Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นิยามหญิงวัยหมดประจำเดือน หรือหญิงวัยทอง (menopause) คืออะไร
Menopause มีรากศัพท์มาจาก “men” (month) และ “pausis” (cessation) หมายถึง การที่มีการขาดหายไปของเลือดประจำเดือนเกิดขึ้นติดต่อกัน 12 เดือน โดยเกิดภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ (natural menopause) โดยมักเกิดในอายุประมาณ 48-52 ปี หรือเกิดภาวะหมดประจำเดือนอย่างถาวรเนื่องจากการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออก (surgical menopause) และภาวะหมดประจำเดือนจากโรคหรือการใช้ยา เช่น โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือ จากการทำเคมีบำบัด (chemotherapy) ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่นอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้วอาจทำลายอาจทำลายรังไข่ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น (1,2)
พบว่าผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 45 หรือประมาณ 1.5 ล้านคนมีปัญหาจากอาการแสดงจากภาวะหมดประจำเดือน และร้อยละ 20 จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยมักมีอาการติดต่อกันนานเฉลี่ย 2-5 ปี หรือบางรายอาจเป็นได้นานถึง 12 ปี (2)
หญิงวัยหมดประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงอย่างไร
ตามแสดงในรูปที่ 1 ในแต่ละรอบเดือนจะมีการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงผ่านต่อมใต้สมอง (hypothalamus) ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมน GnRH ควบคุมให้ต่อมพิทูอิทารี (pituitary gland) หลั่งฮอร์โมน FSH และ LH กระตุ้นรังไข่ (ovary) ให้สร้างและหลั่งฮอร์โมนเอสโตรแจน (estrogen) และโปรเจสเตอโรน (progesterone) ซึ่งเมื่อหลั่งในปริมาณมากพอจะมีการหลั่งฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ควบคุมแบบย้อนกลับ (negative feedback) ยับยั้งของการทำงานของสมองส่วน hypothalamic ต่อไป
ขณะเกิดภาวะหมดประจำเดือนจะเกิดการขาดฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจน ซึ่งสร้างจากรังไข่ที่เกิดการเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น นอกจากนั้นมีฮอร์โมนชนิดอื่นที่มีปริมาณลดลง ได้แก่ ฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน (progesterone) และเทสโทสเตอโรน (testosterone) ขณะที่ฮอร์โมน follicle stimulating hormone (FSH) และ Luteinizing hormone (LH) มีปริมาณสูงขึ้น เป็นต้น
ภาวะหมดประจำเดือนส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
ภาวะหมดประจำเดือนก่อให้เกิดอาการแสดงหลายอย่าง อาการที่พบได้บ่อย และมีลักษณะเฉพาะเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของวัยหมดประจำเดือน ได้แก่ อาการที่ทางการแพทย์มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า “vasomotor symptoms” ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลำตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับ อาการอื่น ได้แก่ เหงื่อออก หนาวสั่น ลำตัวเย็นชื้น วิตกกังวล หรือใจสั่นได้ อาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการนอนหลับได้ โดยมักเกิดขึ้นได้ก่อนเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนหรือเกิดหลังหมดประจำเดือน นานแตกต่างกันแล้วแต่บุคคลได้นานระหว่าง 2-10 ปี นอกจากนั้นอาจเกิดปัญหาทางระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอดแห้ง ติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ รวมทั้งอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และกระดูก เป็นต้น
ผลสืบเนื่องระยะยาว (5-10 ปี) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งจะเกิดภาวะกระดูกเปราะหักง่าย แม้เพียงอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นอาจเกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไขมันในเลือดสูง ความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น (1-3)
วิธีการใดใช้วินิจฉัยภาวะหมดประจำเดือน
สามารถสังเกตุจากอาการคือ หญิงอายุมากกว่า 45 ปี และไม่มีเลือดประจำเดือนติดต่อกันนานตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป (1,2) และสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนในเลือด โดยระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกการเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนที่สำคัญ ได้แก่ ระดับ FSH ที่สูงขึ้น และเอสโตรเจนชนิด estradiol (E2) ที่ลดลง เป็นต้น (3)
ปัจจัยใดที่ทำให้หมดประจำเดือนเร็วขึ้น
ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าปัจจัยใดส่งผลต่อการหมดประจำเดือน การศึกษาโดย Bae และคณะ (4) พบว่า การสูบบุหรี่ (สัมพันธ์กับปริมาณและระยะเวลาที่สูบ) ภาวะอ้วน และความเครียด มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการหมดประจำเดือนเร็วขึ้น นอกจากนั้น ภาวะโภชนาการบกพร่อง การมีรูปร่างผอม การผ่าตัดมดลูกออก (hysterectomy) และ พันธุกรรมมีรายงานความสัมพันธ์กับการหมดประจำเดือนเร็วขึ้นด้วย (3)
ยาชนิดใดใช้รักษาอาการที่เกิดในหญิงหมดประจำเดือน
การรักษาแบบใช้ยา (pharmacologic therapy) ได้แก่
ผลของฮอร์โมนทดแทนในการรักษาอาการที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน
ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน (ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนทดแทน) จัดว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (1st choice) ในการรักษาอาการร้อนวูบวาบ และอารมณ์แปรปรวนจากภาวะหมดประจำเดือน ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอด ช่วยส่งผลรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยใช้ฮอร์โมนชนิดรวม (เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน) ในผู้ที่มียังไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออก และใช้เฉพาะฮอร์โมนชนิดเอสโตรเจนเดี่ยว ในผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว (hysterectomy) (1-3) และนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบแล้ว ผลระยะยาวมีผลป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนอีกด้วย
ฮอร์โมนทดแทนจำเป็นสำหรับใคร
ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์กับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนทุกคนจำเป็นต้องใช้ โดยบุคคลที่ควรใช้ได้แก่หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการเนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยหากมีอาการเพียงเล็กน้อย ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ และอาการแสดงต่างๆจะทุเลาไปเอง โดยเฉพาะในหญิงหมดประจำเดือนที่มีสุขภาพกายและใจแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมนทดแทน
ใครไม่ควรใช้ฮอร์โมนทดแทน
หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ควรใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างเด็ดขาด ได้แก่ ผู้ที่เป็นมะเร็งหรือเนื้องอก หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ผู้ที่เคยเป็นหรือสงสัยมะเร็งมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ (venous thrombosis) ผู้ที่เป็นโรคตับเฉียบพลัน ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น (1-3)
โดยสามารถหากจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการจากภาวะหมดประจำเดือน สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนและใช้ยาที่ระบุในข้อ 6.2 ในการรักษาแทนได้ ทั้งนี้ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง การรักษาต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น
ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนมีรูปแบบอะไรบ้าง
ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน มีหลายรูปแบบ เช่น แบบชนิดเม็ดรับประทาน ช่วยบรรเทาอาการ ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ปวดกล้ามเนื้อ และลดปัญหาเกี่ยวข้องกับทางเพศ และยังมีรูปแบบอื่นให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น แผ่นแปะ เจลทาเฉพาะที่ เป็นต้น โดยยารูปแบบทาเฉพาะที่ช่วยบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอด (urogenital symptoms) เช่น ช่องคลอดแห้งและคัน เป็นต้น
ฮอร์โมนทดแทนก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร
ผู้ใช้ยาขณะที่บางคนเกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ คัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดศีรษะไมเกรน กรณีใช้ฮอร์โมนแบบแปะผิวหนังพบว่าอาจมีการระคายเคืองได้ในผู้ป่วยบางราย กรณีใช้ฮอร์โมนแบบสอดทางช่องคลอดอาจก่อให้เกิดอาการคันช่องคลอด หรือมีสารคัดหลั่งทางช่องคลอดมาก เป็นต้น นอกจากนั้นความเสี่ยงอื่นที่อาจพบได้แก่ ภาวะเลือดออกในช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ (unscheduled vaginal bleeding) ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (venous thromboembolism: VTE) ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน (stroke) ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม เป็นต้น และมีการศึกษาพบว่าการใช้ฮอร์โมนทดแทนรูปแบบแผ่นแปะ และแบบครีมหรือเจลทาเฉพาะที่ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้ต่ำกว่าแบบยาเม็ดรับประทาน ขณะที่บางคนไม่พบอาการข้างเคียงจากยา (2)
วิธีปฏิบัติตนขณะที่ได้รับการรักษาโดยฮอร์โมนทดแทน
เนื่องจากฮอร์โมนทดแทน มีทั้งประโยชน์และอาจเกิดโทษหากใช้อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นไม่ควรหาซื้อฮอร์โมนทดแทนมารับประทานเอง ต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายและวินิจฉัยความเหมาะสมในการใช้เท่านั้น ขณะใช้ฮอร์โมนทดแทนควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรมีการตรวจสุขภาพระหว่างรับประทานยาร่วมด้วย อย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี (2)
มีวิธีการอื่นในการรักษาอาการจากภาวะหมดประจำเดือนหรือไม่
สามารถรักษาได้โดยไม่ใช้ยา (non-pharmacologic therapy) โดยทำการปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยง ต่างๆ เช่น พยายามไม่ให้หกล้มเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกหัก การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มสุรา พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมและเลือกชนิดการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง การสัมผัสแสงแดดอ่อนๆเพื่อให้ได้รับวิตามิน ดี (Vitamin D) อย่างน้อย 800-1,000 U ต่อวัน และ ควรรับประทานแคลเซียมเสริม ในปริมาณ 1,000-1,200 มก. เป็นต้น (1,2)