เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำตาลทำให้แก่เร็ว..จริงหรือไม่


อาจารย์ ดร.ถาวรีย์ ถิละเวช ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://thenypost.files.wordpress.com/20...410&crop=1
อ่านแล้ว 42,423 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 13/09/2562
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


น้ำตาลเป็นส่วนผสมหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้อาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวถูกปากและถูกใจใครหลายคน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริง รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชาซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 4.7 เท่า ส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชานมไข่มุก กาแฟเย็น ชาเย็น นมเย็น เป็นต้น มีการสำรวจเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในย่านร้านค้าใจกลางเมือง พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มหวานเพียง 1 แก้ว ก็ได้รับน้ำตาลมากกว่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน (1) การบริโภคน้ำตาลสูงไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาวิจัยยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับเฉพาะเซลล์ผิวหนังเราเท่านั้น ภาวะแก่ก่อนวัยดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับเซลล์บริเวณอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย (2, 3) 
น้ำตาลสัมพันธ์กับความแก่อย่างไร? 
ผิวหนังของเรามีโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นองค์ประกอบหลักอยู่รวมกันเป็นลักษณะโครงข่ายช่วยให้ผิวของเรามีความแข็งแรงและยืดหยุ่น ในกรณีที่เราบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้นเช่นเดียวกัน (4) น้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเกิดเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Advanced glycation end products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยนั่นเอง กระบวนการดังกล่าวเรียกว่ากระบวนการไกลเคชั่น (glycation) หรือหลายคนอาจรู้จักในชื่อปฏิกิริยาเมลลาร์ด (Maillard reaction) เมื่อ AGEs เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังจะส่งผลให้โปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเสื่อมสภาพและสะสมอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดการหย่อนคล้อย โดยทั่วไปการสะสมของ AGEs บริเวณผิวหนังจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุอยู่แล้ว (5) แต่กระบวนการดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดได้เร็วและมากขึ้นเมื่อเราบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง โดยทั่วไปร่างกายของเรามีกลไกในการทำลายโปรตีนที่เสื่อมสภาพ อย่างไรก็ตามการศึกษาในระดับเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยงพบว่า AGEs สามารถยับยั้งการทำงานกลไกดังกล่าวทำให้มีการสะสมของโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินที่เสื่อมสภาพได้อย่างไม่จำกัด (6) นอกจากนี้ AGEs ยังสามารถกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระและสารก่อการอักเสบซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนังและยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ (7) การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถลดการเกิด AGEs ในโปรตีนคอลลาเจนได้ถึง 25% ภายในเวลา 4 สัปดาห์ (3) การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้หญิง 4,025 คน ช่วงอายุ 40 – 74 ปี พบว่าการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีสัดส่วนปริมาณน้ำตาลสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดรอยตีนกาบนใบหน้า รวมถึงทำให้ผิวหนังบาง ซึ่งเป็นลักษณะผิวหนังที่พบในผู้สูงอายุ (8) 
นอกจากการสร้าง AGEs ในโครงสร้างของผิวหนังแล้ว น้ำตาลยังเกี่ยวข้องภาวะการแก่ของเซลล์อื่นๆ ในร่างกายด้วย ตัวบ่งชี้ที่สำคัญของภาวะเซลล์แก่คือความยาวของเทโลเมียร์ (Telomeres) ซึ่งอยู่ที่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม (chromosome) ทำหน้าที่ป้องกันสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ในโครโมโซมจากการถูกทำลาย ความยาวของเทโลเมียร์จะแปรผกผันกับอายุ กล่าวคือยิ่งอายุมากขึ้นเทโลเมียร์ยิ่งสั้นและเป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความผิดปกติ (9) 
 
อัตราการเร็วในการหดสั้นของเทโลเมียร์ในแต่ละคนจะแตกต่างกัน รายงานการศึกษาพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงสามารถเร่งการหดสั้นของเทโลเมียร์ให้เร็วขึ้น (10) ในปี 2014 มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มรสหวานกับความยาวของเทโลเมียร์ในผู้บริโภค 5,309 คน ที่ดื่มรสเครื่องดื่มหวานเป็นประจำ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมมีแนวโน้มที่จะมีขนาดของเทโลเมียร์หดสั้นลง ในขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำผลไม้เข้มข้น 100% มีแนวโน้มของขนาดเทโลเมียร์ที่ยาวกว่า ส่วนการดื่มน้ำอัดลมที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีผลต่อความยาวของเทโลเมียร์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่าการดื่มอัดลมประมาณ 2 กระป๋อง (600 มิลลิลิตร) ต่อวัน อาจทำให้อายุไขของเราสั้นลงได้ถึง 4.6 ปีเลยทีเดียว (11) อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาที่สามารถอธิบายถึงกลไกของการบริโภคน้ำตาลสูงต่อการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้อย่างแน่ชัด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต 
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาจช่วยชะลอการเกิดผิวหย่อนคล้อยจากการป้องกันการเกิด AGEs และชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ซึ่งเป็นสาเหตุการแก่ของเซลล์ ทำให้เราดูอ่อนเยาว์จากภายในสู่ภายนอก 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Suvetwethin D. เครื่องดื่มน้ำหวานความอร่อยเคลือบยาพิษ [Internet]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2559]. เข้าถึงได้จาก http://www.thaihealth.or.th/Content/34048-เครื่องดื่มน้ำหวานความอร่อยเคลือบยาพิษ.
  2. Danby FW. Nutrition and aging skin: sugar and glycation. Clin Dermatol. 2010;28(4):409-11.
  3. Draelos ZD. Aging skin: the role of diet: facts and controversies. Clin Dermatol. 2013;31(6):701-6.
  4. Urbach E, Lentz JW. Carbohydrate metabolism and the skin. Arch Derm Syphilol. 1945;52:301-16.
  5. Fournet M, Bonte F, Desmouliere A. Glycation Damage: A Possible Hub for Major Pathophysiological Disorders and Aging. Aging Dis. 2018;9(5):880-900.
  6. Pageon H, Zucchi H, Pennacchi PC, Asselineau D. Glycation and skin aging. In: Farage MA, Miller KW, Maibach HI, editors. Textbook of aging skin. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg; 2017. p. 1247-70.
  7. Gkogkolou P, Bohm M. Advanced glycation end products: Key players in skin aging? Dermatoendocrinol. 2012;4(3):259-70.
  8. Cosgrove MC, Franco OH, Granger SP, Murray PG, Mayes AE. Dietary nutrient intakes and skin-aging appearance among middle-aged American women. Am J Clin Nutr. 2007;86(4):1225-31.
  9. Boccardi V, Paolisso G, Mecocci P. Nutrition and lifestyle in healthy aging: the telomerase challenge. Aging. 2016;8(1):12-5.
  10. Lee D, Hwang W, Artan M, Jeong DE, Lee SJ. Effects of nutritional components on aging. Aging cell. 2015;14(1):8-16.
  11. Leung CW, Laraia BA, Needham BL, Rehkopf DH, Adler NE, Lin J, et al. Soda and cell aging: associations between sugar-sweetened beverage consumption and leukocyte telomere length in healthy adults from the National Health and Nutrition Examination Surveys. Am J Public Health. 2014;104(12):2425-31.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ท้องผูกจากยา 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้