Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมีแนวคิดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของอายุรเวทของอินเดีย จะเห็นได้จากศัพท์แพทย์เป็นภาษาบาลี สันสกฤต โดยที่มองว่าระบบการทำงานของร่างกายนั้น มี 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบวาตะ ปิตตะ และ เสมหะหรือคัพภะ หรือไตรโดชา (Tri Dosha) โดยระบบวาตะเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนภายในร่างกาย รวมถึงระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบการเคลื่อนขึ้นหรือลงภายในร่างกาย ระบบหายใจ เป็นต้น ระบบปิตตะ เกี่ยวข้องกับระบบการย่อยอาหาร กระบวนการแยกสลาย (catabolism) ระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ความเสื่อมชรา เป็นต้น ระบบเสมหะ เกี่ยวข้องกับระบบหล่อลื่น ระบบเอนไซม์ ระบบภูมิคุ้มกัน กระบวนการสร้าง (anabolism) เป็นต้น
ร่างกายประกอบด้วยธาตุรูป 4 ชนิด คือ ปถวีธาตุ 20 ประการ อาโปธาตุ 12 ประการ วาโยธาตุ 6 ประการ และเตโชธาตุ 4 ประการ ทั้งหมดรวม 42 ประการ ถูกจัดรวมเป็นระบบมหาภูตรูป ย่อรวมเหลือกองละ 3 เพื่อประโยชน์ในการตั้งตำรับยาบำรุงรักษาร่างกายดังแสดงในตารางที่ 1
ทฤษฎีการแพทย์แผนไทยได้คำนึงถึงปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายในส่วนของมหาภูตรูป คือการเปลี่ยนของสภาวะแวดล้อมอันเนื่องมาจากฤดูกาล ร่างกายต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องเหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการเสียสมดุลและนำมาซึ่งความไม่สบาย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 สถานะ คือกำเริบ หย่อน และ พิการ ในการปรับสมดุลให้ร่างกายสามารถทำงานเป็นปรกติแข็งแรงอยู่เสมอ มีพิกัดเบญจกูลประกอบด้วยสมุนไพรประจำธาตุทั้ง 4 และอากาศธาตุ ดังในตารางที่ 2
แพทย์ไทยได้กำหนดส่วนผสมของสมุนไพรเพื่อปรับสมดุลมหาภูตรูปทั้ง 3 กองของธาตุสมุฏฐานทั้ง 4 ไว้แล้ว ดังแสดงในตารางที่ 3-6
อนึ่ง การนับเดือนตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเป็นการนับตามจันทรคติอาศัยข้างขึ้นข้างแรมในการนับเดือน มีศัพท์ที่สัมพันธ์กับจักราศี มีเดือนแรกเรียกว่าเดือนอ้าย คือเดือนธันวาคม เริ่มนับการขึ้นต้นเดือนที่แรม 1 ค่ำ ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำในเดือน ถัดไปดังในตารางที่ 7