เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา


กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://i.ndtvimg.com/i/2017-06/blood-pr...559443.jpg
อ่านแล้ว 94,800 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/07/2561
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yaf4u2le
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yaf4u2le
 

ผักเชียงดา Gymnema inodorum (Lour.) Decne. หรือผักจินดา ผักพื้นบ้านที่พบมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพืชในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเมื่อยังอ่อนมีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว ออกคู่ตรงกันข้าม ใบรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบโค้งสอบแคบโค้งมน หรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกจากซอกใบ ดอกย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมส้ม เกสรตัวผู้เป็นกระจุกแน่น ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลคล้ำ มี 2-3 เมล็ด (1) ใบอ่อนและยอดอ่อนของผักเชียงดาสามารถนำมาเป็นอาหาร ทั้งผักลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่ไข่ หรือใส่ในแกง

หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจผักเชียงดาของไทยมาก มีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมันจากผักเชียงดา ทั้งรูปของเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะนอกจากคำว่า gymnema มีรากศัพท์มาจากคำว่า “gurmar” ในภาษาฮินดู ซึ่งหมายถึงผู้ฆ่าน้ำตาลแล้ว ในผักเชียงดาพบสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ gymnemic acid (2) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล (3-7) ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก (8-11) นอกจากนี้ gymnemic acid ยังกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ที่บริเวณไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (islets of Langerhans) ในตับอ่อน กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง (12-16)
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าส่วนสกัดซาโปนินที่แยกที่ได้สารสกัด 75% เอทานอลของใบเชียงดา (17) และสารไตรเทอร์ปีนอยด์จากผักเชียงดา (18) สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งการนำกลูโคสจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test: OGTT) โดยป้อนสารนี้ให้แก่หนูแรทร่วมกับสารละลายกลูโคสขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 15 นาที และ 30 นาทีหลังการทดสอบตามลำดับ (17)
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครปกติ พบว่าเมื่อดื่มชาที่เชียงดา (มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล.) ทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ (19) และการรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน (19) อย่างไรก็ตามเมื่อทำการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ดื่มชาที่เตรียมจากใบเชียงดาแห้ง 1.2 ก. ชงในน้ำร้อน 150 มล. วันละ 3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร 15 นาที ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวานของชาเชียงดา (20)
จะเห็นได้ว่าการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดายังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน แต่ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น อีกทั้งผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีการรับประทานเป็นอาหารมาช้านาน และยังไม่ปรากฏรายงานความเป็นพิษจากการรับประทาน อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาแผนปัจจุบันและต้องการรับประทานผักเชียงดา ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะเสริมฤทธิ์กับยา จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
สามารถอ่านเรื่องฤทธิ์ลดน้ำตาลของผักเชียงดาและ Gymnema sylvestre เพิ่มเติม ได้ในจุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับ 34(4) กรกฏาคม 2560
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. มูลนิธิโครงการหลวง. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 2.เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง, 2552: 752 หน้า.
  2. Stoecklin W. Chemistry and physiological properties of gymnemic acid, the antisaccharine principle of the leaves of Gymnema sylvestre. J Agric Food Chem 1969;17(4):704-8.
  3. Meiselman HL, Halpern BP. Effects of Gymnema sylvestre on complex tastes elicited by amino acids and sucrose. Physiol Behav 1970;5(12):1379-84
  4. Riskey DR, Desor JA, VelluccI D. Effects of gymnenmic acid concentration and time since exposure on intensity of simple testes: a test of the biphasic model for the aciton of gymnemic acid. Chem Sens 1982;7(2):143-52
  5. Imoto T, Miyasaka A, Ishima R, et al. A novel peptide isolated from the leaves of Gymnema sylvestre I. Characterization and its suppressive effect on the neural responses to sweet taste stimuli in the rat. Comp Biochem Physiol, A: Comp Physiol 1991
  6. Keisuke S, Noriatsu S, Masafumi J, Seiji N, Toshiaki I, Yuzo N. Binding site for gymnemic acid at the sweet receptor hT1R2/hT1R3. Nippon Aji to Nioi Gakkaishi 2009;16(3):287-90.
  7. Hong L, Toshiaki I, Yasutake H. Effects of acarbose combined with gymnemic acid on maltose digestion and absorption. Shoka to Kyushu 1998;21(2):126-9.
  8. Shin-ichi Y, Toshiaki I, Michio M, Takeshi K, Ryuzo K, Yasutake H. Anti-diabetic effects of the extracts from the leaves of Gymnema sylvestre. Inhibitory effect of gymnemic acids on glucose absorption in the small intestine. Wakan Iyakugaku Zasshi (1996);13(4):300-3.
  9. Takaaki A. Effects of gymnemic acid, an inhibitory substance for intestinal glucose absorption, on blood glucose and serum insulin concentrations. Yonago Igaku Zasshi (1993), 44(2), 198-209.
  10. Tohru F, Ayako K, Toshiaki I, Kazuo I, Etsuro S. An extract of Gymnema sylvestre leaves and purified gymnemic acid inhibits glucose-stimulated gastric inhibitory peptide secretion in rats. J Nutrition 1992;122(12):2367-73.
  11. Wang Y, Dawid C, Kottra G, Daniel H, Hofmann T. Gymnemic acids inhibit sodium-dependent glucose transporter 1. J Agric Food Chem 2014;62(25):5925-31.
  12. Shanmugasundaram ER, Rajeswari G, Baskaran K, Rajesh Kumar BR, Radha Shanmugasundaram K, Kizar Ahmath B. Use of Gymnema sylvestre leaf extract in the control of blood glucose in insulin-dependent diabetes mellitus. J Ethnopharmacol. 1990;30(3):281-94.
  13. Bakrudeen Ali Ahmed A, Rao MV, Rao AS, Rosna Mat T. Optimization of gymnemic acid production with anti-diabetic studies and regeneration of Langerhans cells from Gymnema sylvestre. International Proceedings of Chemical, Biological & Environmental Engineering 2014;75(Biotechnology and Environment Management):77-82.
  14. Liu B, Asare-Anane H, Al-Romaiyan A, et al. Characterisation of the insulinotropic activity of an aqueous gxtract of Gymnema sylvestre in Mouse β-Cells and human Islets of Langerhans. Cellular Physiol Biochem 2009;23(1-3):125-132.
  15. Al-Romaiyan A, Liu B, Docherty R, Huang G-C, Amiel S, Persaud S J,Jones PM. Investigation of intracellular signalling cascades mediating stimulatory effect of a Gymnema sylvestre extract on insulin secretion from isolated mouse and human islets of Langerhans. Diabetes obesity metabolism 2012;14(12):1104-13.
  16. Mhaskar KS, Caius JF. A Study of Indian Medicinal Plants. II. Gymnema sylvestre, Bn. Indian J Medical Res 1930;17(16):1-50
  17. Shimizu K, Ozeki M, Tanaka K, Itoh K, Nakajyo S, Urakawa N, Atsuchi M. Suppression of glucose absorption by extracts from the leaves of Gymnema inodorum. The Journal of veterinary medical science (1997), 59(9), 753-7.
  18. Shimizu K, Ozeki M, Iino A, Shinjiro N, Norimoto U, Mikito A. Structure-activity relationships of triterpenoid derivatives extracted from Gymnema inodorum leaves on glucose absorption. Japanese J Pharmacol 2001;86(2):223-9.
  19. Chiabchalard A, Tencomnao T, Santiyanont R. Effect of Gymnema inodorum on postprandial peak plasma glucose levels in healthy human. African J Biotech 2010;9(7):1079-85.
  20. Bespinyowong R, Pongthananikorn S, Chiabchalard A. Efficacy and safety of Gymnema inodorum tea consumption in type 2 diabetic patients. Chula Med J 2013;57(5).

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้