เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ต้อลม-ต้อเนื้อ


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://i1.wp.com/medicoapps.org/wp-cont...C315&ssl=1
อ่านแล้ว 11,360 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/05/2564
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ต้อลม (pinguecula) และต้อเนื้อ (pterygium) เป็นปัญหาทางตาที่พบบ่อย ไม่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้โดยตรง แต่มักก่อให้เกิดความรำคาญ เนื่องจากการระคายเคือง หรืออักเสบบริเวณที่มีการเกิดต้อขึ้น และหากต้อเนื้อนั้นลามเข้าไปถึงบริเวณรูม่านตา จะสามารถบดบังการมองเห็นได้ 
 
ภาพจาก : http://salujaeyecare.com/UserFiles/images/saluja-eyecare/pterygium-pinguecula-diff.jpg 
ต้อลม เป็นก้อนขนาดเล็กสีเหลืองขาว ที่ปกคลุมบริเวณตาขาว สามารถเกิดได้ทั้งบริเวณหัวตาและหางตาในลักษณะแนวนอน และมักเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้าง หากก้อนนี้ลุกลามเข้าไปถึงบริเวณกระจกตา (ตาดำ) จะเรียกว่า ต้อเนื้อ โดยมีสาเหตุมาจาก การเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจน (degeneration of collagen fibers) บริเวณเยื่อตา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสัมผัสแสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเรียกการเสื่อมของเส้นใยคอลลาเจนในลักษณะนี้ว่า “elastotic degeneration of collagen” รวมถึงการสัมผัสฝุ่นและควันเป็นระยะเวลานานเช่นกัน ส่วนปัจจัยเสริม ได้แก่ เพศชาย ตาแห้ง ยีนที่เกี่ยวข้องทำงานผิดปกติ เช่น ยีนของ p53 tumor suppressor เป็นต้น 
จากผลการศึกษาของ Singh และคณะปี ค.ศ. 2017 พบว่า ความชุกของการเกิดต้อเนื้อมักเกิดมากในประเทศกลุ่ม “pterygium belt” คืออยู่ตั้งแต่บริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตร 30 องศาถึง 30 องศาใต้เส้นศูนย์สูตร ดังนั้นประเทศไทยซึ่งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรจึงพบปัญหาต้อเนื้อได้บ่อยเช่นกัน 
อาการโดยทั่วไปของต้อลักษณะนี้จะทำให้ระคายเคืองตา อาจมีตาแดงบริเวณต้อหากมีอาการอักเสบเกิดขึ้น อาจทำให้การมองเห็นลดลงหากต้อเนื้อมีขนาดใหญ่จนบดบังบริเวณรูม่านตา และหากขนาดต้อเนื้อใหญ่มากอาจจะทำให้เกิดสายตาเอียงได้ 
การผ่าตัด หรือ “ลอก... ไม่ลอก” เป็นคำถามที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย เนื่องจากต้อเนื้อทำให้เกิดการระคายเคืองมาก และทำให้ไม่สวยงาม ทั้งนี้การผ่าตัดต้อเนื้อหรือลอกจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้ที่คนไข้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ดังนี้

  1. เกิดภาวะสายตาเอียงจากต้อเนื้อโดยตรง
  2. ต้อเนื้อทำให้บดบังการมองเห็น (เกิดการบดบังรูม่านตา)
  3. ต้อเนื้อทำให้เกิดการดึงรั้งจนไม่ผู้ป่วยสามารถกรอกตาได้ ส่วนเหตุผลอื่นจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น ด้านความสวยงาม การเกิดการอักเสบซ้ำ ๆ เป็นต้น

หากไม่ผ่าตัดหรือลอกต้อเนื้อ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการลุกลามของต้อเนื้อ เช่น หลีกเลี่ยงบริเวณที่แดดจัด หรือกลางแจ้ง ซึ่งผู้ป่วยอาจสวมแว่นกันแดดในการป้องกันได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน
  2. สังเกตต้อลมหรือต้อเนื้อของตนเอง หากมีอาการแดง อักเสบ ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา โดยส่วนใหญ่มักใช้กลุ่มยาที่ลดอาการแพ้และเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือด เช่น ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ antazoline และ tetrahydrozoline เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ยาหยอดตาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และเภสัชกร

สุดท้ายนี้หากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ” 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology
  2. Chumley, Heidi S, and Athena Andreadis. 2019. “Pterygium.” In The Color Atlas and Synopsis of Family Medicine, 3e, eds. Richard P Usatine, Mindy A Smith, Jr. Mayeaux E.J., and Heidi S Chumley. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  3. Yanoff, M, and Jay S Duker. 2018. Ophthalmology E-Book. Elsevier Health Sciences.
  4. Riordan-Eva, Paul. 2019. “Disorders of the Eyes & Lids.” In Current Medical Diagnosis & Treatment 2019, eds. Maxine A Papadakis, Stephen J McPhee, and Michael W Rabow. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  5. Singh, Sanjay Kumar. 2017. “Pterygium: Epidemiology Prevention and Treatment.” Community eye health 30(99): S5–6.
  6. Walls, Ron M, Robert S Hockberger, and Marianne Gausche-Hill. 2017. Rosen’s Emergency Medicine - Concepts and Clinical Practice E-Book. Elsevier Health Sciences.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ต้อลม-ต้อเนื้อ 1 วินาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 42 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้