เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รูปแบบยา...มีกี่แบบ...ใช้อย่างไร


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 232,637 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/10/2553
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y9kle82m
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y9kle82m
 

ยามีหลายรูปแบบได้แก่ ยาเม็ด ยาเม็ดเคลือบ ยาแคปซูล ยาผง ยาน้ำใส ยาน้ำแขวนตะกอน ยาน้ำแขวนละออง ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อยาเหน็บ เป็นต้น ยาเหล่านี้มีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วนคือ ตัวยาสำคัญ และ ตัวยาไม่สำคัญ ตัวยาสำคัญจะเป็นส่วนประกอบที่มีฤทธิ์ในการรักษา ส่วนใหญ่ตัวยาสำคัญจะถูกปลดปล่อยออกจากรูปแบบยาทั้งหมดในคราวเดียวทันที (prompt release)เมื่อยาถูกนำไปใช้ แต่ปัจจุบันมีการออกแบบยาให้ตัวยาสำคัญค่อยๆ ถูกปลดปล่อยออกจากรูปแบบยาอย่างช้าๆ (sustained release)หรือ เลื่อนเวลาที่ตัวยาสำคัญจะถูกปลดปล่อยออกจากรูปแบบยา (delayed release)เมื่อยาถูกนำไปใช้ รูปแบบยาที่แตกต่างกันนี้ช่วยให้ความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง เช่น บดหรือเคี้ยวยาก่อนกลืน ความสะดวกนั้นก็จะกลายเป็นโทษไป

รูปแบบยาเหล่านี้หากนำมาจัดกลุ่มตามวิธีใช้จะแบ่งได้เป็น ยารับประทาน ยาอม ยาทาผิวหนัง ยาหยอดตา ยาล้างตา ยาป้ายตา ยาหยอดหู ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก ยาสูดพ่นเข้าทางปาก ยาสอด/สวนทวารหนัก ยาสอดช่องคลอด ยาแผ่นแปะผิวหนังและยาฉีด ยารูปแบบต่างๆ เหล่านี้มีจุดประสงค์การใช้และวิธีใช้ต่างๆ กันไป เช่น ยาทาผิวหนังใช้ทาที่ผิวหนังเพื่อการรักษาปัญหาเฉพาะที่ที่ผิวหนังเท่านั้น ยาหยอดตาก็ใช้รักษาโรคตาเท่านั้น ไม่ต้องการให้ยาไปรักษาโรคที่เกิดกับอวัยวะอื่นในร่างกาย แต่ถ้ามีปัญหาติดเชื้อในกระแสเลือดก็จำเป็นต้องได้รับยารับประทานหรือยาฉีดเพื่อให้ยาเข้าไปจัดการกับเชื้อโรคได้

วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ยาเม็ด ยาเม็ดเคลือบ ยาแคปซูล สำหรับรับประทาน ต้องกลืนไปทั้งเม็ดหรือแคปซูล พร้อมน้ำสะอาด 1 แก้ว หากเม็ดยาหรือแคปซูลมีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจากเมื่อแรกรับยามา เช่น เยิ้ม สีกระดำกระด่าง มีเกล็ดยาเกาะอยู่ แคปซูลบวมพอง แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว ห้ามนำมาใช้
  • ยาเม็ดหรือแคปซูลชนิดปลดปล่อยตัวยาสำคัญออกจากรูปแบบยาอย่างช้าๆ หรือ ชนิดที่เลื่อนเวลาปลดปล่อยตัวยาสำคัญออกจากรูปแบบยา ต้องกลืนไปทั้งเม็ดหรือแคปซูล พร้อมน้ำสะอาด 1 แก้ว ห้ามบด หรือเคี้ยวเม็ดยา ก่อนกลืน แม้การแกะแคปซูลเทผงยาออกมาใส่ปาก ก็ห้ามทำ มิฉะนั้นจะได้รับยาในปริมาณสูงมาก เป็นอันตราย
  • ยารับประทานชนิดน้ำแขวนตะกอน หรือ แขวนละออง จะต้องเขย่าขวดก่อนรินยาเสมอ เพื่อให้ตัวยาสำคัญกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และรินยาโดยใช้ช้อนตวงยา ซึ่ง 1 ช้อนชาจะเท่ากับ 5 ซีซี และ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 3 ช้อนชา หรือ 15 ซีซี หากเขย่ายาน้ำแขวนตะกอนแล้ว แต่ตะกอนยังจับแน่นอยู่ที่ก้นขวด หรือ เขย่ายาน้ำแขวนละอองแล้ว แต่ยังพบการแยกชั้นของน้ำกับน้ำมัน แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพ ห้ามใช้ยานั้น
  • ยาอม หากเป็นยาอมใต้ลิ้น จะต้องนำยาเม็ดใส่ไว้ใต้ลิ้น และอมไว้โดยไม่กลืนน้ำลาย เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่านทางหลอดเลือดในช่องปาก แต่หากเป็นยาอมแก้เจ็บคอ หรือยาอมแก้การติดเชื้อราในปาก ให้นำเม็ดยาวางไว้บนลิ้น และอมไว้ ปล่อยให้น้ำลายมาละลายยา เมื่ออมยาประเภทนี้สามารถกลืนน้ำลายได้ หากเม็ดยามีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไปจากเมื่อแรกรับยามา เช่น สีกระดำกระด่าง แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว ห้ามนำมาใช้
  • ยาผง สำหรับรับประทาน ต้องนำไปผสมน้ำก่อนดื่ม ควรใช้ตามที่ระบุบนฉลาก เช่น ยาผงเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่เมื่อท้องเสีย จะต้องผสมยา 1 ซองกับน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว หากใช้ซองใหญ่ก็ต้องผสมกับน้ำ 750 ซีซี คนให้ละลายและดื่ม ห้ามเก็บค้างคืน สำหรับยาผงที่ใช้เป็นยาระบายจะต้องผสมน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้วและดื่มทันที พร้อมดื่มน้ำตามอีก 1 แก้ว ห้ามตั้งทิ้งไว้นาน เพราะยาจะพองตัวมากและข้นหนืดจนดื่มไม่ได้
  • ยาทาผิวหนัง มักเป็นยาครีม เจล หรือขี้ผึ้ง ก่อนใช้ควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการ จากนั้นบีบยาลงไปพอประมาณ แล้วทาให้ยาแผ่ไปบางๆ บนผิวหนัง หากหลอดยาบวม หรือเมื่อบีบยาออกมาได้แต่น้ำหรือน้ำมัน ที่แยกชั้นกับเนื้อยา แสดงว่ายาเสื่อมคุณภาพแล้ว ห้ามนำมาใช้
  • ยาทาถูนวด อาจเป็นยาครีม เจล หรือขี้ผึ้ง ใช้แก้อาการปวดเมื่อย ซึ่งหลังจากทายาแล้ว ต้องทำการถูและนวดผิวหนังบริเวณนั้นด้วย เพื่อให้เกิดความร้อน จึงจะแก้อาการปวดเมื่อยได้
  • ยาหยอดตา เป็นยาน้ำและถูกทำให้ปราศจากเชื้อ ยาป้ายตาก็เป็นยาที่ถูกทำให้ปราศจากเชื้อ ทั้งยาหยอดตาและป้ายตา บางชนิดต้องเก็บในตู้เย็น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าตัวยาสำคัญคือยาใด ก่อนใช้ต้องล้างมือให้สะอาด และหยอดยา 1 หยด หรือป้ายยา 1 เซนติเมตร ลงไปในกระพุ้งเปลือกตาล่าง โดยไม่ให้ปลายหลอดสัมผัสกับตา ยาหยอดตาและยาป้ายตาที่เปิดใช้แล้ว หากใช้ไม่หมดสามารถเก็บไว้ใช้ได้อีก แต่ไม่เกิน 1 เดือน
  • หากต้องใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตา 2 ชนิด ให้ใช้ห่างกันประมาณ 10 นาที หากยา 2 ชนิดนั้น ชนิดหนึ่งเป็นยาหยอดตา อีกชนิดหนึ่งเป็นยาป้ายตา ให้ใช้ยาหยอดตาก่อน
  • ยาล้างตา เมื่อเปิดใช้แล้ว มีอายุอยู่ได้เพียง 7 วัน จึงไม่ควรซื้อยาขวดโตมาใช้ แม้ว่าราคาจะถูกกว่าขวดเล็ก
  • ยาหยอดหู ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก เป็นยาที่ต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่หู หรือ จมูก เท่านั้น ก่อนหยอดหรือพ่นยา ควรกำจัดสิ่งที่อุดตันออกก่อน ได้แก่ ขี้หู และน้ำมูก ควรใช้ยาตามจำนวนครั้งที่ระบุบนฉลาก การใช้มากเกินไปไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่อาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นได้ เช่นกรณียาหยอด/พ่นจมูกซึ่งมักประกอบด้วยตัวยาลดอาการคัดจมูก หากใช้เกินกว่า 4 ครั้งต่อวันหรือนานกว่า 3 วัน จะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม และรู้สึกคัดจมูกมากขึ้นกว่าเดิม
  • ยาสูดพ่นเข้าทางปาก เป็นรูปแบบยาที่มีวิธีใช้พิเศษ ใช้รักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ที่บริเวณหลอดลม ต้องฝึกวิธีใช้ให้ถูกต้อง จึงจะได้ยาเข้าไปยังหลอดลม แต่หากทำไม่ได้ ควรปรึกษาเภสัชกร เพราะปัจจุบันมีเครื่องช่วยในการสูดพ่น ซึ่งเมื่อนำมาใช้ร่วมจะทำให้ประสบความสำเร็จในการสูดพ่นยา และทำให้ควบคุมอาการของโรคได้
  • ยาสอด/สวนทวารหนัก ใช้เพื่อรักษาริดสีดวงทวาร หรือ เป็นยาระบาย ขึ้นอยู่ว่าตัวยาสำคัญคือยาใด ยาสอดทวารหนักมีส่วนประกอบเป็นขี้ผึ้งเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องแช่ในตู้เย็น (ห้ามใส่ในช่องแช่แข็ง) เพื่อให้คงรูปร่างซึ่งคล้ายจรวด เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น ปล่อยให้คลายตัวสักพัก แล้วฉีกกระดาษหุ้มออก จุ่มยาลงในน้ำสะอาด 1 แก้ว แล้วสอดยาเข้าในทวารหนัก โดยเอาด้านแหลมเข้า หลังจากสอดยาแล้วให้นอนต่อสัก 15 นาที จึงลุกขึ้น
  • ยาสอดช่องคลอด เป็นยาเม็ดแข็ง ไม่ต้องแช่ตู้เย็น ใช้รักษาอาการตกขาวในผู้หญิง ควรจุ่มเม็ดยาลงในน้ำสะอาด 1 แก้ว ก่อนสอดยาเข้าในช่องคลอด โดยเอาด้านแหลมเข้า เพื่อให้สอดเม็ดยาได้ง่ายขึ้น หลังจากสอดยาแล้วให้นอนต่อสัก 15 นาที จึงลุกขึ้น
  • ยาแผ่นแปะผิวหนังใช้ในจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ใช้แก้ปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ใช้ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ ใช้แก้เมารถเมาเรือ ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ใช้คุมกำเนิด ใช้ช่วยอดบุหรี่ แต่ไม่ว่าจะใช้ในจุดประสงค์ใด วิธีใช้ยาแผ่นแปะเหล่านี้ก็คือ ต้องติดแผ่นยาทั้งแผ่น ห้ามตัดแบ่ง และใช้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ เช่น ยาแผ่นแปะแก้ปวดเฟนตานิล (fentanyl) ที่ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีอายุการใช้ 3วันต่อการแปะ 1 แผ่นการแปะแผ่นยานานกว่านี้จะไม่ได้ผลแก้ปวด นอกจากนี้การแปะแผ่นยาบนผิวหนังไม่ว่าจะเป็นยาใดจะต้องแปะบนผิวหนังที่สะอาด ไม่มีเหงื่อ ไม่มีขน เพื่อให้แผ่นยาแปะอยู่ได้ และไม่ปิดซ้ำที่เดิมเมื่อเปลี่ยนแผ่น หากแผ่นยาหลุดออกมาก่อนเวลาเปลี่ยนแผ่น ให้ทิ้งแผ่นยานั้นไป และนำแผ่นยาแผ่นใหม่มาแปะที่ผิวหนังบริเวณอื่น
  • ยาฉีดเป็นยาปราศจากเชื้อ ส่วนใหญ่ฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาล ยกเว้นยาฉีดอินสุลินที่ผู้ป่วยจะฉีดเอง ยานี้เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ต้องเก็บยาในตู้เย็นบริเวณที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้ก็นำออกมาจากตู้เย็น ปล่อยให้คลายตัวสักพัก และคลึงขวดยาระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินสุลินมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิกาย หากเป็นอินสุลินชนิดน้ำขุ่น ต้องคลึงขวดยาจนยากระจายตัวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงดูดยาออกมาตามปริมาณที่ระบุไว้บนฉลาก จากนั้นจึงฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยก่อนฉีดต้องเช็ดทำความสะอาดผิวหนังด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมียาฉีดอินสุลินชนิดปากกาซึ่งใช้ได้สะดวกขึ้น อินสุลินที่อยู่ในปากกาไม่จำเป็นต้องเก็บในตู้เย็น เพราะใช้หมดภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน แต่อินสุลินที่ยังไม่เปิดใช้ไม่ว่าจะเป็นชนิดปกติหรือชนิดที่ใช้กับปากกาจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็นบริเวณที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 2 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้หวัดสำหรับเด็ก 12 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้