้ทารกมีระดับสติปัญญาที่วัดโดยใช้ค่า IQ ลดลงด้วย 


คำถาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยารักษาอยู่ด้วย สามารถใช้กัญชาร่วมด้วยได้หรือไม่ 

คำตอบ ขณะนี้กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ค่อนข้างจำกัดอยู่เฉพาะในบางโรค บางสภาวะเท่านั้น ยาแผนปัจจุบันหลายชนิดมีผลช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ดีอยู่แล้ว โดยที่มีอาการไม่พึงประสงค์น้อย ไม่มีผลต่ออารมณ์หรือจิตใจ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาทดแทนยาแผนปัจจุบัน แต่อาจใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบทุกครั้งว่าใช้กัญชาอยู่ เนื่องจากสารในกัญชามีผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์ในตับที่ทำหน้าที่เปลี่ยนสภาพยาแผนปัจจุบันหลายชนิด จึงอาจส่งผลทำให้ผลการรักษาหรือการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาแผนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปได้ 


คำถาม หากได้รับกัญชาปริมาณสูง จะทำให้เกิดอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไร 

คำตอบ อาการพิษจากกัญชา ได้แก่ วิตกกังวล มึนศีรษะ ปากแห้ง เคลิ้ม หลอน กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรับรู้ต่าง ๆ ผิดปกติ อาจพบการหัวเราะหรือพูดมาก ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว อาเจียนรุนแรง ในบางรายอาจรุนแรงจนเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งปัจจุบันไม่มียาต้านพิษของกัญชาโดยตรง หากเกิดอาการพิษขึ้น การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ทั้งนี้ หลังจากหยุดใช้กัญชาแล้ว อาการพิษจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 4-6 ชั่วโมง แต่ก็ยังต้องใช้เวลาเป็นวัน กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

-

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้