Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) หรือโคโรน่าไวรัส-2019 หน้ากากอนามัย (Face mask) เป็นหนึ่งในเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask หรือ Medical mask) ทั่วโลก รวมถึงมีข้อแนะนำที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความสับสนว่าในสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อนี้ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วยใดๆ ควรหรือไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย หากควร ควรใส่หน้ากากแบบใดและอย่างไร
วิธีการแพร่กระจาย (Mode of transmission) ของเชื้อโควิด-19
เชื้อโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory transmission) ได้จากการสูดเอาฝอยละอองของเชื้อ (Droplet) ที่มีอนุภาค 5-10 ไมครอน ที่มีอยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย ของผู้ที่มีเชื้อ โดยฝอยละอองนี้จะสามารถแพร่จากการอยู่ใกล้ๆ ผู้ที่มีเชื้อ(ระยะ 1 เมตร) นอกจากนั้นเชื้อยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเหล่านั้นแล้วนำมาสัมผัสบริเวณ จมูก ปากและตา (Contact transmission)1
ชนิดของหน้ากากอนามัย (Face mask)
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากชนิด N95 พบว่าทั้งสองชนิดเหมือนกันในแง่ที่ กันน้ำได้ (fluid resistant) ควรใช้ครั้งเดียวและไม่นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ร่วมกับผู้อื่น3 อย่างไรก็ตามในแง่ของประสิทธิภาพ พบว่าหน้ากากชนิด N95 สามารถป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไวรัส พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน4,5
ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์หรือไม่
ในปัจจุบันหลายประเทศในเอเซีย6,7 เช่น จีน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยได้มีข้อแนะนำให้ประชาชนไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่มีอาการป่วยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน หรือ เมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น อย่างไรก็ตามข้อแนะนำในประเทศตะวันตก3,8-10 เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก11 กล่าวคือ ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี (ไม่ป่วย) ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 (ข้อสังเกต: คำว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพมีความหมายแตกต่างจากคำว่าพบหลักฐานยืนยันว่าไม่มีประสิทธิภาพ) นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่หน่วยงานต่างๆ ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประชาชนที่มีสุขภาพดี/ไม่มีอาการ คือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับบุคลากรสาธารณสุข2
แม้ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในประชากรทั่วไปซึ่งไม่มีอาการ ยังมีจำกัด แต่ในกรณีของการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีลักษณะพิเศษกล่าวคือผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อออกจากบ้านจึงน่าจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในชุมชนได้ 12,13 โดยเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวมากกว่าจะเป็นการป้องกันตัวผู้ที่ใส่หน้ากากจากการติดเชื้อจากผู้อื่น นอกจากนั้นข้อดีของการที่ให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน คือทำให้ลดความรังเกียจผู้ที่ใส่หน้ากาก เพราะทุกๆ คนใส่หน้ากากเหมือนๆ กัน12,14 อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ควรมีการจัดหาและกระจายหน้ากากดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีความจำเป็นอย่างมากให้มีใช้อย่างเพียงพอก่อน รวมถึงควรมีการจัดหาให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ก่อนที่จะจัดหาให้กับประชากรทั่วไป
ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วย ถ้าหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่ได้ จะใส่หน้ากากผ้าแทนได้หรือไม่?
ในปัจจุบันการศึกษาถึงประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าในการป้องกันการติดเชื้อยังมีจำกัด โดยมีเพียง 1 การศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อระหว่างการใช้หน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ซึ่งทำการศึกษาในบุคลากรทางสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล15 ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ต่ำกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และไม่ควรนำมาใช้ในบุคลการสาธารณสุข นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพน้อยมากในการกรองอนุภาคที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน16 โดยประสิทธิภาพของหน้ากากผ้ายังมีความหลากหลายขึ้นกับชนิดของผ้าที่นำมาทำหน้ากาก17
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการระบาดและมีการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากผ้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนซึ่งมีราคาไม่แพงและหาได้ไม่ยาก ทั้งนี้แม้ข้อมูลที่มีจำกัดจะระบุว่าหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ใส่จากการติดเชื้อจากผู้อื่นได้น้อยกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่การใส่หน้ากากผ้าก็ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายละอองเชื้อจากผู้ใส่ไปยังผู้อื่นได้ดีกว่าการไม่ใส่18 ดังนั้นในกรณีที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลน การให้ประชาชนที่ไม่มีอาการใดๆ (ซึ่งอาจติดเชื้อโควิด-19) ใส่หน้ากากผ้าเมื่อต้องออกจากบ้านโดยเฉพาะเมื่อต้องไปในที่ชุมชนหนาแน่น จึงน่าจะเป็นการช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้อีกวิธีหนึ่ง
สรุปข้อแนะนำในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19