เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คัดเลือกยาคุณภาพเข้าโรงพยาบาลทำกันอย่างไร


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://www.ncadd.org/images/stories/In-...-pills.jpg
อ่านแล้ว 27,514 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/07/2559
อ่านล่าสุด 11 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เนื่องจากโรคแต่ละโรคนั้นสามารถเลือกใช้ยารักษาโรคได้หลายประเภท หลายกลุ่ม อีกทั้งยามีความแตกต่างกันในเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ อาการข้างเคียง และความเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยเป็นเด็ก เป็นโรคตับ เป็นโรคไต หรือแพ้ยา รวมถึงแม้แต่ยาชื่อสามัญเดียวกันยังมีราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันและมีหลายชื่อการค้า ในปัจจุบันยาใหม่ๆ มักมีราคาแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่แต่ละโรงพยาบาลจะมียาทุกๆ ตัว โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกยาที่เหมาะสมเพื่อมาใช้ในโรงพยาบาล

ในการคัดเลือกยาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลจะดำเนินการในรูปของคณะทำงานที่มีชื่อว่าคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutic Committee, PTC) คณะกรรมการชุดนี้มีเภสัชกรเป็นกรรมการและเลขานุการ งานของคณะกรรมการชุดนี้มีความสำคัญ โดยงานอันดับแรกคือการกำหนดเกณฑ์ที่นำมาใช้พิจารณาคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์เข้าโรงพยาบาล กรณียาทั่วไป คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายๆ ประเด็น ที่สำคัญได้แก่ ประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคายา สำหรับกรณียานั้นมีสูตรหรือส่วนประกอบทางเคมีเหมือนกัน คณะกรรมการฯ อาจจะมีนโยบายให้มียานั้นอยู่ในห้องยา 2 ตำรับ สำหรับยาต้นแบบ (original product) และยาชื่อสามัญ (generic product) หรือให้เป็นยาชื่อสามัญทั้งสองตำรับ การดำเนินงานจัดซื้อยาจะหมุนเวียนซื้อในแต่ละบริษัท และหากว่าเป็นยาตัวใหม่ๆ จะต้องมีเหตุผลในการนำเสนอยาเข้าเมื่อเทียบกับยาเดิมที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน แสดงเปรียบเทียบผลการประเมินประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีการคัดเลือกเบื้องต้นคล้ายกันคือ จะพิจารณาประเด็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์และราคา ซึ่งมักจะคัดเลือกบริษัทคู่ค้าเพียง 1 บริษัทเท่านั้น (รายการยาสามัญแต่ละรายการจะมีเพียงหนึ่งชื่อการค้าเท่านั้น) แต่ในกรณียาที่ขาดคราวบ่อยอาจคัดเลือกบริษัทสำรอง กรณีที่เป็นรายการยาใหม่ ที่ยังไม่เคยมีในโรงพยาบาล จะพิจารณาในประเด็น ประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย อาการไม่พึงประสงค์และพิษของยา แสดงประสิทธิผลและราคาที่ใช้ในการรักษา เพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบกับยาที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน หรือข้อบ่งใช้เดียวกัน ที่มีหรือไม่มีอยู่ในบัญชียาโรงพยาบาล
ทั้งนี้เภสัชกรมีบทบาทในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเวชภัณฑ์ที่ต้องจัดซื้อ ว่ายาแต่ละรายการควรมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไรโดยอ้างอิงหลักวิชาการ เนื่องจากเวชภัณฑ์ที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจมีแหล่งวัตถุดิบและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ดังนั้นเภสัชกรจึงควรต้องค้นคว้าและติดตามข้อมูลข่าวสารด้านยายู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดหาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตัดสินใจ ยกตัวอย่างข้อมูลเหล่านี้ เช่น
  1. ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิต เน้นหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตที่ดี โดยพิจารณาจาก GMP Certificate และความน่าเชื่อถือด้านอื่นๆ ของบริษัท ตามสภาพที่เป็นจริงและประวัติการให้บริการ
  2. Certificate of Analysis และวิธีวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน
  3. คุณภาพของวัตถุดิบ พิจารณาจาก แหล่งที่ผลิตและ Certificate of Analysis ของวัตถุดิบ
  4. ฉลากและบรรจุภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในเภสัชตำรับ เช่น ลักษณะของภาชนะบรรจุ การแจ้งวันที่หมดอายุ (Expire Date) วันที่ผลิต (Manufacturing Date)
  5. ผลการศึกษาชีวสมมูลของยา ด้านประสิทธิผล ความปลอดภัย และ เศรษฐศาสตร์ทางยา
นอกจากนี้จะต้องคัดเลือกแหล่งจัดซื้อยา มีการประเมินรายรายการยาโดยใช้เกณฑ์ เช่น
  1. แหล่งผลิตต้องได้รับใบรับรองในหมวดที่ชี้เฉพาะจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามี GMP ครบถ้วน
  2. แหล่งผลิตสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น มีข้อมูลของกระบวนการผลิต เพราะมีเวชภัณฑ์บางรายการ เช่น aspirin ที่ต้องใช้กระบวนการผลิตที่เหมาะสมจึงจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีข้อมูลของแหล่งวัตถุดิบ มีข้อมูลทาง Bioavialability ของเวชภัณฑ์บางรายการที่จำเป็น และข้อมูลความคงตัวของยาที่สภาวะต่างๆโดยเฉพาะความคงตัวของยาฉีดหลังการละลาย/เจือจางที่อุณหภูมิต่างๆ แหล่งผลิตที่มีแผนกวิเคราะห์เวชภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ข้อมูลการวิเคราะห์และวิธีการวิเคราะห์เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด การจัดซื้อเวชภัณฑ์แต่ละครั้ง บริษัทผู้จำหน่ายต้องแนบใบวิเคราะห์มาพร้อมกับเวชภัณฑ์ทุกครั้ง เพื่อยืนยันคุณภาพเวชภัณฑ์ ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลอาจสุ่มตัวอย่างส่งไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขตเพื่อเป็นการยืนยันคุณภาพของเวชภัณฑ์
ฉะนั้น เภสัชกรโรงพยาบาลจึงมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย). คู่มือมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล. กรุงเทพมหานคร: จันทร์ม่วงการพิมพ์; 2542.
  2. มังกร ประพัฒน์วัฒนะ. ระบบยาเพื่อความปลอดภัย. กรุงเทพฯ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย); 2553.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว
วิตามินและแร่ธาตุ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้