เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย! … สัญญาณ "ภาวะลำไส้รั่ว"


อาจารย์ ดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 40,280 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/10/2562
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yaf2y89j
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yaf2y89j
 

"You are what you eat … กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น" "All disease begins in the gut … โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายเริ่มต้นที่ลำไส้"
ดูเหมือนคำกล่าวเหล่านี้จะเริ่มสะท้อนความจริงด้านสุขภาพของคนในสังคมปัจจุบันมากขึ้น เพราะทุกสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป ล้วนต้องผ่านการย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็กทั้งสิ้น ผนังลำไส้เล็กจึงเสมือนเป็นปราการคัดกรองสารเข้าสู่ร่างกาย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญในการเลือกรับประทานอาหาร พฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ โภชนาการที่ไม่ดี และปริมาณสารพิษตกค้างเกินกำหนดในอาหาร ล้วนส่งผลต่อความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของ "ภาวะลำไส้รั่ว"
"ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)" คืออะไร? … อาหารรั่วออกมานอกลำไส้จริงหรือ??
เมื่อเกิดลำไส้รั่วแล้วอาหารจะหลุดออกมานอกลำไส้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง สำหรับในคนปกติ เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จะเรียงตัวชิดติดกันเป็นระเบียบ เรียกว่า "Tight Junctions" (ภาพด้านล่าง ซ้าย) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการผ่านเข้าออกของสารและป้องกันไม่ให้สารพิษ เชื้อก่อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง แต่เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ (Inflammation) เกิดความเสียหายต่อ Tight junctions ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์ (ภาพด้านล่าง ขวา) เซลล์จึงสูญเสียความสามารถในการควบคุมการผ่านเข้าออกของสาร บรรดาสารพิษ สารก่อภูมิแพ้ และเชื้อก่อโรคจึงสามารถเล็ดลอดผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดได้โดยไม่ผ่านการกรอง การเพิ่มขึ้นของความสามารถในการให้สารผ่านเข้าออกผนังลำไส้นี้ เรียกว่า "ภาวะลำไส้รั่ว" หรือ "Leaky Gut Syndrome" ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ จนก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบเรื้อรังซ้ำซากและกลายเป็นอาการเจ็บป่วยตามมา

ภาพจาก : https://nutritionandvitality.co.uk/wp-content/uploads/2018/11/shutterstock_1178023279-5006x2503.jpg
เหตุใดจึงเกิด "ภาวะลำไส้รั่ว" ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะลำไส้รั่ว แต่คงหนีไม่พ้นปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งที่ต้องสัมผัสกับลำไส้อยู่เป็นประจำอย่างอาหารและยา โดยเฉพาะอาหารแปรรูป อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง แต่มีเส้นใยไฟเบอร์ต่ำ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ร่างกายสร้างกรดขึ้นมาทำลายผนังลำไส้แล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารให้จุลินทรีย์ก่อโรคเพิ่มจำนวนมาก่อกวนผนังลำไส้จนรั่วในที่สุด นอกจากนี้ อาหารบางชนิด เช่น แลคโตส (Lactose) ในผลิตภัณฑ์จากนมวัว กลูเตน (Gluten) ในข้าวสาลี ขนมป?ง และเลคติน (Lectin) ในผลิตภัณฑ์จากถั่ว ถั่วเหลือง เต้าหู? ก็เป็นตัวขัดขวางกระบวนการย่อยอาหารภายในลำไส้เช่นกัน
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเรื้อรัง การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว ยังทำให้ลำไส้ต้องสัมผัสกับสารพิษตกค้างจากอาหารนั้นเข้าไปสะสมตลอดเวลา จนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อผนังลำไส้ได้
การรับประทานยาบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยาต้านจุลชีพ ยาฆ่าเชื้อทุกชนิด เช่น Amoxycillin Norfloxacin Erythromysin และ Tetracycline เป็นต้น ยาเหล่านี้จะกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด ทั้งเชื้อก่อโรคและจุลินทรีย์ดีในร่างกาย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ การเสียความสมดุลของจุลินทรีย์ดีที่คอยทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผนังลำไส้ เมื่อผนังลำไส้อ่อนแอลง ก็จะเสี่ยงต่อภาวะลำไส้รั่วได้ง่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันจำพวกยาแก้ปวด แก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น Indomethacin Naproxen และ Ibuprofen ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหารและสามารถทำลายผนึกกั้นระหว่างเซลล์เยื่อบุลำไส้ ทำให้สารพิษและเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหารสามารถผ่านช่องว่างเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย
อาการเตือน "ลำไส้รั่ว" แล้วนะ!
กลไกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันโดยการสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) IgG ไปจับกับอาหาร สารพิษ หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ แล้วก่อตัวเป็น Immume Complex ระหว่างแอนติเจน (Antigen) กับแอนติบอดี้ (Ag-Ab Complex) จัดเป็นการแพ้ชนิดที่ 3 "Immume Complex-Mediated Hypersensitivity" หรือ "Delayed Food Allergy" ลักษณะเฉพาะของการตอบสนองเช่นนี้เป็นไปแบบช้า ๆ จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ลักษณะสำคัญของอาการทางคลินิกอันเนื่องมาจากการเกิดปฏิกิริยาเรื้อรังของ IgG ขึ้นอยู่กับอวัยวะเป้าหมายที่ Immume Complex เข้าไปสะสม มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะลำไส้รั่วกับโรงเรื้อรังหลายชนิด โดยนักวิจัยค้นพบว่า ความผิดปกติในการซึมผ่านเยื่อบุผนังลำไส้มีความสัมพันธ์กับโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome; IBS) โรคทางเดินอาหารอักเสบโครห์น (Cronh’s disease) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคแพ้ภูมิตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus; SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และโรคหอบหืด เป็นต้น
  • อาการในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปฏิกิริยาการแพ้อาหารแฝง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของภาวะลำไส้รั่ว โดยจะไม่ได้แสดงอาการแพ้รุนแรงทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสียสลับกับท้องผูกเป็นประจำ เป็นต้น
  • อาการทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นแดง คัน ผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ สิวอักเสบเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
  • อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม คันจมูก คอบวม ไอ หอบหืด หายใจลำบาก
  • อาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดศีรษะไมเกรน การตัดสินใจช้าลง สมาธิลดลง
  • อาการอื่น ๆ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้จะนอนหลับพักผ่อนเป็นเวลานาน มือเท้าเย็น (โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากยาและโรคอื่น) น้ำหนักขึ้นง่ายผิดปกติ และอาการในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Disease) เป็นต้น
อาการเบื้องต้นที่ดูไม่น่าอันตรายเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะลำไส้รั่วร่วมด้วย โดยพบว่าเมื่อทำการรักษาภาวะลำไส้รั่วแล้ว อาการดังกล่าวก็จะสามารถทุเลาลงไปได้ ซึ่งหากอาการเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันแล้ว ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

"ภาวะลำไส้รั่ว" รักษาหาย ป้องกันได้
ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรักษาภาวะลำไส้รั่วที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพื่อปรับสมดุลภายในลำไส้ให้ทำงานได้เป็นปกติ
  1. งดอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อให้ร่างกายเกิดกลไกการกำจัดแอนติบอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นจากการกระตุ้นโดยอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ออกไปได้หมดจากร่างกาย ซึ่งจัดเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุโดยแท้จริง
  2. เปลี่ยนโภชนาการ โดยหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์ เช่น พืชผักใบเขียวและผลไม้ไม่หวาน เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
  3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ลำไส้ต้องสัมผัสสารเคมีชนิดเดิมเป็นเวลานาน ๆ การเลิกสูบบุหรี่ การงดดื่มแอลกอฮอล์ การลดความเครียด เนื่องจากความเครียดสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Cortisol ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของเซลล์ลำไส้ได้ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะช่วงเวลาที่เรานอนหลับสนิทจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลั่ง Growth hormone ออกมาซ่อมแซมทุกเซลล์ในร่างกายได้ดีที่สุด
  4. ใช้ยาสมเหตุผล ลดการใช้ยาพร่ำเพรื่อจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดเจ็บคอ โรคท้องเสีย และแผลเลือดออก หากจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค ต้องรับประทานยาครบตามจำนวนและระยะการรักษา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานเอง
  5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลำไส้
    • จุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ (Probiotic) และอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ดี (Prebiotic) เช่น จุลินทรีย์ตระกูล Lactobacillus sp. หรือตระกูล Bifidobacterium sp. ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลจุลินทรีย์ดีและทำลายเชื้อก่อโรคในลำไส้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารจำพวกกล้วย แก้วมังกร ต้นหอม น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม และมะเขือเทศ ซึ่งอุดมไปด้วยสาร Inulin Fructooligosaccharides (FOS) และ Xylo-oligosaccharides (XOS) จะช่วยเสริมให้จุลินทรีย์ดีในร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์
    • กรดอะมิโน เช่น Arginine ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บ และ Glutamine ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานภายในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จากความเครียดออกซิเดชันได้
    • สังกะสี (Zinc) จัดเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและยังมีหน้าที่สำคัญต่อการทำงานของระบบเอนไซม์ที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกายจำนวนมาก การศึกษาพบว่า สังกะสีสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผนึกระหว่างเซลล์ลำไส้และป้องกันความเสียหายต่อ Tight junctions ของเยื่อบุผนังลำไส้ได้
    • ซีลีเนียม (Selenium) และวิตามินอี (Vitamin E) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีความปลอดภัยสูง การศึกษาพบว่า ซีลีเนียมและวิตามินอี สามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการให้สารผ่านเข้าออกผนังลำไส้จากการถูกทำลายโดยความเครียดออกซิเดชันได้
ในอดีตคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ถ้าอยากมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ต้องดูแลใส่ใจกับอวัยวะอย่างหัวใจ ตับ ไต ปอด หรือสมองให้ดี น้อยคนนักที่จะใส่ใจหรือแม้แต่จะเข้าใจ "ลำไส้" ทั้งที่มันเป็นอวัยวะที่ชี้เป็นชี้ตายของชีวิตเราได้เลยทีเดียว ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยมากมายมายที่ค้นพบว่า "ลำไส้" ไม่ได้เป็นเพียงเป็นอวัยวะย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังมีระบบประสาทที่ซับซ้อนที่สุดรองจากสมอง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "สมองที่ 2" เนื่องจากลำไส้สามารถปลดปล่อยฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ไปมีผลต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกาย รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือแม้แต่สมองได้ อย่างที่เห็นกันแล้วว่า "ลำไส้" ก็เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นเลย เพราะฉะนั้น ในทุก ๆ วัน เราต้องไม่พลาดการเลือกบริโภคแต่อาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เพื่อช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ดีในลำไส้ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและอาหารแปรรูป ลดการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการเพิ่มเชื้อก่อโรคที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ของเรานั่นเอง
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Stewart A, Pratt-Phillips S, Gonzalez L. Alterations in Intestinal Permeability: The Role of the "Leaky Gut" in Health and Disease. Journal of Equine Veterinary Science. 2017;52:10-22.
  2. Fasano A. Leaky Gut and Autoimmune Diseases. Clinical Reviews in Allergy & Immunology. 2011;42(1):71-78.
  3. Eske J, Saurabh (Seth) Sethi M. Leaky gut syndrome: What it is, symptoms, and treatments [Internet]. Medical News Today. 2019 [cited 12 October 2019]. Available from: https://www.medicalnewstoday.com/articles/326117.php
  4. Marcelo Campos M. Leaky gut: What is it, and what does it mean for you? - Harvard Health Blog [Internet]. Harvard Health Blog. 2019 [cited 12 October 2019]. Available from: https://www.health.harvard.edu/blog/leaky-gut-what-is-it-and-what-does-it-mean-for-you-2017092212451
  5. Dixon H. Treatment of Delayed Food Allergy Based on Specific Immunoglobulin G Rast Testing. Otolaryngology–Head and Neck Surgery. 2000;123(1):48-54.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้