เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาตีกันกับความหลากหลายทางพันธุกรรม


อาจารย์ ดร.ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://media1.britannica.com/eb-media/0...9CC69F.jpg
อ่านแล้ว 11,315 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 03/09/2560
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y7j6a3tm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y7j6a3tm
 

(คลิ๊ก .. หากต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม)
จากคำกล่าวที่ว่า ”There is no one size fits all” หรือ “ลางเนื้อชอบลางยา” แม้เป็นยาชนิดเดียวกันแต่อาจให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันอันเกิดจากความผันแปรของหลายปัจจัย อาทิเช่น พยาธิสภาพ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม (เช่น อาหาร การสูบบุหรี่ ฯลฯ) รวมถึงลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย เช่น ความผิดแผกทางพันธุกรรมของเอนไซม์เปลี่ยนแปลงยา (metabolism) หรือความผิดแผกของความไว (sensitivity) ในการตอบสนองต่อยา ซึ่งศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมกับการตอบสนองต่อยาหรือการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ เรียกว่า เภสัชพันธุศาสตร์ (pharmacogenetics หรือ pharmacogenomics) ซึ่งในปัจจุบัน เภสัชพันธุศาสตร์เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในการประยุกต์ใช้ข้อมูลสำหรับการเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาสูงสุด ในขณะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาน้อยที่สุด รวมถึงใช้ประโยชน์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนายาใหม่ที่เหมาะสมเฉพาะกลุ่มประชากรมากขึ้น

ภาพจาก : http://www.newhope.com/sites/newhope360.com/files/uploads/2013/02/woman-eating-pills.jpg
การใช้ยารักษาโรคในเวชปฏิบัติอาจจำเป็นต้องได้รับยาหลายชนิดพร้อมๆ กัน ซึ่งการได้รับยาหลายตัวร่วมกันอาจนำไปสู่อาการไม่พึงประสงค์จากยาตีกันหรือปฏิกิริยาระหว่างยา (drug-drug interactions; DDIs) การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขจำนวนมาก
ปฏิกิริยาระหว่างยาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา แบ่งตามลักษณะการเกิดออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
  • ปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากปัจจัยทางเภสัชพลศาสตร์ (pharmacodynamics drug-drug interactions; PD-DDIs) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา
  • ปฏิกิริยาระหว่างยาที่เกิดจากปัจจัยทางเภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics drug-drug interactions; PK-DDIs) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรสภาพยาในร่างกาย โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิด PK-DDIs มาจากการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการทำงานของ cytochrome P450 (CYPs) ซึ่งเป็นกลุ่มของเอนไซม์ในร่างกายที่ทำหน้าที่ในการเมแทบอลิสมยา

ปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรม (polymorphism) ของ cytochrome P450 (CYP450) ที่มีผลต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug–gene interactions; DGIs) โดยในคนหนึ่งคนอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา พร้อมกันกับปฏิกิริยาระหว่างยากับยีน ซึ่งเรียกว่าปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและยีน (drug-drug-gene interactions: DDGIs) DDGIs
Drug-Drug Interactions; DDIs
หลักการพื้นฐานในการพิจารณาความสำคัญของ DDIs กรณีไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของ cytochrome คือ ยาตัวที่ 1 ในภาวะปกติเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนสภาพโดยเอนไซม์หลายชนิดเช่นใช้ cytochrome A และ cytochrome B เปลี่ยนยาได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ 1 (metabolite 1) และผลิตภัณฑ์ที่ 2 (metabolite 2) ซึ่งอัตราส่วนที่ผ่านการทำงานของแต่ละ cytochrome เรียกว่า contribution ratio (CR) เช่นผ่าน cytochrome A ด้วยอัตราส่วน CR1 และผ่าน cytochrome B ด้วยอัตราส่วน CR2 เมื่อมียาอีก 1 ตัวที่ต้องใช้ร่วมกัน คือ ยาตัวที่ 2 จะทำให้การทำงานของ cytochrome เปลี่ยนแปลงไป ค่า CR1 และ CR2 ของยาตัวที่ 1 จะเปลี่ยนแปลง โดย cytochrome อาจถูกยับยั้งหรือทำงานมากขึ้น ซึ่งค่าการเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า IX ดังนั้นในการพิจารณาถึงความสำคัญทางคลินิก อาจจะต้องใช้ค่าต่างๆ เหล่านี้เพื่อประเมินปฏิกิริยาระหว่างยาเพิ่มเติมจากการดูรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างคู่ยาด้วย
Drug-Gene Interactions; DGIs
นอกจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังพบว่า cytochrome ในแต่ละบุคคลมีความสามารถในการเมแทบอไลต์ยาแตกต่างกันซึ่งเกิดมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมของ cytochrome นั่นเอง เรียกว่า drug-gene interactions (DGIs) โดยการเกิด DGIs ส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์กับ cytochrome 3 ชนิด ได้แก่ CYP2D6 CYP2C9 และ CYP2C19 เนื่องจากมีหน้าที่เปลี่ยนสภาพยาสูงถึงประมาณร้อยละ 40 และ มีความหลากลายทางพันธุกรรมสูง (highly polymorphism) หรือมีความแตกต่างในแต่ละบุคคลสูง ดังนั้นอาจต้องพิจารณาปรับขนาดยาเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางพันธุกรรมของแต่ละคน
Drug-Drug Gene Interactions; DDGIs
จากพื้นฐานความรู้ในเรื่องการเกิด DDIs และ DGIs ซึ่งพบว่าการเกิดปฏิกิริยามีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ที่เข้ามามีบทบาทร่วมทั้งปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม (external factors) เช่น อาหาร อายุ โรคร่วม และที่สำคัญ คือยาที่ใช้ร่วม ที่เป็นปัจจัยที่เราทราบและส่วนใหญ่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้ และปัจจัยทางพันธุกรรม (internal factors) ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงยา หรือความผิดแผกของความไว (sensitivity) ในการตอบสนองต่อยา จึงมีการเสนอหลักการปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและยีน (drug-drug-gene interactions : DDGIs) ขึ้น โดย DDGIs จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการรับประทานยาที่ถูกเมแทบอไลต์ โดยผ่าน cytochrome 2 ชนิด และรับประทานยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปที่สามารถยับยั้งหรือเหนี่ยวนำการเปลี่ยนสภาพยาอีกชนิดหนึ่งได้ ผ่านทาง cytochrome เพียงหนึ่งชนิด ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมของ cytochrome ชนิดที่เหลือ โดยความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยาขื้นอยู่กับปริมาณสัดส่วนของยาที่เป็นยาตั้งต้นว่าผ่าน cytochrome ใดมากกว่ากัน
หลักการนี้มีความสำคัญในการอธิบายและทำนายผลของประสิทธิภาพยาและความปลอดภัยของยาที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ การได้รับยาร่วมที่มีผลต่อเมแทบอลิซึมของยาที่ใช้ และปัจจัยภายใน คือ ลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความหลากหลายในแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงสามารถนำความรู้ DDGIs ไปใช้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรือจัดการผลข้างเคียงที่เกิดจากยา โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนทั่วไป อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่รุนแรง หรือล้มเหลวในการรักษา โดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ได้ อาจพิจารณาถึงลักษณะทางพันธุกรรมและผลของยาอื่นที่ได้รับร่วมกันตามแนวคิด DGIs มาใช้พิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยต่อไป เช่น การเลือกยา การปรับขนาดยา เป็นต้น
(คลิ๊ก .. หากต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม)
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Rozich JD, Resar RK, Medication Safety: one organization’s approach to the challenge. J Clin Outcomes Manage 2001: 8(10): 27-34.
  2. อภิฤดี เหมะจุฑา. 2559. การประสานรายการยา MEDICATION RECONCILIATION อีกหนึ่งมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในระบบยา. From: http://www.ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=174, Accessed July 17, 2017.
  3. บุศยา กุลบุศย์. 2555. ประสานรอยต่ อเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย Medication Reconciliation. From: http://110.78.163.74/keling/cqi/userfiles/files/download/national_forum13-2/National%20Forum_13Mar2012.pdf, Accessed July 17, 2017.
  4. ธิดา นิงสานนท์. 2551. Med reconciliation. From: http://www.med.cmu.ac.th/hospital/ha/ hospital/ha/RG2008/ไฟล์การประชุม 20-24/24June/CM12/08.30-10.00/รศ.ภญ.ธิดา/MedicationReconciliation(3).pdf, Accessed July 17, 2017.
-->

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้