อ่านแล้ว 3,498 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 03 กันยายน 2556
สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง ’ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย: ก้าวย่างที่มั่นใจสู่ตลาดอาเซียน’ เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2556 ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญและแนวทางการนำหลักการเศรษฐกิจและการตลาด ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความต่างของผลิตภัณฑ์สู่การแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำหลักเศรษฐกิจและการตลาด ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างสู่การแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งอุดมไปด้วยพรรณพืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพร รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่การเชื่อมโยงกระบวนการและเทคโนโลยีจากการวิจัยสู่ภาคการผลิตยังคงมีส่วนน้อย ทั้งการพัฒนาทางวิชาการโดยปราศจากมุมมองใหม่ๆ ทางการตลาด เศรษฐศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ บนรากฐานของจริยธรรมและทัศนคติที่อิงภูมิปัญญา อาจทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ดีของเราไม่สามารถเข้าสู่ตลาดการค้าอาเซียนหรือตลาดโลกได้ และในปีพุทธศักราช 2556 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยมหิดล ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการแพทย์แผนไทย ในการจัดกิจกรรมบ่มเพาะแหล่งผลิตยาแผนไทย เพื่อยกระดับการผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาบุคลากรสำหรับงานการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพ และพัฒนางานต้นแบบการผลิตยาสมุนไพร จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยสู่ตลาดอาเซียน” เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาสมุนไพรได้พัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยให้ได้มาตรฐานสากลและสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ ด้วยกระบวนการบ่มเพาะแบบ out-wall incubation ซึ่งประกอบด้วยการสัมมนา การบรรยายทางวิชาการ การทำ workshop การเข้าไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การทำงานที่โรงงานระหว่างกระบวนการผลิต ชี้ประเด็นพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำคือวัตถุดิบ จนถึงผลิตภัณฑ์ และเป็นพี่เลี้ยงจนจบโครงการ สำหรับการสัมมนาในครั้งแรกนี้ จึงจัดขึ้นในหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย: ก้าวย่างที่มั่นใจสู่ตลาดอาเซียน” เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญที่จะเสริมความแข็งแรงทางวิชาการด้วยจริยธรรม ศิลปะสร้างสรรค์ กฎหมาย การออกแบบผลิตภัณฑ์และเส้นทางการตลาดยุค 2013 โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากภาคเอกชน บริษัทผู้ผลิตยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจารย์ และบุคคลที่สนใจจำนวนกว่า 100 คน
บรรยากาศในการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมแบ่งปันแนวคิด มุมมอง ความรู้และประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ราษฎรอาวุโส ได้บรรยายในหัวข้อ ’การพัฒนาสมุนไพรครบวงจร: จุดคานงัดทั้งการพัฒนาสุขภาพและเศรษฐกิจ’ คุณภัทราวดี มีชูธน ผู้บริหารภัทราวดีเธียเตอร์และโรงเรียนภัทราวดีมัธยมศึกษาหัวหิน ได้บรรยายในหัวข้อ “ชีวิตกับความคิดสร้างสรรค์” เภสัชกรปิ่นพงศ์ อินทรพาณิช (เภสัชกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด) เภสัชกรหญิงพิชชาภัช ตาลเพชร (เภสัชกรปฏิบัติการ กลุ่มกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อภิปรายร่วมกับ คุณภัทราวดี มีชูธน ในหัวข้อ “การบริหารความคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับกฎหมายยา” คุณสาธิต กาลวันตวานิช จากบริษัท Propaganda และ Phenomena บรรยายในหัวข้อ ’ออกแบบให้เหมาะ เจาะความสนใจผู้บริโภค’ เภสัชกรสุจินต์ นิทัศน์ปกรณ์ ผู้จัดการธุรกิจการตลาดยาระดับชาติและนานาชาติและยุทธศาสตร์ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน บรรยายในหัวข้อ ’การวางแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพยุคศตวรรษที่ 21’ คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร บรรยายในหัวข้อ ’มองยาไทยจากผู้บริโภค’ เป็นต้น ซึ่งนอกจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้แล้ว ในการสัมมนาดังกล่าวยังได้รับเกียรติจากคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลายท่านมาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แก่ รองศาสตราจารย์ ภญ. พร้อมจิต ศรลัมพ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. สมภพ ประธานธุรารักษ์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ ภาควิชาเภสัชกรรม รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย และ อาจารย์ ดร. ภก. ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ภาควิชาเภสัชกรรม
การสัมมนาในครั้งนี้เน้นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลร่วมกันระหว่างวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาในวงการสมุนไพรไทย และผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว มีประสบการณ์ความพร้อมและความชำนาญในการดำเนินธุรกิจ และมุ่งมั่นในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาดอาเซียนได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการสัมมนา
Photo Gallery