เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร


ภญ.กิตติมา วัฒนากมลกุลภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 312,323 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/01/2555
อ่านล่าสุด 7 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะในรูปแบบของใช้ในบ้าน เครื่องนุ่งห่ม วัสดุทางการแพทย์ วัสดุอาคาร รวมไปถึงการใช้เพื่อบรรจุอาหาร เนื่องด้วยความสะดวกสบายในการใช้งาน แต่ท่านทราบถึงความแตกต่างขององค์ประกอบ วิธีการใช้งานที่เหมาะสม และอันตรายของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากน้อยเพียงใด 

ผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถแบ่งตามชนิดของพลาสติกได้เป็น 7 ชนิด มีการแสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในเรื่องการคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิล ลักษณะสัญลักษณ์คือ ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเลขกำกับอยู่ภายใน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ฐานของสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า “รหัสพลาสติก” กำหนดโดย NA Society of the Plastics Industry ในปี ค.ศ. 1988 ดังตารางนี้

รายละเอียดของผลิตภัณฑ์พลาสติกแต่ละชนิด 

  1. พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene terephthalate) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เพท (PET) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET) 
    ตัวอย่างการนำไปใช้: ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร ถุงขนมขบเคี้ยว
    ข้อควรระวัง: 
    • ขวดบรรจุน้ำดื่มเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับให้นำมาทำความสะอาดใหม่โดยใช้ความร้อนสูงหรือขัดถูแล้วนำมาใช้ซ้ำ ขวดที่ใช้แล้วควรนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่มากกว่าการนำกลับมาใช้ซ้ำ แม้ว่าการใช้ซ้ำนั้นอาจจะไม่มีอันตรายจากสารที่หลุดออกมา แต่ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์เนื่องจากการทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ
    • สารอะซิทัลดีไฮด์สามารถแพร่ออกจากผลิตภัณฑ์เข้าไปปนเปื้อนของที่บรรจุอยู่ในภาชนะได้ ซึ่งอะซีทัลดีไฮด์เป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในคน รวมทั้งอาจส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง
  2. พลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High density polyethylene, HDPE) 
    ตัวอย่างการนำไปใช้: เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารทำละลายต่างๆ ทำให้มีการนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะบรรจุต่างๆ เช่น ทัปเปอร์แวร์ ขวดน้ำยาซักผ้า ขวดนม ถังน้ำมันสำหรับยานพาหนะ โต๊ะและเก้าอี้แบบพับได้ ถุงพลาสติก 
    ข้อควรระวัง: การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสีควรระมัดระวังอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้
  3. พลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) หรือที่เรียกกันว่า พีวีซี (PVC) 
    ตัวอย่างการนำไปใช้: พลาสติกห่ออาหาร ถุงหูหิ้ว (ขนาดเล็กนิยมบรรจุอาหารประเภททอด เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก) ขวดบรรจุชนิดบีบ (เช่น น้ำมันพืช) กล่องอุปกรณ์ต่างๆ ภาชนะบรรจุเครื่องดื่มอาหาร ตะแกรงคว่ำจาน
    ข้อควรระวัง: สารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพพีวีซี อาทิเช่น สารพลาสติกไซเซอร์และสารอื่น ๆ ได้แก่ พาทาเลท สารแต่งสีซึ่งมีตะกั่วและแคดเมียม สารทำให้คงตัว (stabilizers) เช่น แบเรียม สามารถแพร่กระจายออกมาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการห่ออาหารขณะร้อนด้วยพลาสติกอุ่นอาหารโดยมีพลาสติกที่ห่ออาหารอยู่ และการใส่อาหารร้อนในถุงหูหิ้วโดยตรง
  4. พลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene, LDPE) 
    ตัวอย่างการนำไปใช้: ถุงหูหิ้ว ขวดพลาสติกบางชนิด และที่ใช้กันมากที่สุดก็คือ ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร 
    ข้อควรระวัง: 
    • การใช้ถุงพลาสติกที่เป็นสีควรระมัดระวังอันตรายจากเม็ดสีที่เติมเข้าไป ซึ่งมีส่วนผสมของตะกั่วและแคดเมียม สารทั้งสองตัวนี้สามารถแพร่ออกมาจากพลาสติกได้
    • ถุงเย็น มีลักษณะขุ่นและยืดหยุ่นได้ดีกว่าถุงร้อน ทนความเย็นได้ถึง -70 องศาเซลเซียส แต่ทนความร้อนได้ไม่มากนัก
  5. พลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene, PP)
    ตัวอย่างการนำไปใช้: ถุงร้อนสำหรับบรรจุอาหาร ขวดใส่เครื่องดื่ม ซองขนม ภาชนะบรรจุโยเกิร์ต หลอดดูด ขวดนมเด็ก
    ข้อควรระวัง: 
    • สามารถติดไฟได้ง่าย จึงต้องมีการเติมสารหน่วงไฟเพื่อป้องกันการติดไฟในกระบวนการผลิต ซึ่งสารหน่วงไฟที่เติมจะเป็นพวกโบรมิเนเตตและคลอริเนเตต สารกลุ่มนี้ถ้าไหม้ไฟแล้วจะให้สารไดออกซิน (dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
    • สารเม็ดสีที่มีตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งผสมลงไปเพื่อทำให้พลาสติกมีสีต่าง ๆ ตะกั่วและแคดเมียมสามารถแพร่กระจายออกมาจากพลาสติกได้
    • ถุงร้อน มีลักษณะใสกว่าถุงเย็นและไม่มีความยืดหยุ่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส (จุดเดือดของน้ำ) และทนไขมันได้ดี แต่สามารถบรรจุอาหารเย็นได้เพียง 0 องศาเซลเซียส
  6. พลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene, PS) หรือที่เรียกกันว่า โฟม
    ตัวอย่างการนำไปใช้: บรรจุรองรับการกระแทก กล่องสำหรับบรรจุอาหาร พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (เช่น ถ้วย ช้อน ส้อม มีด) 
    ข้อควรระวัง: 
    • การใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารที่ร้อนหรือนำไปเข้าไมโครเวฟ สามารถทำให้สไตรีนโมโนเมอร์ในโฟมละลายออกมาผสมในอาหารได้ ซึ่งมีผลต่อสมอง ระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับ ไต และอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองกับผิวหนัง ตา ระบบทางเดินหายใจ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย หรือทำให้สภาพการทำงานของตับลดลง
    • การเผาโฟมทำให้เกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของของมะเร็ง
    • การรีไซเคิลโฟมมีปัญหาสำคัญในเรื่องไม่คุ้มทุน
  7. พลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น โพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate, PC) 
    ตัวอย่างการนำไปใช้: เนื่องจากโพลีคาร์บอเนตเป็นพลาสติกที่มีลักษณะใส แข็ง และทนความร้อนจึงนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นและนำเข้าไมโครเวฟได้ด้วย เช่น เหยือกน้ำ ขวดน้ำขนาดบรรจุ 5 ลิตร ขวดน้ำนักกีฬา ขวดนม รวมทั้งจำพวกถ้วย ช้อนส้อม มีดชนิดใส 
    ข้อควรระวัง: มีการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A, BPA) ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใช้บรรจุน้ำร้อน ไม่ว่าจะเป็นขวดเก่าหรือขวดใหม่ก็ตาม ซึ่งสารนี้มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ของเพศหญิง ส่งผลกระทบทำให้สเปริม์ลดลง เปลี่ยนพฤติกรรมเพศ นอกจากนี้ยังพบว่าเหนี่ยวนำให้เกิดการต้านทานอินซูลิน (insulin) และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย ในเด็กทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอคทีฟ

 

พลาสติกเกือบทุกชนิดก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูงกว่าการผลิตแก้ว 

นอกจากนี้พลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ต้องทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพลงไป ตัวอย่างเช่น โฟมบรรจุอาหารรีไซเคิลเป็นโฟมกันกระแทก (ไม่สามารถกลับมาใส่อาหารได้อีก) ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ในขณะที่หากนำไปย่อยสลายจะทำได้ยากด้วยวิธีฝังกลบ ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ยกเว้นต้องใช้เตาเผาอุณหภูมิสูงถึง 1300 องศาเซลเซียส


ถุงพลาสติกอีกประเภทหนึ่งคือ ถุงพลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยและคิดค้นถุงพลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตได้จากแป้งมันสำปะหลังและข้าวโพด พลาสติกชนิดนี้เมื่อถูกฝังกลบในสภาวะที่เหมาะสมจะถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์และแบคทีเรียในธรรมชาติ เมื่อย่อยสลายหมดแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำ มวลชีวภาพ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตและดำรงชีวิตของพืช

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า การใช้พลาสติกควรเลือกให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของพลาสติกชนิดนั้นๆ เพื่อลดอันตายที่อาจเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญคือควรใช้เท่าที่จำเป็น เลือกใช้วัสดุอื่นที่สามารถทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น แก้ว หรือ ถุงพลาสติกชีวภาพ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของเราด้วย

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. วลัยพร มุขสุวรรณ. รหัสชนิดพลาสติก. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=18 [Accessed 2011 Sep 5]
  2. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 3 โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=13 [Accessed 2011 Sep 5]
  3. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 2 โพลีไวนิลคลอไรด์. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=12 [Accessed 2011 Sep 5]
  4. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 4 โพลีเอทิลีน. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=14 [Accessed 2011 Sep 5]
  5. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 7 โพลีโพรพิลีน. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=17 [Accessed 2011 Sep 5]
  6. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 1 โพลีสไตรีน. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=11 [Accessed 2011 Sep 5]
  7. วลัยพร มุขสุวรรณ. พลาสติกในชีวิตประจำวัน: ตอนที่ 5 โพลีคาร์บอเนต. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [Online]; 2008. Available form: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=15 [Accessed 2011 Sep 5]
  8. ประศักดิ์ ถาวรยุติการต์. อันตรายจากการใช้พลาสติกเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม. วารสารเชียงใหม่ปริทัศน์. ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ [Online]; 2006. Available form: http://www.udif.or.th/envoroment9.htm [Accessed 2011 Sep 7]
  9. Sira Sujjinanont. "ถุงพลาสติกชีวภาพ" ย่อยสลายได้ไม่เป็นอันตรายต่อโลก [Online]; 2009. Available form: http://fukduk.com/blog/ถุงพลาสติกชีวภาพ-ย่อยสลายได้ไม่เป็นอันตรายต่อโลก [Accessed 2011 Sep 7]
  10. Anonymous. Bisphenol A (BPA) has been linked to damage in developing brain tissue. News-Medical.Net [Online]; 2005. Available form: http://www.news-medical.net/news/2005/12/02/14790.aspx [Accessed 2011 Sep 9]
  11. Anonymous. พลาสติกบรรจุอาหาร. Gourmetthai [Online]; 2007. Available form: http://www.gourmetthai.com/newsite/nutrition/nutrition_detail.php?content_code=CONT040 [Accessed 2011 Sep 9]
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 4 วินาทีที่แล้ว
6 วินาทีที่แล้ว
14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้