เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนแซด คืออะไร


อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 106,416 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/01/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งในด้านสังคมนั้นเกิดความหลากหลายในเชิงพฤติกรรมของประชากรปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัด พฤติกรรมที่หลากหลายดังกล่าวมาจากการเกิดต่างยุคต่างสมัยกัน บ่อยครั้งเกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความล้มเหลวในการสื่อสาร การทำงานร่วม หรือ การบริการ
ความแตกต่างในด้านช่วงวัยของประชากร หรือ Generation Gap เป็นปัจจัยสำคัญ การเข้าใจในความแตกต่างระหว่างช่วงวัยจะช่วยทำให้เข้าใจคนแต่ละคนในสังคมมากยิ่งขึ้น สังคมย่อมจะเกิดการประนีประนอมมากกว่าเดิม
ช่วงวัย หรือ Generation [1] คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน และมีประสบการณ์ทางสังคม และประวัติศาสตร์ร่วมกัน โดยที่ Strauss and Howe ได้ให้ข้อสังเกตจากการศึกษาช่วงอายุของประชากรอเมริกัน ตั้งแต่ คศ. 1584-2069 พบว่า แต่ละช่วงวัยจะมีระยะเวลาโดยประมาณ 22 ปี และ เชื่อว่า ลักษณะของแต่ละช่วงวัย มีจุดเริ่มต้นจากการเลี้ยงดู โดยเริ่มต้นจากคนรุ่นหนึ่ง เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย หรือ ให้การปกป้องน้อย (Under protection) ครั้นเด็กรุ่นนี้เติบโตเป็นพ่อแม่จะชดเชยโดยการเลี้ยงดูลูกตนเองแบบปกป้องจนเกินเหตุ (Over protection) และเมื่อเด็กรุ่นที่ถูกเลี้ยงแบบปกป้องโตขึ้นและมีลูก จะดูแลลูกแบบปล่อยปละละเลย เพราะตนเองไม่ชอบการปกป้องจนเกินเหตุ [2] อาจกล่าวได้ว่าลักษณะของแต่ละช่วงวัยเป็นไปแบบวัฏจักร
ปัจจุบันในสังคมไทยมีคนอย่างน้อย 5 ช่วงวัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ขอนำเสนอแต่ละช่วงวัยตามลำดับดังนี้
Generation T (Traditionalist)
เป็นประชากรที่เกิดก่อน พ.ศ. 2489 มีลักษณะยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณี เน้นค่านิยมไทย เป็นคนที่มีประสบการณ์ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (The Great Depression) ถ้าเทียบกับประแทศไทยจะราวๆ รัชกาลที่ 7 ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงต้นยุคสงครามเย็น มีลักษณะนิสัยที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และอยากให้โลกหมุนกลับมาหาคืนวันเก่าๆ
Generation B (Baby boomer) หรือ เจน บี
คือ ประชากรที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507 มีลักษณะอนุรักษ์นิยมกึ่งสมัยใหม่ มีความอดทน อุตสาหะ มีมานะ พยายาม และความภักดีต่อองค์กร คนรุ่นนี้มีประสบการณ์ยุคสงครามเย็น เผด็จการทหาร ตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอม กิติขจร ในด้านเทคโนโลยีจะเริ่มมีโทรทัศน์ขาวดำ วิทยุทรานซิสเตอร์ จึงทำให้คนรุ่นนี้มีความอดทน ใจเย็นรอคอยได้ ไม่รีบร้อน และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ลักษณะนิสัยที่โดดเด่นคือ การทำงานหนัก ยอมตายในหน้าที่เพื่องาน มัธยัสต์รู้จักใช้จ่าย และเป็นผู้นำทางความคิด
Generation X หรือ เจน เอ็กซ์
คือ ประชากรที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2508-2523 เอ็กซ์ (X) มาจากเครื่องหมาย “กากบาท” ซึ่งสะท้อนว่าพ่อแม่ยุคนี้มีลูกน้อย เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงานทั้งสองคน บางครอบครัวมีการหย่าร้าง จึงทำให้คนรุ่นมีมีวิญญาณขบถ เป็นนักปฏิวัติ หรือ หัวรุนแรง รวมถึงการมีหัวก้าวหน้าชอบความท้าทาย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการอยู่บ้านคนเดียวหลังเลิกเรียน เพราะพ่อแม่ยังไม่กลับ (Latchkey kid) [3] ลักษณะที่โดดเด่นของคนรุ่นนี้ คือ มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ชอบทำงานแบบ Work smart, not harder จึงทำให้พวกเขาชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่อยู่นิ่ง ชอบพัฒนางาน แต่มีชีวิตที่สมดุลระหว่างงานกันชีวิต (Work-Life balance) และเชื่อว่า การทำงานหนักเพื่อการหาเงินและนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพักผ่อน คนรุ่นนี้มีประสบการณ์ช่วง ประชาธิปไตยเบ่งบานในยุค ตุลาคม 16 จนถึงยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มมีวีดิโอ เกมคอมพิวเตอร์ โซนี่วอล์กแมน คนรุ่นนี้จึงรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้เร็วกว่าเจน บี จึงนับว่า เจน เอ็กซ์ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง เจน บี และ Generation อื่นๆได้เป็นอย่างดี
ภาพจาก : http://www.nextgeneration.ie/generation-x-vs-y-vs-z-workplace-edition/
Generation Y (The Millennial) หรือ เจน วาย
คือ ผู้ที่เกิดในยุคที่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และ อินเทอร์เน็ต มีการระบุปีเกิดของคนรุ่นนี้หลากหลายมาก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ ระบุว่าเกิด ระหว่าง พ.ศ.2524-2543 [2, 4, 5] เป็นคนที่ชอบเทคโนโลยี ชอบความเร็ว ทันทีทันใด ไม่ชอบรอนาน ชอบสีสันสดใส บรรยากาศสนุกสนาน ชอบให้เอาอกเอาใจ มีลักษณะการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ไม่ชื่นชอบความเป็นทางการ มองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างแบบสดใส และโลกสวย คนรุ่นนี้มีเอกลักษณ์ทางการใช้ภาษาแบบสร้างสรรค์ ฉีกกฎเกณฑ์ จึงทำให้เกิดภาษาปาก (Slang) มากมาย จนทำให้กลุ่มขนบนิยมมองว่าเป็นการสร้างภาษาวิบัติ แต่ถ้ามองด้วยมุมมองที่ยอมรับความแตกต่างได้ จะเห็นว่าเป็นวิวัฒนาการของภาษาที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นภาษาไทยของเรา
ภาพจาก : http://www.nextgeneration.ie/generation-x-vs-y-vs-z-workplace-edition/
Generation Z หรือ เจน แซด
หรือ Silent Generation [6] ปัจจุบันถือเอา ช่วงหลัง พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เป็นจุดเริ่มต้นของช่วงวัยนี้ เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาพร้อม Digital และ Social Network ในสหรัฐอเมริกา [7] เรียกคนรุ่นนี้ว่า Home land Generation ตามเหตุการณ์ 911 ที่ประเทศถูกการก่อการร้ายอย่างรุนแรง จึงมีการดูแลประเทศบ้านเกิด (Home land) อย่างเข้มข้นเป็นประวัติการณ์ เป็นช่วงวัยที่ความหลากหลายทางสังคมมีมาก ทั้งเรื่องเพศวิถี (Gender) ที่มีความแตกต่าง และให้การยอมรับเพศทางเลือกมากขึ้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ (Ethnography) มีความหลากหลายทางเทคโนโลยีทุกด้าน เช่น การแพทย์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ รวมทั้ง เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ที่เป็น Fully Digitalization ปัจจุบันนักวิชาการเชื่อว่า เจน แซด จะมีความสมบูรณ์แบบมากกว่า เจน วาย และ มีการปรับตัวเข้ากับคนรุ่นก่อนหน้าได้ดีกว่า เพราะเห็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีที่ เจน วายได้รับจาก Generation อื่น หรือ บางกรณีทำนายว่าคนรุ่นนี้จะเป็น ช่วงวัยที่เงียบ อาจเป็นเพราะ การอยู่ในยุคที่มีอุปกรณ์การสื่อสารและบันเทิงอย่างครบถ้วนในอุปกรณ์เดียว จึงเป็นการง่ายที่จะปลีกตัวเองจากสังคมจริง (Real community) เข้าสู่สังคมเสมือน (Virtual community) ภาพจาก : http://www.nextgeneration.ie/generation-x-vs-y-vs-z-workplace-edition/
หลักการในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัยที่แตกต่าง
  1. มีสติ รู้ตัวในการปฏิสัมพันธ์ทุกขณะ
  2. รับรู้ว่ามีความแตกต่างของช่วงวัย
  3. มองเห็นความต่างอย่างสร้างสรรค์ และไม่ใช้อคติ
  4. ให้เกียรติช่วงวัยอื่นแม้ว่าจะเป็นผู้อ่อนอาวุโส
หวังว่าบทความนี้จะสร้างความเข้าใจช่วงวัยที่อยู่ในสังคมปัจจุบัน และจะช่วยสร้างความปรองดอกันในระหว่างช่วงวัย อันจะทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม มีความสงบสุข น่าอยู่ และเจริญก้าวหน้า
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Jeffries, F.L., & Hunte, T.L. 2003. Generation and motivation: A connection worth making. Journal of behavioral and applies management. 6(10), 37-70.
  2. Strauss, W., & Howe, N. 1991. Generations: The history of American’s future, 1584 to 2069. New York: Quill William Morrow.
  3. Fay, W.B. 1993. Understanding ‘Generation X’. Marketing research, 5, 54-55.
  4. Lancaster, L.C. & Stillman D. 2010. The M-factor: how the millennial generation is rocking the workplace. New York: HarperCollin
  5. ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช. Generation Y ยังร้ายอยู่. 2558. กรุงเทพมหานคร. ไทยเอฟเฟ็กสตูดิโอ.
  6. Wikipedia. Generation Z. สืบค้นเมื่อ 6 ก.ค. 2559. จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Generation_Z
  7. Howe, N.& Strauss, W. 2008. Millennials & K-12 Schools. LifeCourse Associates. pp. 109–111.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


38 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว
2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้