Eng |
แจ้งงดให้บริการเว็บไซต์ เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของอาคาร
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 ม.ค. 2568 เวลา 17.00 น.
ถึงวันจันทร์ที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 08.00 น.
ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้
อาจารย์ ดร.ถาวรีย์ ถิละเวช ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
น้ำตาลเป็นส่วนผสมหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้อาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวถูกปากและถูกใจใครหลายคน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริง รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชาซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 4.7 เท่า ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุก กาแฟเย็น ชาเย็น นมเย็น เป็นต้น มีการสำรวจเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในย่านร้านค้าใจกลางเมือง พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว ก็ได้รับน้ำตาลมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (1) การบริโภคน้ำตาลสูงไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาวิจัยยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับเฉพาะเซลล์ผิวหนังเราเท่านั้น ภาวะแก่ก่อนวัยดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับเซลล์บริเวณอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย (2, 3)
น้ำตาลสัมพันธ์กับความแก่อย่างไร?
ผิวหนังของเรามีโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นองค์ประกอบหลักอยู่รวมกันเป็นลักษณะโครงข่ายช่วยให้ผิวของเรามีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ในกรณีที่เราบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (4) น้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเกิดเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Advanced glycation end products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยนั่นเอง กระบวนการดังกล่าวเรียกว่ากระบวนการไกลเคชั่น (glycation) หรือหลายคนอาจรู้จักในชื่อปฏิกิริยาเมลลาร์ด (Maillard reaction) เมื่อ AGEs เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังจะส่งผลให้โปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเสื่อมสภาพและสะสมอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดการหย่อนคล้อย โดยทั่วไปการสะสมของ AGEs บริเวณผิวหนังจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุอยู่แล้ว (5) แต่กระบวนการดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดได้เร็วและมากขึ้นเมื่อเราบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยทั่วไปร่างกายของเรามีกลไกในการทำลายโปรตีนที่เสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตามการศึกษาในระดับเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยงพบว่า AGEs สามารถยับยั้งการทำงานกลไกดังกล่าวทำให้มีการสะสมของโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินที่เสื่อมสภาพได้อย่างไม่จำกัด (6) นอกจากนี้ AGEs ยังสามารถกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระและสารก่อการอักเสบซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนังและยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ (7) การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถลดการเกิด AGEs ในโปรตีนคอลลาเจนได้ถึง 25% ภายในเวลา 4 สัปดาห์ (3) การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้หญิง 4,025 คน ช่วงอายุ 40 – 74 ปี พบว่าการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีสัดส่วนปริมาณน้ำตาลสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยตีนกาบนใบหน้า รวมถึงทำให้ผิวหนังบาง ซึ่งเป็นลักษณะผิวหนังที่พบในผู้สูงอายุ (8)
นอกจากการสร้าง AGEs ในโครงสร้างของผิวหนังแล้ว น้ำตาลยังเกี่ยวข้องภาวะการแก่ของเซลล์อื่นๆ ในร่างกายด้วย ตัวบ่งชี้ที่สำคัญของภาวะเซลล์แก่คือความยาวของเทโลเมียร์ (Telomeres) ซึ่งอยู่ที่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม (chromosome) ทำหน้าที่ป้องกันสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ในโครโมโซมจากการถูกทำลาย ความยาวของเทโลเมียร์จะแปรผกผันกับอายุ กล่าวคือยิ่งอายุมากขึ้นเทโลเมียร์ยิ่งสั้นและเป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความผิดปกติ (9)
อัตราการเร็วในการหดสั้นของเทโลเมียร์ในแต่ละคนจะแตกต่างกัน รายงานการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงสามารถเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ให้เร็วขึ้น (10) ในปี 2014 มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มรสหวานกับความยาวของเทโลเมียร์ในผู้บริโภค 5,309 คน ที่ดื่มรสเครื่องดื่มหวานเป็นประจำ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมมีแนวโน้มที่จะมีขนาดของเทโลเมียร์หดสั้นลง ในขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำผลไม้เข้มข้น 100% มีแนวโน้มของขนาดเทโลเมียร์ที่ยาวกว่า ส่วนการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีผลต่อความยาวของเทโลเมียร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่าการดื่มอัดลมประมาณ 2 กระป๋อง (600 มิลลิลิตร) ต่อวัน อาจทำให้อายุไขของเราสั้นลงได้ถึง 4.6 ปีเลยทีเดียว (11) อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาที่สามารถอธิบายถึงกลไกของการบริโภคน้ำตาลสูงต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้อย่างแน่ชัด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาจช่วยชะลอการเกิดผิวหย่อนคล้อยจากการป้องกันการเกิด AGEs และชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ซึ่งเป็นสาเหตุการแก่ของเซลล์ ทำให้เราดูอ่อนเยาว์จากภายในสู่ภายนอก