เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาฆ่าเชื้อกินไม่ครบ ทำไมจึงดื้อยา


นศภ. ศิรดา เด่นชูวงศ์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 27,250 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/10/2557
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อ มีหลายชนิด หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะสามารถรักษาอาการติดเชื้อในแต่ละบริเวณของร่างกายได้แตกต่างกันไป เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงต้องเคยมีประสบการณ์การรับประทานยากลุ่มนี้กันมาบ้าง โรคหรืออาการที่มักจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นแผลที่ผิวหนังและมีการติดเชื้อร่วมด้วย ตากุ้งยิง เป็นสิว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจและไม่ทราบวิธีการรับประทานยาฆ่าเชื้อที่ถูกวิธีเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการรักษาสูงสุด และเกิดโทษน้อยที่สุด 
การรับประทานยาฆ่าเชื้อให้ได้ผลดีนั้น สิ่งสำคัญคือควรรับประทานติดต่อกันให้ครบตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และต้องรับประทานตามคำแนะนำของยาแต่ละชนิดที่ได้มา เช่น รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร ห้ามรับประทานร่วมกับอาหารบางประเภท เป็นต้น มีหลายคนที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ รับประทานไม่ติดต่อกัน และเมื่ออาการที่เป็นดีขึ้น จะหยุดรับประทานยาไปเอง ไม่รับประทานให้หมดจำนวนที่ได้รับมาจากร้านยาหรือโรงพยาบาล ซึ่งการทำแบบนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล และเสี่ยงต่อการที่อาการติดเชื้อเหล่านั้นจะกลับมาเป็นใหม่ได้สูง เนื่องจากเมื่อรับประทานยาฆ่าเชื้อไปจำนวนหนึ่งทำให้เชื้อลดจำนวนลงและส่งผลให้อาการต่างๆ เริ่มดีขึ้น แล้วผู้ป่วยหยุดรับประทานยาฆ่าเชื้อไปก่อนครบกำหนดหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ปริมาณยาในร่างกายไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อให้เหลือน้อยจนโรคหรืออาการติดเชื้อต่างๆ หายขาด เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกแล้วเกิดการเป็นซ้ำ หรืออาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การดื้อยา” ได้ 
โดยปกติเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อธรรมดาที่ไม่ดื้อยา แต่จะมีเชื้อแบคทีเรียจำนวนหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมส่งผลให้เชื้อเกิดการดื้อยาขึ้น ซึ่งการเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมักมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับเชื้อที่ไม่ดื้อยา แต่เมื่อเชื้อเกิดการดื้อยาขึ้นแล้วจะทำให้ยาฆ่าเชื้อชนิดเดิมไม่สามารถทำลายเชื้อเหล่านี้ได้ จึงกำจัดได้เพียงเชื้อที่ยังไม่ดื้อยาให้ลดจำนวนลงแล้วเหลือเพียงแต่เชื้อดื้อยาอยู่ ซึ่งเชื้อดื้อยาเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนและทำให้อาการของโรคกลับมาเป็นซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นเชื้อที่ดื้อยาจะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดื้อยาให้แก่เชื้อตัวอื่นได้อย่างรวดเร็วทำให้เชื้อดื้อยามีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้แล้วการได้รับยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้เชื้อที่ไม่ดื้อยาสามารถพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาได้เช่นกัน และเมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นแล้วจะทำให้ยาชนิดเดิมหรือขนาดเดิมไม่สามารถที่จะใช้รักษาได้ อาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือระยะเวลาในการรักษาหรือแม้กระทั่งต้องเปลี่ยนชนิดของยาฆ่าเชื้อเป็นยาฆ่าเชื้อกลุ่มอื่นแทน ซึ่งอาจเป็นยากลุ่มที่ควรจะเก็บไว้ใช้สำหรับการติดเชื้อที่รุนแรง ทำให้ในอนาคตหากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงจะทำให้โอกาสที่เชื้อจะดื้อยาตัวใหม่ก็เพิ่มขึ้นและยังทำให้เหลือจำนวนตัวเลือกยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยลง นอกจากนี้การได้รับยาฆ่าเชื้อในอาการหรือโรคที่ไม่ได้มีการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นก็ถือเป็นการใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้อยาได้เช่นกัน 
ดังนั้นหากเกิดอาการเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยา เพื่อให้ช่วยประเมินอาการและความจำเป็นในการใช้ยาฆ่าเชื้อ หากอาการหรือโรคที่เป็นมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อจริง แพทย์หรือเภสัชกรจะสามารถเลือกชนิดของยาฆ่าเชื้อให้ตรงกับโรคและบริเวณที่ติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการซักประวัติที่เกี่ยวกับการแพ้ยาและเลือกชนิดของยาฆ่าเชื้อที่จะไม่ทำให้เกิดการแพ้ซ้ำได้ ไม่ควรหายามารับประทานเองหรือรับประทานยาฆ่าเชื้อของผู้ป่วยรายอื่น เพราะชนิดของยาที่เหมาะสมในการรักษาอาจไม่เหมือนกัน นอกจากอาจจะไม่หายจากอาการที่เป็น อาจเป็นมากขึ้นหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาที่หามารับประทานเอง เช่น ยาตีกับยาอื่นที่ใช้อยู่เป็นประจำ หรือเกิดการแพ้ยาได้อีกด้วย

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kardas P, Bishai RW. Compliance in anti-infective medicine. John Hopkins Advanced Studies in Medicine 2006; 6:652-8.
  2. ภญ.อัมพร อยู่บาง. อยากรู้ไหม...ทำไมถึงดื้อยา.[อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2557] เข้าถึงได้จาก :http://www.healthtoday.net/thailand/pharmacy/pharmacy_84.html
  3. สุนัดดา โยมญาติ. การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย กลไกการถ่ายทอดยีนต้านทานต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย. [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 21 กรกฎาคม 2557] เข้าถึงได้จาก: http://biology.ipst.ac.th/index.php/about-the-year-2555/394--2.html
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กว่าจะมาเป็นยา 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้