เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชมหิดลร่วมกับกระทรวงพาณิชย์แถลงผลงานการช่วยเหลือสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

อ่านแล้ว 2,836 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2553  
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาจัดแถลงข่าวโครงการยุทธศาสตร์: การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในวันที่ 29 มีนาคม 2553 ณ ห้อง 606 อาคารราชรัตน์ เวลา 10.00 - 12.00 น. ซึ่งมีสื่อมวลชนระดับชาติจำนวนกว่า 10 สถาบันมาร่วมถ่ายทอดการแถลงข่าวดังกล่าว เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้ข้อตกลงเสรีทางการค้าอาเซียนหรือ AFTA ในกลุ่มประเทศสมาชิก 6+3 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของอาเซียนในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก มาตราการที่สำคัญจากข้อตกลงดังกล่าว คือการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกนำสินค้ามาค้าขายกันโดยไม่เสียภาษีศุลกากร ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งเสริมให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนมีความถนัดและมีวัตถุดิบเป็นทรัพยากรในประเทศ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง และทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ในทางกลับกันประเทศที่ไม่มีความถนัดในการผลิตสินค้าบางชนิดและมีต้นทุนในการผลิตที่สูง สามารถนำเข้าสินค้านั้นๆ ในราคาที่ภาษีเป็นศูนย์ ดังนั้น AFTA จะกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าระหว่างประเทศ และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง อุตสาหกรรมยาสมุนไพรในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณปีละ 48,000 ล้านบาท ที่มาศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี พ.ศ. 2548 และมีอัตราการเติบโตต่อปีร้อยละ 15-20 ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรทั้งหมด 947 โรงงาน แต่มีโรงงานที่ได้รับการรับรองการผลิตตามมาตรฐานการผลิตยาที่ดี Good Manufacturing Practice หรือที่รู้จักกันทั่วไปในคำว่า GMP จำนวนเพียง 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.9 เท่านั้น เมื่อข้อตกลงเสรีทางการค้าอาเซียนหรือ AFTA มีผลบังคับใช้ อาจเกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ในด้านบวก หากประเทศไทยสามารถพัฒนาตนเองให้สามารถช่วงชิงความเป็นผู้นำในการผลิตยาสมุนไพรในอาเซียนได้ก็อาจทำให้ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับปรุงการบริหารจัดการ และพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยาสมุนไพรในประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดอาเซียน ย่อมเกิดผลกระทบเชิงลบ ซึ่งประมาณการณ์ว่าอาจต้องสูญเสียตลาดยาสมุนไพรให้กับต่างชาติไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8-10 นั่นหมายถึงไทยจะขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 5,000 ล้านบาทต่อปี และขาดโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศด้วย สำหรับประเทศไทย แม้ว่าไทยจะมีความได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาทางการแพทย์ของไทย แต่อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยมีจุดด้อยในด้านมาตรฐานของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต การพิสูจน์สรรพคุณอย่างเด่นชัด และการตลาด จึงทำให้ยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค แพทย์ หรือบุคลากรทางสาธารณสุขอื่นๆ เท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวรองรับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในส่วนของภาครัฐ ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของยาสมุนไพรต่อระบบสาธารณสุข จึงได้มีการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการใช้ยาไทยอย่างเด่นชัดโดยการประกาศรายการบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ซึ่งได้บรรจุยาสมุนไพรเดี่ยว 9 ชนิดและยาไทย 11 ตำรับ ซึ่งทำให้การใช้ยาดังกล่าวเบิกจ่ายได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยยังขาดความพร้อมและไม่เข็มแข็งจึงไม่สามารถผลิตยาสมุนไพรเหล่านี้ที่ได้มาตรฐานพอสำหรับการใช้ในประเทศและยังไม่พร้อมในการเข้าแข่งขันในตลาดระดับนานาชาติ ทั้งๆ ที่สมุนไพรไทยเหล่านี้ มีศักยภาพด้านการรักษาที่ดีพอ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เห็นความสำคัญและปัญหาที่จะเกิดขึ้น จึงสนับสนุนให้เกิด โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดจ้างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนนำในการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยให้เป็นแผนแม่บทในการปรับระบบการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพร วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับใช้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ และสามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ และจัดการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตและควบคุมคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพร พร้อมทั้งจัดสัมมนาวิชาการให้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน ผลการดำเนินการได้แก่ 1. ได้มีการสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเน้นแนวทางการผลักดันภาคอุตสาหกรรมใหม่ ที่ใช้ศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาศัยความรู้ ทักษะและเทคโนโลยีมากขึ้น และแตกต่างจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่ใช้ศักยภาพของทุน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนและได้จัดทำแผนโครงการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้เป็นทิศทางและแผนงานใน 5 ปีต่อจากนี้ ผลงานนี้เป็นของสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ได้จัดทำโครงการการพัฒนาสูตรตำรับยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักแห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานให้ผู้ประกอบการสามารถนำสูตรตำรับดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในโรงงานของตนเองได้ และจัดทำหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการและอมรมระยะสั้นเพื่อถ่ายทอดกระบวนการผลิตยาสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่การตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบ การนำวัตถุดิบมาแปรรูป การผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบที่ทันสมัย การตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ วิธีการตรวจสอบการปนเปื้อน วิธีการหีบห่อ แนวทางการพัฒนายาสมุนไพร กระบวนการการผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร) โดยกลุ่มที่เข้าร่วมการอบรมได้แก่ ตัวแทนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพจำนวน 60 คน ซึ่งกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ดำเนินการโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะเภสัชศาสตร์และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ที่มีประสบการณ์ทั้งการสอนและวิจัยถึง 15 คน พร้อมกับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือกระบวนการผลิตยาสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบของหนังสือและซีดีรอมเพื่อส่งเสริมการกระจายความรู้เหล่านี้สู่ภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างกว้างขวางด้วย 3. การพัฒนาโครงการนำร่องการใช้ยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักแห่งชาติของสถาน พยาบาลภาครัฐ โครงการนี้เน้นการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์ เภสัชกร พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง รู้จักและมั่นใจในการจ่ายยาสมุนไพรของไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาล เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านยา จากการจัดสัมมนาบุคลากรทางการแพทย์ 3 ครั้งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครราชสีมา และเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 310 คน และครั้งที่ 4 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอีก 60 คน พบว่าผู้เข้าร่วมสัมมนามีความพอใจในศักยภาพของยาสมุนไพรและตำรับยาสมุนไพร หลังจากได้รับรู้ข้อมูลผลการวิจัยที่ทำตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า สมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยทัดเทียมกับยาแผนตะวันตก และเมื่อกรรมวิธีการผลิตได้รับการพัฒนาตามหลักการสากล ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเหล่านั้นมีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจ




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 16 วินาทีที่แล้ว
18 วินาทีที่แล้ว
แป๊ะตำปึง 32 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้