อ่านแล้ว 1,895 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตและการควบคุณภาพให้โรงงานผลิตยาแผนไทย เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับยาสมุนไพรให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคสูงกว่าเกณฑ์ที่กฏหมายระบุ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยสู่ตลาดอาเซียน” โดยคัดเลือกโรงงานผลิตยาแผนไทยที่ได้ GMP 4 แห่งที่เสนอโจทย์ปัญหาพร้อมผลิตภัณฑ์ของตนเข้ามาร่วมโครงการ ใช้กระบวนการบ่มเพาะในสถานที่ผลิต จัดการบรรยายอย่างเข้มข้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงงาน ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบสมุนไพร การแปรรูป การเปลี่ยนแปลงสูตรตำรับให้ยาเม็ดสมุนไพรที่มีรูปลักษณ์และคุณภาพที่ดี และที่สำคัญการตรวจสอบคุณภาพทางเคมี และสารปนเปื้อนต่างๆ ทั้งเชื้อโรค ยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก คณาจารย์ได้เข้าไปสังเกตการณ์การทำงานในโรงงาน ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดและเป็นพี่เลี้ยงจนจบโครงการ เป็นเวลา 18 เดือน เจ้าหน้าที่โรงงานเป็นผู้ปรับเปลี่ยนและทดลองด้วยตนเอง หลายแห่งจัดซื้อเครื่องมือวิเคราะห์และผลิตเพิ่มเติม ส่วนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทั้งหมดนั้น ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ของคณะเภสัชศาสตร์ (MUPY-CAPQ) ซึ่งเป็นห้องแลปมาตรฐานที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 17025:2005 รับผิดชอบในการตรวจวิเคราะห์ โดยใช้งบประมาณที่มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุน เพราะเป็นสิ่งที่โรงงานจะขาดทั้งวัสดุอุปกรณ์และบุคลากร โดยมี “รางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013” เป็นกำลังใจ งานนี้เป็นการแข่งขันกับตัวเองก่อนและหลังเข้าโครงการ และตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น บริษัทที่เข้าร่วมโครงการในปี 2556 ได้แก่ บริษัท ขาวละออ จำกัด บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด และ บริษัท พนาพัฒน์ เฮลท์แคร์ จำกัด และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอผลงานของโรงงานทั้ง 4 ที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ. ดร. ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศ. ดร. ภญ. กาญจน์พิมล ฤทธิเดช คณะเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภญ. ดร. อัญชลี จูฑะพุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และ ภก. วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการสำนักยา อย. กระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ช่วยประเมินและให้คำแนะนำเพิ่มเติม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะได้เผยแพร่ผลงานประเด็นที่มีการพัฒนาซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตยาแผนไทยรายอื่นๆ ต่อไป และเมื่อวันที่13 พฤศจิกายน 2557 ได้จัดงานประกาศผลรางวัลและมีพิธีมอบรางวัล ณ ห้องประชุม 105 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลการประเมินรางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013 ดังนี้
- บริษัทขาวลออเภสัช จำกัด
ได้รับรางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013 ระดับ ดีมาก
- บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด
ได้รับรางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013 ระดับ ดี
- บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด
ได้รับรางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013 ระดับ ดี
- บริษัท พนาพัฒน์ เฮลท์แครื จำกัด
ได้รับรางวัล Traditional Thai Medicine Quality Award, 2013 ระดับ ดี
Photo Gallery