เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รับมือโรคหวัดอย่างไร ให้เหมาะสม


เภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 227,869 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/03/2557
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สาเหตุส่วนใหญ่ของการเป็นหวัดเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสก่อโรค ร่วมกับสภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งการแก้ไขอาการที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นอาจใช้ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการก่อน เช่นพาราเซตามอล (paracetamol) สำหรับลดไข้ คลอเฟนนิรามีน (chlorpheniramine) สำหรับลดน้ำมูก รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเพื่อละลายเสมหะ การดื่มน้ำมากๆ และการเช็ดตัวจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้ 
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการร่วมมากขึ้นหรือมีอาการที่รุนแรง เช่น ไข้สูงลอย ไอมาก หอบเหนื่อย ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับการรักษาต่อไป 
โดยทั่วไปยาที่ใช้เมื่อเป็นหวัดจะเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มีการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโดยตรง ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น ดังนั้นจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็สามารถหยุดใช้ยาได้ ยาที่นิยมใช้ทั่วไปเมื่อเป็นหวัดมีดังนี้

ยาลดไข้ 
โดยทั่วไปยาที่นิยมสำหรับลดไข้ คือ paracetamol สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 500 mg ต่อเม็ด จำนวน 1-2 เม็ด สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ใช้ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน เนื่องจากมีโอกาสเกิดพิษต่อตับ สำหรับเด็กจะต้องมีการปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัว ดังนั้นควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์หรือเภสัชกร 
ยาอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมในการใช้ลดไข้ คือ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti Inflammatory Drugs:-NSAIDs) ได้แก่แอสไพริน (aspirin), ibuprofen ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มหลังนี้ให้ผลในการลดไข้ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับลดไข้ในกรณีของโรคไข้เลือดออก หากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วรับประทานยาในกลุ่มนี้เข้าไปมีโอกาสที่เลือดจะออกจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นจึงต้องมีการวินิจฉัยแยกโรคไข้หวัดจากโรคไข้เลือดออกให้ได้ก่อน นอกจากนั้นยาดังกล่าวมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะ การใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ มีโอกาสที่จะเกิดอาการของโรคกระเพาะเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยโรคไตที่ยากลุ่มนี้จะไปมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง สำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากได้รับยาในกลุ่มนี้สำหรับลดไข้ ควรรับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ อีกประเด็นที่สำคัญในการใช้ยาในกลุ่มนี้คือการใช้แอสไพรินในผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิด Reye's Syndrome สูง ซึ่งอาการแสดงของกลุ่มอาการนี้คล้ายโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ ไข้ มีผื่นขึ้นตามลำตัว อาเจียน แต่จะมีความผิดปกติของอวัยวะภายในร่วมด้วย จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงมีคำแนะนำไม่ให้ใช้แอสไพรินในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ยาลดน้ำมูกแก้คัดจมูก 
ในกลุ่มของยาลดน้ำมูกนั้น สามารถแบ่ง ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • ยาแก้คัดจมูก ออกฤทธิ์โดยการหดหลอดเลือด ทำให้อาการคัดจมูกลดลง แบ่งเป็น
    • สำหรับรับประทาน ได้แก่ phenylephrine, pseudoephedrine (pseudoephedrine รับได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านยา)
    • สำหรับหยดหรือพ่นรูจมูก ได้แก่ oxymetazoline ซึ่งก่อนใช้ต้องสั่งน้ำมูกออกก่อน
  • ยาลดน้ำมูก ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งผลของฮีสตามีน (histamine) ซึ่งมีผลทำให้การหลั่งน้ำมูกลดลง แต่จะได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก สามารถแบ่งย่อย เป็น 2 กลุ่มคือ
    • ยาลดน้ำมูกกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ chlorpheniramine, brompheniramine, hydroxyzine, cyproheptadine เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะลดปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก เสมหะ แต่จะทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ เนื่องจากมีฤทธิ์กดระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้สามารถคุมอาการได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับยาในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม หากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร และก็อาจถือเป็นโอกาสที่ดีในการพักผ่อน
    • o ยาลดน้ำมูกกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ cetirizine, loratadine, desloratadine, fexofenadine เป็นต้น ซึ่งข้อดีของยาในกลุ่มนี้ก็คือ ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หรืออาจมีอาการง่วงซึมได้บ้างเล็กน้อย ดังนั้นจึงนิยมใช้ยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ด้วย

ยาบรรเทาอาการไอ 
ในกลุ่มของยาบรรเทาอาการไอ ก็สามารถแบ่ง ได้เป็น 2 กลุ่มเช่นกัน คือ

  • ยาสำหรับอาการไอมีเสมหะ โดยสาเหตุของอาการไอประเภทนี้ เนื่องจากมีเสมหะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการไอ ดังนั้นต้องใช้ยารักษาที่ต้นเหตุซึ่งก็คือ การทำให้เสมหะเหลวหรือขับออกได้ง่ายขึ้น ยาละลายเสมหะ ได้แก่ acetylcysteine, carbocysteine, bromhexine, ambroxol เป็นต้น ยาขับเสมหะ ได้แก่ glyceryl guaiacolate (guaifenesin) เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอมากขึ้นในช่วงแรก เพื่อนำเสมหะออกจากทางเดินหายใจ แต่ภายหลังจากนั้นอาการไอจะลดลงตามลำดับ
  • ยาสำหรับอาการไอที่ไม่มีเสมหะ หรือ ไอแห้ง ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนที่ทำให้เกิดการไอ ซึ่งการกดระบบประสาทนั้นอาจทำให้ตัวผู้ป่วยง่วงซึมได้ หากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอได้แก่ dextromethorphan, codeine, brown mixture เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องหาสาเหตุของการไอ และแก้ไขให้ตรงจุด หากผู้ป่วยใช้ยาแก้ไอไม่ถูกกับสาเหตุของอาการไอที่เป็นอยู่ เช่น ใช้ยากดการไอในกรณีที่การไอเกิดจากเสมหะ นอกจากเสมหะจะขัดขวางทางเดินหายใจแล้ว ร่างกายก็ยังไม่สามารถขับเสมหะออกโดยการไอได้อีกด้วย 
เช่นเดียวกับยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอในท้องตลาดก็มีการทำในรูปแบบยาเม็ดสูตรผสมเช่นกัน โดยมีทั้งตัวยาที่ใช้สำหรับไอมีเสมหะ และไอแห้งในเม็ดเดียวกัน อาจรวมตัวยาขยายหลอดลมเพิ่มในเม็ดยาด้วย ยาสูตรผสมเหล่านี้นิยมใช้ในกรณีที่แยกประเภทของการไอไม่ได้ชัดเจน หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการไอ

จากที่ได้กล่าวมาไม่ว่าจะเป็น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก และยาบรรเทาอาการไอ ล้วนเป็นยาที่รักษาตามอาการ เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นสามารถหยุดยาได้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายเชื้อ ตัวผู้ป่วยควรใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรักษาสุขภาพไม่ดีอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำได้ ซึ่งจะมีอาการแสดงได้แก่ เจ็บคอ น้ำมูกข้นและมีสีเขียวเหลือง ในกรณีนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะหรือที่มักถูกเรียกจนติดปากอย่างผิดๆว่า “ยาแก้อักเสบ” ในการรักษาร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะจะทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการอักเสบ ซึ่งต้องมีวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด คือ ใช้อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งตามที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ โดยต้องใช้ติดต่อภายหลังแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุถูกทำลายมีจำนวนลดลงจนไม่เกิดอาการแสดง เช่น หายเจ็บคอ แต่ยังไม่หมดไปจากร่างกาย จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ยาต่ออย่างเนื่องจนร่างกายกำจัดเชื้อได้หมด

ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้เบื้องต้นได้แก่ 
 

  • ยากลุ่มแพนิซิลิน (penicillins) ได้แก่ amoxicillin ซึ่งโครงสร้างของยาตัวนี้ทนต่อกรดในทางเดินอาหาร สามารถรับประทานหลังอาหารได้
  • ยากลุ่มแมคโครไลด์ (macrolides) ได้แก่ erythromycin, roxithromycin เนื่องจากโครงสร้างของยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ทนต่อกรดในทางเดินอาหาร จำเป็นที่จะต้องรับประทานก่อนอาหาร ยกเว้น erythromycin estolate และ erythromycin ethylsuccinate ที่มีการดัดแปลงโครงสร้างของยาแล้ว ทำให้สามารถรับประทานหลังอาหารได้

การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด นอกจากผู้ป่วยจะไม่หายจากอาการที่เป็นอยู่ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ผลที่ตามมาคือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น และอาจไม่มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการของผู้ป่วยในอนาคต หากมีข้อสงสัยควรสอบถามผู้ให้การรักษาได้แก่ แพทย์ หรือเภสัชกร จนมีความเข้าใจที่ชัดเจน 
อีกวิธีหนึ่งที่ดีในการรับมือไข้หวัด คือ การดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการรับมือกับโรคใดๆ ก็ตาม กรณีไข้หวัดใหญ่ อาจรับการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี 
สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากฝากไว้ว่า การใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยากับท่านเอง และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”


รู้ให้ชัดกับ ยาแก้อักเสบ

ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย?

ยาแก้ไอ ....... มีกี่แบบ ??

สมุนไพรแก้ไอ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook, 20th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2011.
  2. What is the Role of Aspirin in Triggering Reye's? [homepage on the Internet]. No date [cited 2013 Oct 9]. Available from: http://www.reyessyndrome.org/aspirin.html.
  3. World Health Organization. Clinical management of human infection with new influenza A (H1N1) virus: initial guidance [homepage on the Internet]. c2009 [updated 2009 May 21; cited 2013 Oct 9]. Available from http://www.who.int/csr/resources/publications/swineflu/clinical_managementH1N1_21_May_2009.pdf.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 17 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 18 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้