อ่านแล้ว 1,299 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 08 พฤษภาคม 2561
เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัด โครงการอบรมวิชาการ เรื่อง รู้ทันการสูงวัย: การดูแลหัวใจและปอด (Smart aging: Heart and Lung) ณ ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุ และมีการคาดประมาณว่าในปีพ.ศ. 2564 จะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 จากเอกสารประมวลสถิติด้านสังคมปี 59 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า ในปีพ.ศ. 2558 ประชากรไทยมีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบผู้สูงอายุไทยกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 18 ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 33 % และโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่ ข้ออักเสบข้อเสื่อมร้อยละ 23 โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายร้อยละ 5 และโรคถุงลมโป่งพอง/หลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 2 ประเด็นที่สำคัญคือ การส่งเสริมหรือการดูแลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงหรือลดโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยลง รวมทั้งการป้องกัน ตลอดจนการประเมินหรือสังเกตความผิดปกติ จะสามารถป้องกันอันตรายต่อชีวิตหรือความพิการที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุลดลง การเปิดการอบรมในหัวข้อ “รู้ทันการสูงวัย: การดูแลหัวใจและปอด” ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง/หลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการใช้ยาที่เกี่ยวข้อง การดูแลส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น โภชนาการ สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง การฝึกหายใจอย่างมีประสิทธิภาพในผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมทั้งการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ซึ่งการอบรมนี้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของคณะคือ สร้างความเป็นเลิศด้านบริการวิชาการและวิชาชีพที่สอดคล้องต่อความต้องการ และรับผิดชอบต่อสังคม ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด และสร้างบุคคลากรทางการแพทย์ที่สามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถประยุกต์องค์ความรู้ไปใช้ในการประกอบวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพได้อย่างถูกวิธี อันก่อให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศ
Photo Gallery