เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus, HCV)


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์) ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://i.huffpost.com/gen/1387878/images...cebook.jpg
อ่านแล้ว 114,335 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/06/2559
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร
ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus: HCV) พบประมาณ 130-150 ล้านคนทั่วโลก และพบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านคนในแต่ละปี เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นไวรัสตัวเดียวในจีนัส Hepacivirus โดยเป็นอาร์เอนเอไวรัสสายบวก (positive stranded RNA virus) ไวรัสตับอักเสบซีมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่ 1 (โดยแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยได้แก่ 1a และ 1b), 2, 3, 4, 5 และ 6 โดยสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คือสายพันธุ์ 1 และสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทยคือสายพันธุ์ 1 และ 3 การรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแต่ละสายพันธุ์นั้นใช้สูตรยา ขนาดและระยะเวลาในการรักษาต่างกัน และผลสำเร็จในการรักษาก็ต่างกันด้วย

ภาพจาก:http://www.webmd.com/hepatitis/future-with-hepatitis-c-14/slideshow-hepatitis-c-overview
ไวรัสตับอักเสบซีติดต่ออย่างไร
โรคไวรัสตับอักเสบซีติดต่อจากเลือดสู่เลือด (blood to blood contact) เท่านั้น เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับเลือดของผู้ที่ติดเชื้อ การสักร่างกาย เป็นต้น สำหรับการติดเชื้อโดยวิธีอื่น เช่น ทางเพศสัมพันธ์ การถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารกพบได้น้อยมาก ส่วนการดื่มน้ำโดยใช้แก้วร่วมกัน การจูบกอด การสัมผัสร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วจะมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบฉับพลัน (acute infection) ส่วนมากไม่แสดงอาการทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจพบอาการไข้คล้ายเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลืองตาเหลือง โดย15%ของผู้ติดเชื้อจะสามารถหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี จะมีการโอกาสพัฒนาของโรคน้อยและร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้เอง แต่ 85%ของผู้ป่วยจะกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection) ซึ่ง 20% ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบของตับ ซึ่งการดำเนินอาการของโรคค่อยๆรุนแรงขึ้น และภายในเวลา 10-30 ปี จะเกิดเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ต้องเปลี่ยนถ่ายตับ และบางรายเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ติดเหล้า และผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงที่โรคจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าไวรัสตับอักเสบซีเหมือนเป็นภัยเงียบเพราะกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าติดเชื้อก็เมื่อมีการดำเนินของโรครุนแรงแล้ว ซึ่งทำให้ยากต่อการรักษา
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่
จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
การตรวจเลือดเป็นวิธีเดียวในการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดยตรวจหาแอนตี้บอดี้ของไวรัสตับอักเสบซี (antibody-HCV) และตรวจหาปริมาณอาร์เอนเอของไวรัส (HCV-RNA) เพื่อดูระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ นอกจากนี้ ก่อนเริ่มให้การรักษาต้องตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อเพื่อใช้วางแผนการรักษาให้เหมาะสม รวมทั้งประเมินระดับการทำงานของตับ ความรุนแรงของอาการอักเสบและการเกิดพังผืดที่ตับเพื่อตรวจดูความรุนแรงของโรค โดยวัดปริมาณเอมไซม์ตับ เช่น AST, ALT METAVIR score เป็นต้น
เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้วจะรักษาอย่างไร
เป้าหมายการรักษาในปัจจุบัน คือ การกำจัดเชื้อให้หายขาดอย่างถาวร โดยประเมินจากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดหลังการรักษาด้วยยา การทำให้พยาธิสภาพของตับดีขึ้น ทำให้ตับอักเสบหายไป ป้องกันตับแข็งและมะเร็งตับ
ยามาตรฐานที่มีในประเทศไทยในปัจจุบันได้แก่
  1. Pegylated interferon alfa-2a และ alfa-2b ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  2. Ribavirin รับประทาน ขนาด 800-1200 มิลลิกรัม/วัน
  3. Boceprevir รับประทาน ขนาด 800 มิลลิกรัม/วัน วันละ 3 ครั้ง
  4. Sofosbuvir รับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  5. Daclatasvir รับประทานขนาด 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  6. Ledipasvir รับประทานขนาด 90 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
เนื่องจากเชื้อไวรัสเกิดการดื้อยาได้ง่าย การใช้ยารักษาต้องใช้ยาหลายชนิดที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสในแตกต่างกันร่วมกัน ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแต่ละสายพันธุ์จะมีสูตรยาที่ใช้รักษาและเวลาการรักษาแตกต่างกันด้วย โดยทั่วไปใช้เวลารักษานาน 12-48 เดือน แต่ในระหว่างการรักษา แพทย์จะประเมินผลการรักษาเป็นระยะ เพื่อปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และปัจจุบันมียาใหม่ๆซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยตรง ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่าเดิม
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. EASL Recommendations on Treatment of Hepatitis C 2015. Journal of Hepatology 2015 vol. 63, 199–236
  2. Thailand Practice Guideline for Management of Chronic Hepatitis C 2016 แนวทางการดูแลรักษา ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559 สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย 2559
  3. Ghany MG, Strader DB, Thomas DL, Seeff LB. Diagnosis, Management, and Treatment of Hepatitis C: An Update. Hepatology 2009;49:1335-74.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
หอมดอกปีบ 7 วินาทีที่แล้ว
7 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้