เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หน้ากากอนามัยกับโควิด-19


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.abc.net.au/news/image/120258...00x467.jpg
อ่านแล้ว 9,887 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/04/2563
อ่านล่าสุด 11 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) หรือโคโรน่าไวรัส-2019 หน้ากากอนามัย (Face mask) เป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask หรือ Medical mask) ทั่วโลก รวมถึงมีข้อแนะนำที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความสับสนว่าในสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อนี้ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ควรหรือไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย หากควร ควรใส่หน้ากากแบบใดและอย่างไร 
วิธีการแพร่กระจาย (Mode of transmission) ของเชื้อโควิด-19 
เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory transmission) ได้จากการสูดเอาฝอยละอองของเชื้อ (Droplet) ที่มีอนุภาค 5-10 ไมครอน ที่มีอยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย ของผู้ที่มีเชื้อ โดยฝอยละอองนี้จะสามารถแพร่จากการอยู่ใกล้ๆ ผู้ที่มีเชื้อ(ระยะ 1 เมตร) นอกจากนั้นเชื้อยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเหล่านั้นแล้วนำมาสัมผัสบริเวณ จมูก ปากและตา (Contact transmission)1 
ชนิดของหน้ากากอนามัย (Face mask)

  1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask หรือ Medical mask)2,3 การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์อย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ (Large-particle droplets) ไม่ให้เข้าสู่ปากและจมูกของผู้ใส่ นอกจากนั้นยังจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมูก น้ำลายของผู้ใส่ (ซึ่งอาจมีเชื้อโรค) กระเด็นออกไปโดนหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น อย่างไรก็ตามแผ่นกรองของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็ก เช่น เชื้อโรคบางชนิด รวมถึงเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นช่องว่างระหว่างหน้ากากและผิวหน้าซึ่งไม่ได้แนบกันสนิทจะทำให้อนุภาคเล็กๆ และเชื้อโรคยังคงผ่านหน้ากากเข้ามาได้ 
  2. หน้ากากอนามัยชนิด N952,3 ( ตัว N ย่อมาจาก "not resistant to oil" คือ ไม่ทนต่อน้ำมัน และ 95 หมายถึง ความสามารถในกรองฝุ่นละอองที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ไม่น้อยกว่า 95%) หน้ากากชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการกรองสูงกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยสามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าได้ นอกจากนี้ยังเป็นหน้ากากที่เมื่อใส่แล้วจะแนบสนิทกับใบหน้า ในการใส่หน้ากากชนิดนี้จะต้องใส่ให้ถูกวิธีโดยจะต้องมีการทำ Fit test ซึ่งเป็นการทดสอบการแนบสนิทของหน้ากากกับใบหน้าซึ่งถ้าแนบสนิทจะไม่มีการรั่วของลมหายใจ ทั้งนี้การใส่หน้ากาก N95 ที่ไม่ถูกวิธีจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตามในการใส่หน้ากากชนิดนี้จะทำให้หายใจลำบาก จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากชนิดนี้ในประชาชนทั่วไปโดยแนะนำให้ใช้ในบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากชนิด N95 พบว่าทั้งสองชนิดเหมือนกันในแง่ที่ กันน้ำได้ (fluid resistant) ควรใช้ครั้งเดียวและไม่นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ร่วมกับผู้อื่น3 อย่างไรก็ตามในแง่ของประสิทธิภาพ พบว่าหน้ากากชนิด N95 สามารถป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไวรัส พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน4,5 
ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือไม่ 
ในปัจจุบันหลายประเทศในเอเซีย6,7 เช่น จีน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยได้มีข้อแนะนำให้ประชาชนไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่มีอาการป่วยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หรือ เมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น อย่างไรก็ตามข้อแนะนำในประเทศตะวันตก3,8-10 เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก11 กล่าวคือ ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี (ไม่ป่วย) ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 (ข้อสังเกต: คำว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพมีความหมายแตกต่างจากคำว่าพบหลักฐานยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ) นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประชาชนที่มีสุขภาพดี/ไม่มีอาการ คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข2 
แม้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในประชากรทั่วไปซึ่งไม่มีอาการ ยังมีจำกัด แต่ในกรณีของการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีลักษณะพิเศษกล่าวคือผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อออกจากบ้านจึงน่าจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในชุมชนได้ 12,13 โดยเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวมากกว่าจะเป็นการป้องกันตัวผู้ที่ใส่หน้ากากจากการติดเชื้อจากผู้อื่น นอกจากนั้นข้อดีของการที่ให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน คือทำให้ลดความรังเกียจผู้ที่ใส่หน้ากาก เพราะทุกๆ คนใส่หน้ากากเหมือนๆ กัน12,14 อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ควรมีการจัดหาและกระจายหน้ากากดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีความจำเป็นอย่างมากให้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน รวมถึงควรมีการจัดหาให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ก่อนที่จะจัดหาให้กับประชากรทั่วไป 
ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ถ้าหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่ได้ จะใส่หน้ากากผ้าแทนได้หรือไม่? 
ในปัจจุบันการศึกษาถึงประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าในการป้องกันการติดเชื้อยังมีจำกัด โดยมีเพียง 1 การศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการใช้หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งทำการศึกษาในบุคลากรทางสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล15 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ต่ำกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และไม่ควรนำมาใช้ในบุคลการสาธารณสุข นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพน้อยมากในการกรองอนุภาคที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน16 โดยประสิทธิภาพของหน้ากากผ้ายังมีความหลากหลายขึ้นกับชนิดของผ้าที่นำมาทำหน้ากาก17 
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการระบาดและมีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากผ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนซึ่งมีราคาไม่แพงและหาได้ไม่ยาก ทั้งนี้แม้ข้อมูลที่มีจำกัดจะระบุว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ใส่จากการติดเชื้อจากผู้อื่นได้น้อยกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่การใส่หน้ากากผ้าก็ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายละอองเชื้อจากผู้ใส่ไปยังผู้อื่นได้ดีกว่าการไม่ใส่18 ดังนั้นในกรณีที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลน การให้ประชาชนที่ไม่มีอาการใดๆ (ซึ่งอาจติดเชื้อโควิด-19) ใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น จึงน่าจะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้อีกวิธีหนึ่ง 
สรุปข้อแนะนำในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

  1. บุคลกากรสาธารณสุข ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  2. ผู้ที่มีอาการป่วย และผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากผ้า (หากไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้) เพื่อป้องกันการแพร่/ติดเชื้อ
  3. หน้ากากชนิด N95 ควรใช้เฉพาะในบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น
  4. หากไม่มีการขาดแคลน การให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น น่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการขาดแคลน ควรมีการกระจายหน้ากากให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังให้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน
  5. ในกรณีที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ประชาชนที่ไม่มีอาการควรใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น เพื่อลดการแพร่เชื้อให้กับผู้อี่นโดยไม่รู้ตัว
  6. การใส่และถอดหน้ากากอนามัยควรทำอย่างถูกวิธีดังนี้
    • ก่อนใส่ต้องล้างมือด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือถ้าไม่มีให้ใช้น้ำยาที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60%
    • เวลาใส่ต้องใส่ให้ครอบคลุมปากและจมูกและไม่มีช่องว่างระหว่างหน้ากับหน้ากาก
    • ขณะสวมใส่ไม่เอามือไปแตะหน้ากากหากแตะต้องไปล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
    • ถ้าหน้ากากชื้น หรือ ฉีกขาดให้เปลี่ยนใหม่
    • ขณะถอดไม่ให้เอามือมาจับด้านหน้าของหน้ากากและเมื่อถอดเสร็จแล้วนำไปทิ้งในภาชนะปิดทันทีแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
  7. การใส่หน้ากากอย่างเดียวยังไม่เพียงพอเพราะเชื้อโควิด-19 ยังสามารถแพร่กระจายจากการสัมผัส ดังนั้นจึงควรล้างมือบ่อยๆ ควบคู่ไปกับการใส่หน้ากาก
  8. การล้างมือต้องล้างอย่างถูกวิธี โดยล้างนานอย่างน้อย 20 วินาที หรือนานเท่ากับการร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบ ดังตัวอย่างในคลิป https://www.nhs.uk/video/pages/how-to-wash-hands.aspx
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. WHO. Modes of transmission of virus causing COVID-19: implications for IPC precaution recommendations 2002 [Available from: https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/modes-of-transmission-of-virus-causing-covid-19-implications-for-ipc-precaution-recommendations accessed 1 April 2020.
  2. Desai AN, Mehorata P. Medical mask. JAMA 2020
  3. USFDA. N95 Respirators and surgical masks (face masks) [Available from: https://www.fda.gov/medical-devices/personal-protective-equipment-infection-control/n95-respirators-and-surgical-masks-face-masks accessed 31 March 2020
  4. Long Y, Hu T, Liu L, et al. Effectiveness of N95 respirators versus surgical masks against influenza: A systematic review and meta-analysis. J Evid Based Med 2020;Mar 13. doi: doi: 10.1111/jebm.12381
  5. Offeddu V, Yung CF, Fong Low MS, et al. Effectiveness of masks and respirators against respiratory infections in healthcare workers: A systematic review and meta-analysis. Clinical Infectious Diseases 2017;65(1):1934-42.
  6. State Council C. Guidelines for the selection and use of different types of masks for preventing new coronavirus infection in different populations 2020 (in Chinese) 2020 [Available from: http://www.gov.cn/xinwen/2020-02/05/content_5474774.htm accessed 30 March 2020.
  7. The Department of Health HK. Guidelines on prevention of coronavirus disease 2019 (COVID-19) for the general public. 2020 [Available from: https://www.chp.gov.hk/files/pdf/nid_guideline_general_public_en.pdf accessed 30 March 2020.
  8. CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19): steps to prevent illness 2020 [Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/about/preventiontreatment.html. accessed 30 March 2020.
  9. Federal Ministry of Health G. Daily updates on the coronavirus: is wearing a surgical mask, as protection against acute respiratory infections, useful for members of the general public? 2020 [Available from: https://www.bundesgesundheitsministerium.de/en/press/2020/coronavirus.html accessed 30 March 2020.
  10. Service NH. Are face masks useful for preventing coronavirus? 2020 [Available from: https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/commonquestions/ accessed 30 March 2020.
  11. WHO. WHO Coronavirus disease (COVID-19) advice for the public: When and how to use masks 2020 [Available from: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/when-and-how-to-use-masks accessed 31 March 2020.
  12. Feng S, Shen C, Xia N, et al. Rational use of face maks in the COVID-19 Pandemic. Lancet Respir Med 2020;March 20, doi: https://doi.org/10.1016/S2213-2600(20)30134-X
  13. Leung CC, Lam TH, Chen KK. Mass masking in the COVID-10 epidemic: people need guidance. Lancet Respir Med 2020 doi: https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)30520-1
  14. Teasdale E, Santer M, Geraghty AW, et al. Public perceptions of non-pharmaceutical interventions for reducing transmission of respiratory infection: systematic review and synthesis of qualitative studies. BMC Public Health 2014;14(589)
  15. MacIntyre CR, Seale H, Dung TC, et al. A cluster randomised trial of cloth masks compared with medical masks in healthcare workers. BMJ Open 2015:e006577.
  16. Shakya KM, Noyes A, Kallin R, et al. Evaluating the efficacy of cloth facemasks in reducing particulate matter exposure. J Expo Sci Environ Epidemiol 2017;27(3):352-57.
  17. Rengasamy S, Eimer B, Shaffer RE. Simple respiratory protection—evaluation of the filtration performance of cloth masks and common fabric materials against 20-1000 nm size particles. Ann Occupat Hyg 2010;54:789-98.
  18. Davies A, Thompson K, Giri K, et al. Testing the Efficacy of Homemade Masks: WouldThey Protect in an Influenza Pandemic? Disaster Medicine and Public Health Preparedness 2013 doi: CJO 2013 doi:10.1017/dmp.2013.43
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้