เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เดินหน้าอย่างต่อเนื่องกับหลักสูตร 6 ปี ของเรา เภสัชฯ มหิดล ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมอิมพีเรียลหัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์

อ่านแล้ว 3,807 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2554  
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะอนุกรรมการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน และงานการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้จัดเป็นลักษณะโครงการต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งที่ 1 ได้จัดไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานทั้งสาขาเภสัชศาสตร์และสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการนำไปใช้จริง และการประสานความร่วมมือระหว่างคณะฯ กับแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ สำหรับในครั้งนี้คือการประชุมครั้งที่ 2 เป็นการประชุมประจำปีทางการศึกษา และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คณาจารย์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีการประสานและปรับปรุงเนื้อหารายวิชารวมถึงข้อสอบ อันจะส่งผลต่อการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนทั้งในส่วนการบรรยาย การปฏิบัติ และการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตตามที่คณะฯ ได้ตั้งปณิธานไว้ การประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2554 ณ โรงแรมอิมพีเรียลหัวหิน บีช รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำหรับกิจกรรมในวันแรก ภญ.รศ.ดร.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ เป็นผู้เปิดการประชุม พร้อมทั้งบรรยายในหัวข้อ “คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์และแนวทางการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต” จากนั้นต่อด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยทีมคณะอนุกรรมการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เริ่มด้วยหัวข้อ “องค์ความรู้และทักษะสาขาเภสัชศาสตร์และสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม” นำโดย ภญ.อ.ดร.ชุติมา เพชรกระจ่าง ภก.อ.ดร.มนตรี จาตุรันต์ภิญโญ ภญ.อ.ดร.มนทยา สุนันทิวัฒน์ และ ภก.ผศ.ดร.ปรีชา มนทกานติกุล จากนั้นต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ “P-D-C-A: การประสานรายวิชาในหลักสูตร 5 ปี (ปรับปรุง) และหลักสูตร 6 ปี” ดำเนินรายการโดย ภก.ผศ.ดร.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ ก่อนจะปิดท้ายด้วยกิจกรรมกระชับสัมพันธ์ ดำเนินรายการโดย ภญ.อ.ดร.จุฑารัตน์ พิมพ์ทนต์ ภญ.อ.ดร.จิระพรรณ จิตติคุณ และ ภก.ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ศรีภา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อบอวลด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของคณาจารย์ทุกท่าน ส่วนกิจกรรมในวันที่สอง คณะฯ ได้รับเกียรติจาก ภก.อ.ดร.สมชาย สุริยะไกร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายตลอดทั้งวัน เริ่มด้วยหัวข้อ “เทคนิคการสอนในห้องบรรยายสำหรับนักศึกษากลุ่มใหญ่” ต่อด้วย workshop ในหัวข้อ “P-D-C-A ของรายวิชาและผลการวิเคราะห์ข้อสอบ” การบรรยายในหัวข้อ “การประเมินผลข้อสอบปรนัยและเทคนิคการแก้ไขข้อสอบปรนัย” และ “การจัดทำ Blueprint ของข้อสอบแบบอัตนัย” โดยมี ภก. ผศ. ดร. ปรีชา มนทกานติกุล ร่วมบรรยายและดำเนินรายการ และปิดท้ายในส่วนของวิชาการด้วยการนำเสนอ “ผลการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ศึกษา” โดยทีมวิจัย นำโดย ภก.ผศ.ดร.ปราโมทย์ ตระกูลเพียรกิจ จากนั้น คณาจารย์ได้ไปทัศนศึกษา ณ เพลินวาน เพื่อรำลึกบรรยากาศและวิถีชีวิตในวันวานที่ผ่านมา สำหรับวันสุดท้ายเป็นกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม จ. ราชบุรี ก่อนที่คณาจารย์ทุกท่านจะเดินทางกลับมายังคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลโดยสวัสดิภาพ แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่คณาจารย์ทุกท่านก็ได้ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดี คณะฯ ผู้จัดงานขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการได้มาซึ่งบัณฑิตเภสัชศาสตร์ มหิดล ที่มีคุณลักษณะ เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข ดังนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นในการสร้าง “บัณฑิตมหิดลมุ่งประโยชน์สุขเพื่อมวลมนุษยชาติ”




Photo Gallery



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


4 วินาทีที่แล้ว
บวบขม 20 วินาทีที่แล้ว
25 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้หวัดสำหรับเด็ก 36 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้