เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กลิ่นตัว ปัญหากวนใจที่แก้ไขได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 4,520 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/04/2567
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะเมืองไทยในขณะนี้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส หลายคนอาจสังเกตได้ว่า เราเองและคนรอบข้างมีกลิ่นตัวที่แรงมากขึ้น ซึ่งตามธรรมชาตินั้นทุกคนจะมีกลิ่นตัวโดยเป็นกลิ่นจางๆ แต่เมื่อมีสิ่งกระตุ้นบางอย่างก็จะทำให้กลิ่นตัวนั้นแรงขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กวนใจใครหลายคน ทำให้บั่นทอนความมั่นใจในการเข้าสังคมไปด้วย 

 

ต่อมเหงื่อในผิวหนังมนุษย์ ที่มาของกลิ่นตัว

ในผิวหนังของมนุษย์ประกอบไปด้วยต่อมเหงื่อที่สำคัญ 2 ต่อม คือ ต่อมเอกไครน์ (eccrine gland) และต่อมอะโพไครน์ (apocrine gland) ซึ่งแต่ละต่อมมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ต่อมเอกไครน์ เป็นต่อมที่อยู่บนผิวหนัง มีหน้าที่ผลิตเหงื่อเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเพื่อคลายความร้อนในร่างกาย ในเหงื่อจะมีน้ำและเกลือเป็นส่วนประกอบหลัก และจะระเหยเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเย็นตัวลง โดยปกติแล้วเหงื่อที่ออกมานั้นจะไม่มีกลิ่น แต่ในบางกรณี เช่น การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง ได้แก่ กระเทียม เครื่องเทศ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เหงื่อมีกลิ่นซึ่งส่งผลต่อกลิ่นตัวได้
  2. ต่อมอะโพไครน์หรือต่อมกลิ่น เป็นต่อมที่อยู่ในบริเวณที่มีขนขึ้นมาก เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือหัวหน่าว เป็นต้น ต่อมกลิ่นพบได้ตั้งแต่เกิด แต่จะเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น มีหน้าที่ในการสร้างกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง สารที่หลั่งจากต่อมกลิ่นประกอบด้วยกรดไขมันหลายชนิด (fatty acid, sulfanyl alkanols และ steroid) มีลักษณะเหลวข้น ไม่มีกลิ่น เมื่อหลั่งออกมาด้านนอกของผิวหนัง สารดังกล่าวจะถูกเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacteria spp.) เปลี่ยนให้เป็นสารที่มีกลิ่นซึ่งคือแอมโมเนียและกรดไขมันสายสั้น

ดังที่กล่าวข้างต้น “กลิ่นตัว” เป็นกลิ่นที่ร่างกายขับออกมาทางต่อมเหงื่อ ซึ่งสาเหตุของการเกิดกลิ่นตัวนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. สาเหตุภายนอก คือ ปัจจัยความร้อนกระตุ้นเชื้อแบคทีเรีย หรือการเป็นเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมกลิ่น
  2. สาเหตุภายในร่างกาย คือ มีการขับสารบางอย่างออกมาจากต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ เช่น ความเครียด การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การกินอาหารที่มีกลิ่นแรง รสจัดไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรืออาหารที่มีเครื่องเทศเยอะๆ ผักและผลไม้ที่มีสารกำมะถันอย่างทุเรียน สะตอ ชะอม หัวหอม ผักตระกูลกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม เป็นต้น การดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะถูกเผาผลาญในตับและแตกตัวเป็นแอซีทาลดีไฮด์ (acetaldehyde) การใช้ยาบางชนิด ได้แก่ มอร์ฟีน ยาแก้ไข้ และยารักษาภาวะซึมเศร้า เป็นต้น ภาวะร่างกายหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ หรือภาวะสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นตัวที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต เป็นต้น

การรักษาและป้องกันการมีกลิ่นตัว 

การกำจัดกลิ่นตัวให้หมดจากร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เนื่องจากกลิ่นตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี อย่างไรก็ตาม เรามีแนวทางการป้องกันและดูแลตัวเองเพื่อลดกลิ่นตัวอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. การรักษาสุขอนามัยให้สะอาด การล้างทำความสะอาดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ด้วยน้ำสะอาดบ่อย ๆ จะลดปริมาณสารก่อกลิ่นที่หลั่งจากต่อมกลิ่นได้ การล้างด้วยสบู่ฆ่าเชื้อจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรีย แต่ไม่ควรล้างบ่อยเพราะอาจทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่ร้อนจัด อบอ้าว อับชื้น อากาศไม่ถ่ายเทหรือถ่ายเทไม่สะดวก
  3. หลีกเลี่ยงความเครียดและเรื่องตื่นเต้น โดยเมื่อร่างกายเกิดความเครียดจะหลั่งฮอร์โมนออกมา ทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกและทำให้รักแร้มีเหงื่อออกมา ทั้งนี้เหงื่อที่ออกมาจากความเครียดจะมีความแตกต่างจากเหงื่อทั่วไป เพราะเหงื่อจากความเครียดจะมีปริมาณของโปรตีนและไขมันมากเป็นพิเศษ เมื่อเหงื่อประเภทนี้ทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียจะทำให้เกิดกลิ่นตามมาได้
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและผลไม้บางชนิดที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม สะตอ ทุเรียน พริกป่น เนย ตับ ถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งของสาร trimethylamine โดยจะถูกขับออกมาพร้อมกัน
  5. การใช้ผลิตภัณฑ์ยาระงับเหงื่อ (antiperspirants) โดยองค์ประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ คือ น้ำหอม แต่จะมีสารเคมีที่ทำหน้าที่อุดต่อมเหงื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เหงื่อออกมาจากรูขุมขน เมื่อไม่มีเหงื่อ ก็จะไม่เกิดกลิ่น สารเคมีที่นิยมใช้คือ เกลือของโลหะหนักอลูมิเนียมชนิดต่างๆ เช่น อลูมิเนียมคลอไรด์ (aluminium chloride) ที่มีประสิทธิภาพในการจับกับเกลือของน้ำเหงื่อให้กลายเป็นเจล มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว จากนั้นจะไปอุดต่อมเหงื่อไม่ให้เหงื่อออก เมื่อสะสมมากๆ ร่างกายจะกำจัดออกโดยการผลัดเซลล์ผิว
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่ช่วยกระตุ้นการขับเหงื่อ เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารแปรรูปที่มีไขมัน เนื้อสัตว์ และคาเฟอีน เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้เหงื่อออกได้
  7. แนะนำให้รับประทานอาหารที่ช่วยลดการผลิตเหงื่อ ได้แก่ อาหารที่มีแคลเซียม นอกจากนี้ การดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นตัวได้
  8. การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย (deodorants) ทำหน้าที่หลักในการลดกลิ่นของร่างกายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยองค์ประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ คือ น้ำหอมและยากำจัดเชื้อแบคทีเรีย มีแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย โดยเมื่อเราใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เหงื่อจะยังคงออกตามปกติ
  9. การใช้น้ำหอมฉีดพ่นเพี่อกลบกลิ่นตัว แต่ต้องระวังอาการผื่นแพ้น้ำหอมหรือส่วนประกอบในน้ำหอมที่อาจเกิดขึ้นได้
  10. เลือกใช้เครื่องแต่งกายที่ระบายอากาศและความร้อนได้ดี เช่น เครื่องแต่งกายที่เนื้อผ้าทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน เป็นต้น
  11. การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินกำหนด ยิ่งน้ำหนักตัวเยอะ ก็ทำให้มีกลิ่นตัวมาก อาจจะเกิดจากการที่ร้อนง่ายเหนื่อยง่าย รวมทั้งบริเวณซอกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผิวหนังที่ย้อยไปปิด ทำให้อับชื้น ต้องดูแลดีๆ เพราะเกิดเชื้อราได้ง่ายมาก
  12. การโกนขนบริเวณรักแร้หรือทำเลเซอร์กำจัดขน เพื่อป้องกันแบคทีเรียและการสะสมของสารก่อกลิ่น
  13. การฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ที่ใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้ เพื่อลดการสร้างสารก่อกลิ่น เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่มีราคาสูง อีกทั้งไม่ใช่การรักษาปัญหากลิ่นตัวแบบถาวร เนื่องจากจะมีฤทธิ์อยู่แค่ 3-6 เดือน ทำให้ต้องฉีดซ้ำอย่างสม่ำเสมอ
  14. การผ่าตัดเอาต่อมกลิ่นออก เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่อาจมีผลข้างเคียงหลังการรักษา เช่น มีแผลเป็น เกิดการติดเชื้อ เป็นต้น และต้องทำการรักษาโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

สรุป

กลิ่นตัวเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากต่อมเหงื่อและต่อมกลิ่นในร่างกาย กลิ่นตัวแรงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งต่อตัวเองและผู้คนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรเร่งหาสาเหตุ รวมไปถึงหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อไม่ให้ปัญหาเล็กๆ หรือจุดเริ่มต้นของปัญหานี้ กลายไปเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นในอนาคตได้

 ภาพจาก th.pngtree.com

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ต้อหิน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้