เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฟ้าทะลายโจร ยังไม่มีหลักฐานป้องกันรักษาโควิด-19 โคโรน่าไวรัสได้


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.greennet.or.th/wp-content/up...10/fah.jpg
อ่านแล้ว 67,320 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/03/2563
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

"ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าฟ้าทะลายโจรใช้ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ COVID-19 แต่ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ป้องกันและรักษาอาการที่เกิดจากหวัดธรรมดา (common cold) เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ฉะนั้นขอให้คนไทยอย่าได้มีการกักตุนยาฟ้าทะลายโจร จนทำให้ผู้ป่วยจากโรคหวัดธรรมดาไม่มีฟ้าทะลายโจรใช้ หรือมีราคาที่สูงขึ้นมาก
"ขอให้เราทุกคนป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารเป็นยา เช่น การรับประทานเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารและที่เป็นยา (ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดเกือบทุกชนิดประกอบด้วยสารกลุ่ม beta-glucan ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานของร่างกาย) และการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้น กระเพรา โหระพา"  
ภาพจาก : https://www.antifakenewscenter.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%98-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0/ 
จากใจของผู้เขียน ขออย่าให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรขาดตลาด เกิดการวิกฤตขาดแคลนเช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เพราะว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นหวัดธรรมดา ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานวิจัยต่างๆ ว่ารักษาหรือป้องการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 
ถึงแม้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีข่าวว่าทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการทดลองวิจัย "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" ระบุว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ไทยจากหลายหน่วยงาน ได้ร่วมกันทำการวิจัยทดลองทางห้องปฏิบัติการเพื่อหายาต้าน COVID-19 โดยการนำกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยสุขภาพดี 10 คน รับประทานยา "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" และอยู่ในโรงพยาบาล 5 วัน จากนั้นเอาเซรุ่มที่สกัดจากกลุ่มตัวอย่าง ไปใส่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) พบว่า "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" ของประเทศไทย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสในหลอดทดลองได้ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ในผู้ป่วยต่อไป ซึ่งการศึกษานี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ทดลองใช้ "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" กับ COVID-19 แต่นั่นคือ การศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น 
ข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรต่อไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น 
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ช่วยลดอาการจากไข้หวัดธรรมดาได้ทั้งรายงานงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ที่รวบรวมและวิเคราะห์จากงานวิจัยทางคลินิกแบบ randomized control trials หลายการศึกษา ได้แก่ การศึกษาในปีค.ศ. 2017 ข้อมูลงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมานจาก 33 งานวิจัย จำนวนผู้ป่วย 7,175 คน พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ และเจ็บคอ ได้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) การใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว หรือตำรับที่มีฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่น (เช่น Scutellaria baicalensis, Lonicera japonica, Forsythia suspense, Aster trinervius) มีผลทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคระบบทางเดินหายใจดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หรือการรักษาตามอาการ (เช่น การได้รับ ยาแก้ไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ) หรือการใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ และรูปแบบยาเม็ดขนาดเล็ก (pilule) มีผลการรักษาได้ดีกว่ายาเม็ด (tablet) นอกจากนี้การใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว หรือการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาตามอาการ จะมีผลลดความถี่และความรุนแรงของอาการต่าง ๆ (เช่น อาการไอ เจ็บคอ ปวด ไข้) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามอาการ (1) 
ทั้งนี้ในปีค.ศ. 2012 ข้อมูลงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมานจาก 6 งานวิจัย (การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม randomized controlled trial: RCT) จำนวนผู้ป่วย 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นในขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลารับประทาน 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากหวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้ (2) 
สารสำคัญ 
สารสำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจรเป็นสารกลุ่ม diterpenoid lactones ได้แก่ andrographolide (AP), 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (14-deoxy-11,12-didehydro-AP), neoandrographolide (neo-AP) และ 14-deoxyandrographolide (14-deoxy-AP) เป็นต้น (3) และสารกลุ่ม polysaccharides (arabinogalactan น้ำหนักโมเลกุล 109 kDa) (4) 
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (5) 
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ในโรคหวัดธรรมดา ได้แก่

  1. ฤทธิ์แก้ไอ (antitussive): การศึกษาในหนูตะเภาพบว่า สาร arabinogalactan (109 kDa) มีฤทธิ์แก้ไอ
  2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด (anti-inflammatory and analgesic): การศึกษาในหนูขาวพบว่า สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ andrographolide และ neoandrographolide
  3. ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อเกิดโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ (influenza A) เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์คือ สารกลุ่มแลคโตน
  4. ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน: การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สาร andrographolide เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นการสร้าง antibodies และ macrophage phagocytosis การเพิ่มจำนวนของ lymphocytes และการสร้าง interleukin-2 (IL-2) 
    ขนาดรับประทาน 
    ตำรับยาฟ้าทะลายโจรในงานวิจัยเกือบทั้งหมดจะเป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่ประกอบด้วยสารสำคัญ andrographolide โดยขนาดรับประทานต่อวันเท่ากับ 15.75 มิลลิกรัม สำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนต้น (Upper respiratory tract infection: URTI) ขนาด 225 มิลลิกรัม สำหรับ โรคหลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) และขนาดมากกว่า 1,200 มิลลิกรัม สำหรับโรคคออักเสบ/ทอนซิลอักเสบ (pharyngo-tonsillitis) และระยะเวลารับประทานมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5-7 วัน ในกรณี URTI จะใช้เวลา 3 วัน และ 14 วัน สำหรับ bronchiectasis (1) มีบางรายงานวิจัย ขนาดรับประทานต่อวันของสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะเป็น 31.5-200 มิลลิกรัม ระยะเวลารับประทาน 3–10 วัน (2) 
    ผลข้างเคียง 
    มีรายงานผลข้างเคียงของฟ้าทะลายโจรพบว่า ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ ผื่นแพ้ (1,2) 
    ความเป็นพิษ 
    การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในหนู พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 40 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว (1) 
    รายงานของ The European Medicines Agency (EMA) กล่าวว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่ก่อพิษเฉียบพลันหรือก่อเกิดพิษต่อยีน (genotoxicity) แต่สารสกัดในขนาดสูงจะก่อเกิดพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในหนู ทำให้จำนวนอสุจิลดปริมาณและการเคลื่อนที่ช้าลง (1) 
    งานวิจัยความเป็นพิษเฉียบพลันในประเทศไทย พบว่า การป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบฟ้าทะลายโจร (ประกอบด้วย AP, 14-deoxy-11,12-didehydro-AP, neo-AP, และ14-deoxy-AP ในปริมาณ 69.65, 30.48, 8.51, และ 274.78 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ) ให้กับหนูถีบจักร มีค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว แสดงว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ไม่ก่อเกิดพิษเฉียบพลัน (3) 
    คุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร 
    คุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นได้ว่ารายงานวิจัยต่าง ๆ จะเป็นการศึกษาของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในรูปสารสกัด โดยอาจจะเป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจรเดี่ยวหรือสารสกัดฟ้าทะลายโจรร่วมกับสารสกัดสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในเภสัชตำรับของประเทศไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia: THP) กำหนดให้วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรจะต้องประกอบด้วยสารกลุ่มแลคโตนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 6% และปริมาณสาร andrographolide ไม่น้อยกว่า 1% 
    สรุป 
    ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าฟ้าทะลายโจรใช้ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ COVID-19 แต่ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ป้องกันและรักษาอาการที่เกิดจากหวัดธรรมดา (common cold) เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ฉะนั้นขอให้คนไทยอย่าได้มีการกักตุนยาฟ้าทะลายโจร จนทำให้ผู้ป่วยจากโรคหวัดธรรมดาไม่มีฟ้าทะลายโจรใช้ หรือมีราคาที่สูงขึ้นมาก 
    ขอให้เราทุกคนป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารเป็นยา เช่น การรับประทานเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารและที่เป็นยา (ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดเกือบทุกชนิดประกอบด้วยสารกลุ่ม beta-glucan ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานของร่างกาย) และการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้น กระเพรา โหระพา 
     
     
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Xiao-Yang Hu, Ruo-Han Wu, Martin Logue, Clara Blondel, Lily Yuen Wan Lai, Beth Stuart, Andrew Flower, Yu-Tong Fei, Michael Moore, Jonathan Shepherd, Jian-Ping Liu, George Lewith. Andrographis paniculata (Chuän XÏn LiaÂn) for symptomatic relief of acute respiratory tract infections in adults and children: A systematic review and meta-analysis. PLoS ONE 2017;12(8): e0181780.
  2. Wagner L., Cramer H, Klose P, Lauche R, Gass F, Dobos G, Langhorst J. Herbal Medicine for Cough: a Systematic Review and Meta-Analysis. Forsch Komplementmed. 2015;22:359-368.
  3. Worasuttayangkurna L, Nakareangritb W, Kwangjaic J, Sritangosa P, Pholphana N, Watcharasit P, et al. Acute oral toxicity evaluation of Andrographis paniculata-standardized first true leaf ethanolic extract. Toxicology Reports. 2019;6:426–430.
  4. Nosál'ová G, Majee SK, Ghosh K, Raja W, Chatterjee UR, Jurecek L, Ray B. Antitussive arabinogalactan of Andrographis paniculata demonstrates synergistic effect with andrographolide. Int J Biol Macromol. (2014);69:151–157.
  5. Hossain MS, Zannat Urbi Z, Sule A, Rahman KMH. Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. ex Nees: A review of ethnobotany, phytochemistry, and pharmacology. TSWJ 2014, Article ID 274905, 28 pages
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


34 วินาทีที่แล้ว
35 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้