เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฟ้าทะลายโจร ยังไม่มีหลักฐานป้องกันรักษาโควิด-19 โคโรน่าไวรัสได้


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://www.greennet.or.th/wp-content/up...10/fah.jpg
อ่านแล้ว 63,682 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/03/2563
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y7k6m9gg
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y7k6m9gg
 
"ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าฟ้าทะลายโจรใช้ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ COVID-19 แต่ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ป้องกันและรักษาอาการที่เกิดจากหวัดธรรมดา (common cold) เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ฉะนั้นขอให้คนไทยอย่าได้มีการกักตุนยาฟ้าทะลายโจร จนทำให้ผู้ป่วยจากโรคหวัดธรรมดาไม่มีฟ้าทะลายโจรใช้ หรือมีราคาที่สูงขึ้นมาก"
"ขอให้เราทุกคนป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารเป็นยา เช่น การรับประทานเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารและที่เป็นยา (ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดเกือบทุกชนิดประกอบด้วยสารกลุ่ม beta-glucan ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานของร่างกาย) และการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้น กระเพรา โหระพา"
ภาพจาก : https://www.antifakenewscenter.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%98-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0/
จากใจของผู้เขียน ขออย่าให้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรขาดตลาด เกิดการวิกฤตขาดแคลนเช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เพราะว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นหวัดธรรมดา ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานวิจัยต่างๆ ว่ารักษาหรือป้องการติดเชื้อ COVID-19 ได้
ถึงแม้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีข่าวว่าทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการทดลองวิจัย "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" ระบุว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ไทยจากหลายหน่วยงาน ได้ร่วมกันทำการวิจัยทดลองทางห้องปฏิบัติการเพื่อหายาต้าน COVID-19 โดยการนำกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยสุขภาพดี 10 คน รับประทานยา "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" และอยู่ในโรงพยาบาล 5 วัน จากนั้นเอาเซรุ่มที่สกัดจากกลุ่มตัวอย่าง ไปใส่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) พบว่า "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" ของประเทศไทย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสในหลอดทดลองได้ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ในผู้ป่วยต่อไป ซึ่งการศึกษานี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ทดลองใช้ "สารสกัดฟ้าทะลายโจร" กับ COVID-19 แต่นั่นคือ การศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น
ข้อมูลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรต่อไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ช่วยลดอาการจากไข้หวัดธรรมดาได้ทั้งรายงานงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ที่รวบรวมและวิเคราะห์จากงานวิจัยทางคลินิกแบบ randomized control trials หลายการศึกษา ได้แก่ การศึกษาในปีค.ศ. 2017 ข้อมูลงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมานจาก 33 งานวิจัย จำนวนผู้ป่วย 7,175 คน พบว่า กลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ และเจ็บคอ ได้ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) การใช้ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว หรือตำรับที่มีฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่น (เช่น Scutellaria baicalensis, Lonicera japonica, Forsythia suspense, Aster trinervius) มีผลทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคระบบทางเดินหายใจดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หรือการรักษาตามอาการ (เช่น การได้รับ ยาแก้ไข้ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ) หรือการใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ และรูปแบบยาเม็ดขนาดเล็ก (pilule) มีผลการรักษาได้ดีกว่ายาเม็ด (tablet) นอกจากนี้การใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว หรือการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาตามอาการ จะมีผลลดความถี่และความรุนแรงของอาการต่าง ๆ (เช่น อาการไอ เจ็บคอ ปวด ไข้) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามอาการ (1)
ทั้งนี้ในปีค.ศ. 2012 ข้อมูลงานวิจัยแบบการวิเคราะห์อภิมานจาก 6 งานวิจัย (การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม randomized controlled trial: RCT) จำนวนผู้ป่วย 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นในขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลารับประทาน 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากหวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้ (2)
สารสำคัญ
สารสำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจรเป็นสารกลุ่ม diterpenoid lactones ได้แก่ andrographolide (AP), 14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide (14-deoxy-11,12-didehydro-AP), neoandrographolide (neo-AP) และ 14-deoxyandrographolide (14-deoxy-AP) เป็นต้น (3) และสารกลุ่ม polysaccharides (arabinogalactan น้ำหนักโมเลกุล 109 kDa) (4)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (5)
สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ในโรคหวัดธรรมดา ได้แก่
  1. ฤทธิ์แก้ไอ (antitussive): การศึกษาในหนูตะเภาพบว่า สาร arabinogalactan (109 kDa) มีฤทธิ์แก้ไอ
  2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด (anti-inflammatory and analgesic): การศึกษาในหนูขาวพบว่า สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ andrographolide และ neoandrographolide
  3. ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อเกิดโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ (influenza A) เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์คือ สารกลุ่มแลคโตน
  4. ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน: การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สาร andrographolide เป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโดยกระตุ้นการสร้าง antibodies และ macrophage phagocytosis การเพิ่มจำนวนของ lymphocytes และการสร้าง interleukin-2 (IL-2)
    ขนาดรับประทาน
    ตำรับยาฟ้าทะลายโจรในงานวิจัยเกือบทั้งหมดจะเป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจร ที่ประกอบด้วยสารสำคัญ andrographolide โดยขนาดรับประทานต่อวันเท่ากับ 15.75 มิลลิกรัม สำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนต้น (Upper respiratory tract infection: URTI) ขนาด 225 มิลลิกรัม สำหรับ โรคหลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) และขนาดมากกว่า 1,200 มิลลิกรัม สำหรับโรคคออักเสบ/ทอนซิลอักเสบ (pharyngo-tonsillitis) และระยะเวลารับประทานมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5-7 วัน ในกรณี URTI จะใช้เวลา 3 วัน และ 14 วัน สำหรับ bronchiectasis (1) มีบางรายงานวิจัย ขนาดรับประทานต่อวันของสารสกัดฟ้าทะลายโจรจะเป็น 31.5-200 มิลลิกรัม ระยะเวลารับประทาน 3–10 วัน (2)
    ผลข้างเคียง
    มีรายงานผลข้างเคียงของฟ้าทะลายโจรพบว่า ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ ผื่นแพ้ (1,2)
    ความเป็นพิษ
    การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันในหนู พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 40 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว (1)
    รายงานของ The European Medicines Agency (EMA) กล่าวว่า สารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่ก่อพิษเฉียบพลันหรือก่อเกิดพิษต่อยีน (genotoxicity) แต่สารสกัดในขนาดสูงจะก่อเกิดพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในหนู ทำให้จำนวนอสุจิลดปริมาณและการเคลื่อนที่ช้าลง (1)
    งานวิจัยความเป็นพิษเฉียบพลันในประเทศไทย พบว่า การป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบฟ้าทะลายโจร (ประกอบด้วย AP, 14-deoxy-11,12-didehydro-AP, neo-AP, และ14-deoxy-AP ในปริมาณ 69.65, 30.48, 8.51, และ 274.78 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ) ให้กับหนูถีบจักร มีค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว แสดงว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ไม่ก่อเกิดพิษเฉียบพลัน (3)
    คุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร
    คุณภาพของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นได้ว่ารายงานวิจัยต่าง ๆ จะเป็นการศึกษาของผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในรูปสารสกัด โดยอาจจะเป็นสารสกัดฟ้าทะลายโจรเดี่ยวหรือสารสกัดฟ้าทะลายโจรร่วมกับสารสกัดสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในเภสัชตำรับของประเทศไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia: THP) กำหนดให้วัตถุดิบฟ้าทะลายโจรจะต้องประกอบด้วยสารกลุ่มแลคโตนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 6% และปริมาณสาร andrographolide ไม่น้อยกว่า 1%
    สรุป
    ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าฟ้าทะลายโจรใช้ป้องกันหรือรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ COVID-19 แต่ฟ้าทะลายโจรมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ป้องกันและรักษาอาการที่เกิดจากหวัดธรรมดา (common cold) เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ฉะนั้นขอให้คนไทยอย่าได้มีการกักตุนยาฟ้าทะลายโจร จนทำให้ผู้ป่วยจากโรคหวัดธรรมดาไม่มีฟ้าทะลายโจรใช้ หรือมีราคาที่สูงขึ้นมาก
    ขอให้เราทุกคนป้องกันตนเองโดย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารเป็นยา เช่น การรับประทานเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารและที่เป็นยา (ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดเกือบทุกชนิดประกอบด้วยสารกลุ่ม beta-glucan ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานของร่างกาย) และการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้น กระเพรา โหระพา

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Xiao-Yang Hu, Ruo-Han Wu, Martin Logue, Clara Blondel, Lily Yuen Wan Lai, Beth Stuart, Andrew Flower, Yu-Tong Fei, Michael Moore, Jonathan Shepherd, Jian-Ping Liu, George Lewith. Andrographis paniculata (Chuän XÏn LiaÂn) for symptomatic relief of acute respiratory tract infections in adults and children: A systematic review and meta-analysis. PLoS ONE 2017;12(8): e0181780.
  2. Wagner L., Cramer H, Klose P, Lauche R, Gass F, Dobos G, Langhorst J. Herbal Medicine for Cough: a Systematic Review and Meta-Analysis. Forsch Komplementmed. 2015;22:359-368.
  3. Worasuttayangkurna L, Nakareangritb W, Kwangjaic J, Sritangosa P, Pholphana N, Watcharasit P, et al. Acute oral toxicity evaluation of Andrographis paniculata-standardized first true leaf ethanolic extract. Toxicology Reports. 2019;6:426–430.
  4. Nosál'ová G, Majee SK, Ghosh K, Raja W, Chatterjee UR, Jurecek L, Ray B. Antitussive arabinogalactan of Andrographis paniculata demonstrates synergistic effect with andrographolide. Int J Biol Macromol. (2014);69:151–157.
  5. Hossain MS, Zannat Urbi Z, Sule A, Rahman KMH. Andrographis paniculata (Burm. f.) Wall. ex Nees: A review of ethnobotany, phytochemistry, and pharmacology. TSWJ 2014, Article ID 274905, 28 pages
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


47 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 48 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้