เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ทรามาดอล (Tramadol) เหยื่อของการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 624,677 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/08/2556
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/y7ol5okr
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y7ol5okr
 
จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ที่รายงานข่าวเด็กนักเรียนนำยาแก้ปวด ทรามาดอล (tramadol) ไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนหมดสตินั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของผลเสียและการใช้ในทางที่ผิด ขอกล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ทรามาดอล ในทางการแพทย์ก่อน
ทรามาดอลเป็นยาแก้ปวดที่ใช้บำบัดอาการปวดขั้นปานกลางถึงรุนแรง มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคต่างๆ ซึ่งใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ แล้วไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้เพียงพอ หรือใช้ร่วมกันเพื่อให้แก้ปวดได้ดียิ่งขึ้น โดยยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ 2 อย่างที่สำคัญคือ
  1. กระตุ้นµ(mu) receptors (มิวรีเซปเตอร์) ซึ่งเมื่อกระตุ้นแล้วจะมีฤทธิ์ลดความปวด รวมทั้งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทและมีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) ได้ด้วย การออกฤทธิ์นี้เหมือนกับการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีน (morphine) แต่ทรามาดอล จะมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ทำให้ยานี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษเหมือนกับมอร์ฟีน (ตามกฎหมายนั้นยาทรามาดอลจัดเป็นยาอันตรายและสามารถจำหน่ายได้ในร้านยา) อย่างไรก็ตามแม้จะออกฤทธิ์แรงน้อยกว่ามอร์ฟีนถึง 10 เท่า แต่ทรามาดอล จะมีฤทธิ์แก้ปวดที่ดีเนื่องจากมีกลไกการออกฤทธิ์ในข้อ 2 มาช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวดด้วย
  2. เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อ serotonin และ norepinephrine ซึ่งสารสองตัวนี้เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นที่ไขสันหลังจะลดอาการปวดได้ การเพิ่มขึ้นของ serotonin จากการใช้ยาทรามาดอล เกินขนาด (เช่นครั้งละ 3-4 เม็ด) อาจส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “serotonin syndrome” (มีอาการที่เกิดจาก serotonin มากเกิน) รวมทั้งอาจเกิดอาการในกลุ่มที่เรียกว่า extrapyramidal เช่น กลืนลำบาก มือสั่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็งตัวอย่างมาก หรืออาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ประสาทหลอนและหวาดระแวง ส่วนการเพิ่มขึ้นของ norepinephrine อาจทำให้ใจสั่น ปวดศีรษะ กระตุ้นระบบประสาทและทำให้ชักได้ อาการที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรมของยีนส์ที่ใช้ในการทำลายยา tramadol การทำงานของไต ขนาดยาที่ใช้ และการใช้ร่วมกับยาหรือสารอื่นที่อาจเพิ่มหรือลดการออกฤทธิ์ของยา

ดังนั้นในกรณีที่นักเรียนนำทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด นั่นคือใช้ยาโดยไม่ได้มีความจำเป็น รวมทั้งอาจใช้ครั้งละหลายๆ เม็ดต่อเนื่องกันหรืออาจเอาไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น ทำให้รู้สึกสบายและเคลิ้มสุขได้เร็วและแรง แต่ถ้ามากไปก็จะกดระบบประสาทอย่างมากจนไม่รู้สึกตัวได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า หากใช้ยานี้ในขนาดที่ถูกต้องเพื่อลดอาการปวด ยาทรามาดอล ก็ยังเป็นยาที่มีประโยชน์มากในทางการแพทย์ แต่ถ้ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยไม่เข้าใจถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก็สามารถทำให้ผู้ใช้ยาในทางที่ผิดเกิดอันตรายได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในทางที่ผิดนั้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในส่วนของเภสัชกรต้องเฝ้าระวังและไม่จำหน่ายยานี้ให้กับผู้ที่น่าสงสัยว่าจะนำไปใช้ในทางผิด เพื่อช่วยกันลดปัญหานี้ซึ่งส่งผลเสียที่รุนแรงต่อเยาวชนของชาติซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. จาก History of Hindu Medical Science โดย Bhagvat Sinh Jee, Logos Press, New Delhi, 1895 (reprinted 1998) อยู่ในห้องสมุด Aligahr Muslim University, Aligahr, India และหาอ่านได้จากinternet -->

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาบ้า 16 วินาทีที่แล้ว
อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 17 วินาทีที่แล้ว
17 วินาทีที่แล้ว
21 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้