เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปวดข้อมือ..เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกบีบรัด


อ. ดร. กภ.ยิ่งรัก บุญดำ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://hmcisrael.com/wp-content/uploads...00x200.jpg
อ่านแล้ว 78,383 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/09/2563
อ่านล่าสุด 36 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ภาวะเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกบีบรัด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่ก่อให้เกิดอาการปวด ชา รู้สึกเสียวซ่านบริเวณมือ/แขน และกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง โดยสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการที่เส้นประสาทมีเดียน ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่เลี้ยงบริเวณฝ่ามือถูกบีบรัดขณะที่เส้นประสาทกำลังทอดผ่านโพรงบริเวณข้อมือ โดยโพรงที่เส้นประสาททอดผ่านนั้นมีชื่อเรียกว่า “carpal tunnel (คาร์ปัล ทันเนล)” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า “carpal tunnel syndrome” นั่นเอง 
คาร์ปัล ทันเนล เป็นโพรงขนาดเล็กที่มีตำแหน่งอยู่บริเวณรอยพับของข้อมือ โพรงนี้ถูกโอบล้อมด้วยกระดูกข้อมือและพังผืดข้อมือ ภายในโพรงมีโครงสร้างต่าง ๆ ทอดผ่านมากมาย กล่าวคือ มีเอ็นกล้ามเนื้อแขนและมือทั้งหมด 9 เส้นทอดผ่าน (เอ็นกล้ามเนื้อในการงอนิ้วโป้ง 1 เส้น เอ็นกล้ามเนื้อในการงอสี่นิ้วชั้นลึก 4 เส้น และเอ็นกล้ามเนื้อในการงอสี่ชั้นตื้น 4 เส้น โดยเอ็นกล้ามเนื้อเหล่านี้จะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เราเรียกว่า “ปลอกหุ้มเส้นเอ็น”) ร่วมกับมีการทอดผ่านของเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งเส้นประสาทมีเดียนจะทำหน้าที่รับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว นอกจากนี้เส้นประสาทมีเดียนยังทำให้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และข้อมือเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นการที่เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัด จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา รู้สึกเสียวซ่าน และปวดบริเวณฝ่ามือ นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ รู้สึกไม่มีแรงในขณะจับสิ่งของ 
 
ปัจจัยเสี่ยง

  • ลักษณะการทำงาน การทำงานที่มีการกระดกข้อมือลงซ้ำ ๆ หรือใช้เครื่องมือที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังข้อมือในการทำงาน โดยลักษณะที่กล่าวไปนั้นเป็นการเพิ่มแรงกดต่อเส้นประสาทมีเดียน ส่งผลให้เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัดได้ ลักษณะท่าทางและการทำงานที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น บุคคลที่ใช้มือในการทำงานเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ การพิมพ์แชทในโทรศัพท์มือถือ การพิมพ์เอกสาร บุคคลที่ทำหน้าที่แคชเชียร์ หรือแม้แต่ทันตแพทย์ และแพทย์ผ่าตัด เป็นต้น
  • กระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อน ส่งผลให้โพรงข้อมือมีขนาดเล็กลง โครงสร้างภายในจึงบีบรัดเส้นประสาท นอกจากนี้บุคคลที่มีโครงสร้างขนาดของโพรงข้อมือเล็กก็สามารถเกิดอาการได้แม้ไม่มีการหักหรือเคลื่อนของกระดูกข้อมือ
  • เพศหญิงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บมากกว่าเพศชาย เนื่องจากลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของเพศหญิงที่มีโพรงขนาดเล็กกว่าเพศชาย
  • ภาวะเส้นประสาทบาดเจ็บ เช่น โรคเบาหวาน สามารถทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บและเกิดการเสื่อมได้
  • ภาวะอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ส่งผลให้บริเวณโครงสร้างรอบ ๆ และในบริเวณโพรงข้อมือมีอาการบวม นำไปสู่การบีบรัดเส้นประสาทได้
  • การใช้ยาบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ เช่น anastrozole (ยารักษามะเร็งเต้านม)

การรักษา

  1. ในรายที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง แพทย์มักจะพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้วิธีผ่าตัด เช่น
    • การใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดปวดและอักเสบ 
    • o การฉีดสเตียรอยด์บริเวณโพรงข้อมือ
    • การพักการใช้งานข้อมือหรือลดการเคลื่อนไหวของข้อมือด้วยการใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือ (wrist splint) เนื่องจากการเคลื่อนไหวข้อมือเป็นการกระตุ้นให้เส้นประสาทมีเดียนถูกบีบรัดมากขึ้น
    • การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การแช่มือในพาราฟิน เป็นการใช้ความร้อนในการบรรเทาอาการปวด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณมือ และเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืด การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงในการรักษาอาการปวด ลดอาการอักเสบ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และการใช้คลื่นเลเซอร์กำลังต่ำ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการชา เป็นต้น นอกจากการรักษาโดยใช้เครื่องมือแล้วนั้น ยังมีการให้โปรแกรมออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและยืดกล้ามเนื้อซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูจากการบาดเจ็บและป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บกลับมาเป็นซ้ำ โดยการออกกำลังกายแนะนำในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง
    • ท่าโบกรถและสั่งหยุด เป็นการกระดกข้อมือลงคล้ายกับการโบกรถ นับ 1 ถึง 5 จากนั้นให้กระดกข้อมือขึ้นคล้ายกับการสั่งให้หยุด นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ
    • ท่างอนิ้ว เริ่มต้นจากการแบฝ่ามือ จากนั้นให้งอนิ้วทั้งสี่ แล้วค่อย ๆ ไต่ลงมาตามฝ่ามือ จนถึงบริเวณกลางฝ่ามือ จากนั้นนับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
    • ท่าเทน้ำ เอามือกำกระป๋องหรืออาจจะกำมือเปล่า ๆ ก็ได้ จากนั้นให้เหยียดแขนตรง แล้วทำท่าเทน้ำ นับ 1 ถึง 5 และยกกระป๋องขึ้น นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
    • ท่าบีบลูกบอล ให้บีบลูกบอลยาง นับ 1 ถึง 5 ทำซ้ำ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง
  2. ในรายที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดที่กระทำต่อเส้นประสาทมีเดียน
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Zaralieva A, Georgiev GP, Karabinov V, Iliev A, Aleksiev A. Physical Therapy and Rehabilitation Approaches in Patients with Carpal Tunnel Syndrome. Cureus. 2020;12(3):e7171.
  2. Mayo clinic staff. Carpal tunnel syndrome [Internet]. [cited 2020 Sep 2]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/carpal-tunnel-syndrome/symptoms-causes/syc-20355603
  3. National institute of neurological disorders and stroke. Carpal tunnel syndrome facts sheet [Internet]. [cited 2020 Sep 2]. Available from: https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Carpal-Tunnel-Syndrome-Fact-Sheet


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


6 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้