เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง...ทางเลือกแทนการรับประทานยาคุมกำเนิด


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.contraceptionchoices.org/sites/default/files/contraceptive/image/PatchNew.jpg
อ่านแล้ว 63,804 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/11/2564
อ่านล่าสุด 4 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้น ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว ยาเม็ดคุมกำเนิดนิยมใช้กันมากเนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและสะดวก แต่อาจมีปัญหาในด้านการใช้ยา เช่น ลืมรับประทาน รับประทานไม่ตรงเวลา อาเจียนภายหลังการรับประทาน ด้วยเหตุนี้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังซึ่งมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันจึงเป็นทางเลือกที่ดี ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ผู้ที่เหมาะกับการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง วิธีใช้ การออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

มารู้จักกับ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง เป็นแผ่นยารูปสี่เหลี่ยมหรือรูปกลม สีเนื้อหรือสีน้ำตาลอ่อน สำหรับใช้แปะบนผิวหนัง มีขนาดประมาณ 14-28 ตารางเซนติเมตร (ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) แผ่นยาแบ่งเป็นหลายชั้น (3-6 ชั้น ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าอีฟรา (Evra®) ที่มีใช้ในบ้านเรานั้นเป็นแผ่นยาสี่เหลี่ยมที่มีขนาด 20 ตารางเซนติเมตร มี 3 ชั้น ได้แก่ แผ่นรองยา (เมื่อติดผิวหนังจะอยู่บนสุด) เป็นฟิล์มพลาสติกและผ้าใยสังเคราะห์ที่ยืดหดได้ ช่วยป้องกันตัวยาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ถัดมาเป็นชั้นของสารเหนียว (adhesive) ที่มีตัวยาฮอร์โมนพร้อมทั้งส่วนประกอบอื่น และชั้นบนสุดเป็นแผ่นฟิล์มใสเพื่อลอกออกก่อนแปะยา ใน 1 รอบการคุมกำเนิด (4 สัปดาห์หรือ 28 วัน) จะแปะยาสัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์รวม 3 แผ่น แล้วเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา จากนั้นเริ่มแปะแผ่นยาสำหรับการคุมกำเนิดรอบใหม่ แผ่นยาจะปลดปล่อยตัวยาฮอร์โมนออกมาเพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง ขณะนี้มีการพัฒนายาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเพื่อให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้นซึ่งอาจใช้แปะเดือนละ 1 แผ่น

ตัวยาสำคัญใน "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบันเป็นชนิดฮอร์โมนรวม กล่าวคือมียาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) ผสมกับยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย) ตัวยาจึงคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined oral contraceptives หรือ combined pills) ซึ่งตัวยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนที่นำมาใช้ ได้แก่ เอทินิลเอสตราไดออล (ethinyl estradiol) ส่วนตัวยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินที่นำมาใช้อาจเป็น นอร์เอลเจสโทรมิน (norelgestromin หรือ 17-diacetyl norgestimate) หรือเลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) ซึ่งนอร์เอลเจสโทรมินเป็นตัวที่ออกฤทธิ์ของยานอร์เจสติเมต (norgestimate) ทั้งนอร์เจสติเมต เลโวนอร์เจสเตรล และเอทินิลเอสตราไดออลมีในยาเม็ดคุมกำเนิด ตัวอย่างยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนดังกล่าวข้างต้น ได้แก่
  1. ชนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับนอร์เอลเจสโทรมิน หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าอีฟรา (Evra®) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 20 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 600 ไมโครกรัมและนอร์เอลเจสโทรมิน 6 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออลโดยเฉลี่ย 33.9 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 203 ไมโครกรัม/วัน หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อการค้าซูเลน (Xulane®) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 14 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 530 ไมโครกรัมและนอร์เอลเจสโทรมิน 4.86 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 35 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมิน 150 ไมโครกรัม/วัน
  2. ชนิดที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับเลโวนอร์เจสเตรล มีชื่อการค้าเทวิลลา (Twirla®) เป็นแผ่นกลมขนาด 28 ตารางเซนติเมตร บริเวณตรงกลางซึ่งมีตัวยามีพื้นที่ 15 ตารางเซนติเมตร แต่ละแผ่นมีเอทินิลเอสตราไดออล 2.3 มิลลิกรัม และเลโวนอร์เจสเตรล 2.6 มิลลิกรัม ปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 30 ไมโครกรัม/วัน และเลโวนอร์เจสเตรล 120 ไมโครกรัม/วัน
"ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" เหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังใช้ได้กับผู้หญิงอายุ 18-45 ปีที่ประสงค์จะคุมกำเนิด โดยผู้หญิงเหล่านี้มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index หรือย่อว่า BMI) ต่ำกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 (ค่านี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและส่วนสูงเป็นเมตร) และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม (เนื่องจากยามีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัมหรือมากกว่านี้) ไม่ควรใช้ในผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะยาจะรบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนม นอกจากนี้ต้องไม่เข้าข่ายเป็นผู้ที่ห้ามใช้ดังกล่าวข้างล่างนี้ ด้วยเหตุนี้ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดที่เป็นข้อห้ามใช้สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดนี้


ผู้ที่ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ห้ามใช้กับบุคคลเหล่านี้
  • แพ้ยา ไม่ว่าจะแพ้ส่วนประกอบชนิดใดในผลิตภัณฑ์ที่จะใช้นั้น
  • ตั้งครรภ์หรือมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจะต้องผ่านการตรวจก่อนว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงสามารถใช้ยาได้
  • ตับทำงานบกพร่อง ไม่ว่าจะเกิดจากโรคตับเฉียบพลันหรือโรคตับเรื้อรัง
  • เป็นโรคมะเร็งตับหรือโรคเนื้องอกในตับ
  • มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) หรือมีประวัติว่าเคยเกิดอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว (เช่น อายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่, โรคเบาหวานขั้นรุนแรง, โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคไขมันในเลือดสูงขั้นรุนแรง) และหากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเกิดขึ้นขณะใช้ยาให้หยุดใช้ทันที
  • มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง (arterial thromboembolism) หรือมีประวัติว่าเคยเกิดอาการ (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, สมองขาดเลือด) หรือเคยเกิดอาการนำ (เช่น อาการปวดเค้นอก, สมองขาดเลือดชั่วขณะ) หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าว (เช่น สูงอายุ, สูบบุหรี่, โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้, โรคไขมันในเลือดสูงขั้นรุนแรง, โรคอ้วน, โรคไมเกรนที่เคยเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนไม่มีแรงหรือชา เดินเซ) และหากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงเกิดขึ้นขณะใช้ยาให้หยุดใช้ทันที
  • เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม, โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, หรือมีโรคเนื้องอกชนิดที่ไวต่อการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนและ/หรือฮอร์โมนพวกโพรเจสติน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
เริ่มใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" ได้เมื่อไร?

การเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีความแตกต่างกันตามสถานการณ์ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติดังนี้
  1. เริ่มแปะแผ่นยาภายในวันแรกที่มีประจำเดือน (ไม่ว่าจะเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดเป็นครั้งแรก หรือเคยคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นมาแล้วก่อนหน้านี้) โดยไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้เริ่มแปะแผ่นยาในวันแรกที่มีประจำเดือนจะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา (ปฏิบัติเช่นนี้เฉพาะการแปะแผ่นแรกเมื่อเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเท่านั้น)
  2. เริ่มแปะแผ่นยาวันใดก็ได้แต่ต้องไม่ได้ตั้งครรภ์หรือเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ กรณีเช่นนี้จะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา (ปฏิบัติเช่นนี้เฉพาะการแปะแผ่นแรกเมื่อเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเเท่านั้น)
  3. เริ่มแปะแผ่นยาหลังแท้งบุตร หากแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เริ่มแปะแผ่นยาได้ทันทีหรืออย่างช้าไม่เกิน 5 วันภายหลังแท้งบุตร และไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าเริ่มแปะแผ่นยาเกิน 5 วันหลังการแท้งบุตรจะต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา ซึ่งในบางคนการตกไข่อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 10 วันหลังการแท้งบุตร และถ้ามีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้

    หากแท้งบุตรในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ให้รอไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์จึงเริ่มแปะแผ่นยา (หากเริ่มแปะแผ่นยาเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด) และต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา หากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้
  4. ภายหลังคลอดบุตร หากไม่ได้ให้นมบุตร ให้รอไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์หลังคลอดจึงเริ่มแปะแผ่นยา (หากเริ่มแปะแผ่นยาเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด) และต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วันหรือให้งดการมีเพศสัมพันธ์ 7 วันภายหลังแปะแผ่นยา หากมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้โดยไม่ได้มีการป้องกัน ก่อนที่จะแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้รอจนมีประจำเดือนมาจึงเริ่มแปะแผ่นยาได้

    หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวมซึ่งรวมถึงยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง เพราะยารบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนมได้ หากจะใช้ให้รอหลังการหย่านม
วิธีใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ในแต่ละ "รอบการคุมกำเนิด (contraceptive cycle)" ซึ่งมี 28 วันหรือ 4 สัปดาห์ ให้แปะแผ่นยาสัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์รวม 3 แผ่น แล้วเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา วันเริ่มแปะแผ่นแรกถือเป็นวันที่ 1 ของรอบการคุมกำเนิด ดังนั้นต้องเปลี่ยนแผ่นยาในวันที่ 8 และวันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด ช่วงที่แปะแผ่นยาจะไม่มีประจำเดือนมา และในวันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิดให้แกะแผ่นที่ 3 ออกเพื่อเริ่มหยุดยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ 22-28 ของรอบการคุมกำเนิด) ในช่วงนี้จะมีประจำเดือนมาและถือเป็นการจบการคุมกำเนิดรอบนั้น จากนั้นเริ่มต้นแปะยาแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ทำดังนี้เรื่อยไป แม้ว่าในวันที่ต้องเริ่มแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่นี้ประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม (แต่ถ้าประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 2 รอบของการคุมกำเนิด ให้ทดสอบการตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นให้หยุดแปะแผ่นยาทันที) ทั้งนี้ห้ามหยุดยาเกิน 7 วัน (หากหยุดยานานกว่านี้ให้ดูหัวข้อ หากลืมเปลี่ยนแผ่นยา...จะทำอย่างไร?) ดังนั้นหากเริ่มแปะยาแผ่นแรกในวันใดของสัปดาห์ การเปลี่ยนแผ่นยาทุกครั้งจะเป็นวันเดิมเสมอ (เช่น เริ่มแปะแผ่นแรกตรงกับวันอาทิตย์ แผ่นต่อ ๆ ไปจะเปลี่ยนทุกวันอาทิตย์) สามารถเปลี่ยนแผ่นยาในเวลาใดก็ได้ที่สะดวกแต่ต้องภายในวันที่ครบกำหนดนั้น (จึงต่างจากการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานเวลาเดิมทุกวัน) ในการนับวันของ "รอบการคุมกำเนิด (contraceptive cycle)" ดังกล่าวข้างต้นไม่ตรงกับการนับวันของ "วงจรประจำเดือน (menstrual cycle)" ซึ่งวงจรประจำเดือนจะสอดคล้องกับการทำงานของรังไข่และมี 28 วัน เริ่มต้นนับวันที่ 1 เมื่อประจำเดือนมาวันแรกและวันที่ 14 ตรงกับวันตกไข่

วิธีแปะแผ่นยา ทำดังนี้
  1. หากมีแผ่นเดิมแปะอยู่ ให้แกะออกทันทีก่อนที่จะแปะแผ่นใหม่ ไม่ให้แกะล่วงหน้านานและไม่ให้แปะยา 2 แผ่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอีกแผ่นหนึ่งจะเป็นแผ่นเดิมก็ตาม
  2. เลือกผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน ไม่ถูกครูดหรือรัดแน่นด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ จึงควรเป็นบริเวณต้นแขนด้านนอก หน้าท้อง ก้น หรือแผ่นหลังส่วนบน (รูปที่ 1) ทั้งนี้ไม่ให้แปะที่หน้าอกหรือเต้านม หรือบริเวณที่มีรอยแผล ตลอดจนบริเวณที่มีอาการอักเสบ แดงหรือระคายผิวหนังอยู่ก่อนแล้ว การแปะยาแผ่นใหม่ควรเปลี่ยนที่จากครั้งก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการระคายผิวหนัง
  3. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยาและเช็ดให้แห้ง ไม่ทาครีม โลชัน หรือแป้งบริเวณนั้น เพราะจะทำให้แผ่นยาติดไม่เนียนแนบผิวหนังและติดไม่แน่น
  4. ไม่ตัดหรือทำให้แผ่นยาเสียหาย เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพยาไม่ได้ตามที่ต้องการ
  5. ดึงแผ่นพลาสติกใสที่ปิดบนแผ่นยาออกเพียงซีกเดียวเพื่อแปะซีกนั้นลงบนผิวหนังก่อน แล้วจึงดึงแผ่นพลาสติกใสอีกซีกหนึ่งออก ระวังอย่าให้มือสัมผัสผิวแผ่นยาด้านที่จะติดลงบนผิวหนัง จากนั้นลูบแผ่นยาให้เนียนแนบสนิทกับผิวหนัง หากแผ่นยาไม่แนบสนิทกับผิวหนังจะทำให้การปลดปล่อยตัวยาเกิดได้ไม่ดี และควรตรวจสอบด้วยสายตาทุกวันว่าแผ่นยายังแปะอยู่ในสภาพดีดังเดิม


ยาฮอร์โมนใน "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?

เมื่อแปะแผ่นยาลงบนผิวหนัง แผ่นยาจะค่อย ๆ ปลดปล่อยตัวยาฮอร์โมนออกมา และตัวยาจะแทรกซึมจากตำแหน่งที่แปะแผ่นยาผ่านหนังกำพร้าลงสู่ผิวหนังชั้นล่าง ยาบางส่วนอาจผ่านลงสู่ผิวหนังชั้นล่างทางช่องขนและรูเปิดของท่อเหงื่อแต่ผ่านได้ในปริมาณจำกัด ซึ่งที่ชั้นหนังแท้และชั้นใต้หนังแท้มีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองมาเลี้ยง (รูปที่ 2) ยาจึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อออกฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์อีฟราปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออลโดยเฉลี่ย 33.9 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 203 ไมโครกรัม/วัน ส่วนผลิตภัณฑ์ซูเลนปลดปล่อยตัวยาเอทินิลเอสตราไดออล 35 ไมโครกรัม/วัน และนอร์เอลเจสโทรมิน 150 ไมโครกรัม/วัน ดังกล่าวแล้วข้างต้น ค่าอ้างอิง (ระดับยาในซีรัม) สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของตัวยาฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิดสูตรผสม สำหรับเอทินิลเอสตราไดออลอยู่ที่ 25-75 พิโคกรัม/มิลลิลิตร และนอร์เอลเจสโทรมินอยู่ที่ 0.6-1.2 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ในกรณีที่แปะยาอีฟราแผ่นแรกตัวยาฮอร์โมนถูกดูดเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงระดับคงที่ (plateau level) ภายในประมาณ 48 ชั่วโมง และตลอดช่วงที่แปะแผ่นยา 1 สัปดาห์แรกให้ระดับเอทินิลเอสตราไดออลในซีรัมโดยเฉลี่ย 50 พิโคกรัม/มิลลิลิตร และนอร์เอลเจสโทรมินโดยเฉลี่ย 0.8 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งอยู่ในช่วงของค่าอ้างอิงข้างต้น ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังให้ระดับยาในซีรัมคงที่ดีกว่ายาชนิดรับประทาน การแปะยาแผ่นต่อ ๆ ไปให้ระดับยาในซีรัมเพิ่มเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์แรกที่เริ่มแปะแผ่นแรก การแปะแผ่นยาที่หน้าท้องให้ระดับยาฮอร์โมนทั้งสองชนิดในซีรัมต่ำกว่าการแปะที่ก้น ต้นขาหรือต้นแขนประมาณ 20% อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะแปะแผ่นยาบริเวณใดตามที่แนะนำไว้ และไม่ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกจะร้อน ชื้น หรือมีกิจกรรมการออกกำลังกาย หรือการแช่ในน้ำเย็น แผ่นยาที่แปะไว้ยังคงให้ระดับยาอยู่ในช่วงของค่าอ้างอิงข้างต้น ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังแม้จะให้ระดับในซีรัมคงที่ดีกว่ายารับประทาน แต่ปริมาณยาที่ร่างกายได้รับจากการแปะแผ่นยามีความแปรปรวนระหว่างบุคคลสูงกว่ายาชนิดรับประทาน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยบางอย่างมากกว่า เช่น อายุมากขึ้น มีน้ำหนักตัวและพื้นที่ผิวกายมาก ซึ่งประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังลดลงในคนที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป (ยาชนิดรับประทานได้รับผลกระทบน้อยกว่า)



"ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" ออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีตัวยาเป็นฮอร์โมนพวกเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนพวกโพรเจสตินคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จึงมีการออกฤทธิ์ทำนองเดียวกันคือยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ แม้ว่ายาอาจมีการออกฤทธิ์อย่างอื่นได้บ้าง เช่น ลดการสร้างเมือกและเพิ่มความหนืดของเมือกปากมดลูกซึ่งทำให้ตัวอสุจิไม่อาจเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ ตลอดจนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่พร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เทียบได้กับการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังที่มีเอทินิลเอสตราไดออลผสมกับนอร์เอลเจสโทรมินหากใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำพบอัตราความล้มเหลว (เกิดตั้งครรภ์) ได้ประมาณ 1% ใน 1 ปี แต่ถ้าใช้ตามปกติทั่วไป (เช่น บางครั้งเปลี่ยนแผ่นยาไม่ตรงเวลา บางครั้งแผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเป็นเวลานาน) พบอัตราความล้มเหลวราว 7-9% นอกจากนี้ประสิทธิภาพของยาลดลงในผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัมขึ้นไป หรือเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นบางชนิดที่เกิดปฏิกิริยาต่อกันได้

แผ่นยาที่แปะผิวหนังไว้เผยอหรือเปิดบางส่วน...จะทำอย่างไร?

หากแผ่นยาที่แปะผิวหนังไว้เกิดการเผยอหรือเปิดบางส่วนซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของยาเกิดได้ไม่เต็มที่ ให้ปฏิบัติดังนี้
  • แผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเกิดนานไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากแผ่นยายังคงความเหนียวและติดผิวหนังได้ดีให้แปะกลับสภาพเดิมทันที แต่ถ้าความเหนียวของแผ่นยาลดลงจนไม่สามารถแปะให้เนียนแนบผิวหนังได้ดังเดิมให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ไม่ให้แก้ไขด้วยการทากาวหรือใช้พลาสเตอร์ปิดทับ หากได้กระทำทันทีดังข้อแนะนำข้างต้นนั้น ยายังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่แทนแผ่นที่ชำรุดนั้นการเปลี่ยนแผ่นยาครั้งต่อไปยังคงเป็นวันเดิม (ซึ่งหมายความว่ายาแผ่นใหม่ที่แปะนี้จะใช้ไม่ถึง 7 วัน)
  • แผ่นยาเผยอหรือเปิดบางส่วนเกิดนานเกิน 24 ชั่วโมงหรือไม่รู้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ให้ถือว่าการคุมกำเนิดรอบนั้นยุติลง ให้เริ่มต้นการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันทีโดยการแปะแผ่นใหม่ (เป็นแผ่นที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ซึ่งหมายความว่าต้องแปะแผ่นยาต่อเนื่องไปจนครบ 3 สัปดาห์แล้วจึงหยุดยาเพื่อให้ประจำเดือนมา 7 วัน) และถือวันนั้นเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อไป พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันภายหลังแปะแผ่นยาหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย
หากลืมเปลี่ยนแผ่นยา...จะทำอย่างไร?

การเปลี่ยนยาแผ่นใหม่เมื่อครบกำหนด สามารถเปลี่ยนในเวลาใดก็ได้ที่สะดวกแต่ต้องทำภายในวันที่ครบกำหนดนั้น หากลืมเปลี่ยนในวันที่ครบกำหนดหรือลืมแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ให้ปฏิบัติดังนี้
  1. ลืมแปะแผ่นที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่ ให้แปะแผ่นยาทันทีที่นึกได้ และให้ถือเอาวันนั้นเป็นวันที่ 1 ของการคุมกำเนิดรอบใหม่นี้และเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อ ๆ ไปด้วย พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย ทั้งนี้ช่วงที่หยุดยาไม่ให้หยุดเกิน 7 วันไม่ว่ากรณีใด ๆ (แม้ว่าในวันที่ต้องแปะยาแผ่นใหม่นั้นประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม) เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดการตกไข่และตั้งครรภ์จะเพิ่มตามระยะเวลาที่พ้นจาก 7 วันนั้น
  2. ลืมเปลี่ยนแผ่นที่ 2 (วันที่ 8 ของรอบการคุมกำเนิด) หรือแผ่นที่ 3 (วันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด) หากลืมไม่เกิน 2 วัน (ไม่เกิน 48 ชั่วโมง) ให้แปะแผ่นใหม่ทันทีที่นึกได้และยังคงถือ "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ตามเดิม และหากว่า 7 วันก่อนหน้าที่จะลืมเปลี่ยนแผ่นยานั้นได้มีการแปะยาอย่างถูกต้องแล้ว ในกรณีเช่นนี้ไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  3. ลืมเปลี่ยนแผ่นที่ 2 (วันที่ 8 ของรอบการคุมกำเนิด) หรือแผ่นที่ 3 (วันที่ 15 ของรอบการคุมกำเนิด) หากลืมเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหรือนานกว่านี้ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ให้ถือว่าการคุมกำเนิดรอบนั้นยุติลงและเริ่มต้นการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันที วันเริ่มต้นใหม่นี้ถือเป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อ ๆ ไป พร้อมทั้งให้งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหรือให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในช่วงนั้น เช่น ถุงยางอนามัย
  4. ลืมแกะแผ่นที่ 3 (วันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิด) เพื่อเข้าสู่ช่วงเว้นยา ให้รีบแกะแผ่นยาออกทันทีที่นึกได้ ซึ่ง "วันเปลี่ยนแผ่นยา" สำหรับการคุมกำเนิดรอบใหม่ยังคงเป็นวันเดิม และไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ต้องการเลื่อนการมีประจำเดือนและต้องการเปลี่ยนแปลง "วันเปลี่ยนแผ่นยา"

หากต้องการเลื่อนการมีประจำเดือนออกไป 1 รอบ ทำได้โดยการแปะยาแผ่นใหม่ในสัปดาห์ที่ 4 หรือวันที่ 22 ของรอบการคุมกำเนิด (แทนการหยุดยา) และเปลี่ยนแผ่นยาทุกสัปดาห์ ในช่วงที่แปะยาแผ่นที่ 6 สามารถเลือกหยุดยาให้ตรงกับวันใดของสัปดาห์นั้นก็ได้เพื่อใช้เป็น "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ในครั้งต่อไป ไม่ควรแปะยาต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ การแปะแผ่นยาต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้นนี้ไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่อาจพบว่ามีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเฉพาะ "วันเปลี่ยนแผ่นยา" โดยไม่ประสงค์จะเลื่อนการมีประจำเดือนออกไป สามารถทำได้ในช่วงที่แปะยาแผ่นที่ 3 (ของรอบการคุมกำเนิด) โดยเลือกหยุดยาให้ตรงกับวันที่ต้องการได้ (ซึ่งการคุมกำเนิดรอบนั้นจะสั้นลง) ทั้งนี้ในการเลือก "วันเปลี่ยนแผ่นยา" ห้ามทำโดยการหยุดยาเกิน 7 วันโดยเด็ดขาด

หยุดใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง" จะกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อไร?

หากต้องการตั้งครรภ์สามารถแกะแผ่นยาคุมกำเนิดออกได้ทันที ซึ่งร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ (เหมือนการหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด) ส่วนยาในร่างกายจะค่อย ๆ ถูกขับออก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ภายในเวลาไม่นาน มีเป็นส่วนน้อยที่ตั้งครรภ์ล่าช้า

ผลไม่พึงประสงค์ของ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

ผลไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเกิดได้คล้ายกับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดเต้านม ท้องอืด ปวดศีรษะ มีน้ำสะสมมากในร่างกาย (ตัวบวมน้ำ) มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด (จึงมีข้อห้ามใช้ดังกล่าวข้างต้น) การใช้เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเต้านม ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดตรงตำแหน่งที่แปะแผ่นยา ได้แก่ คัน แสบ หรือระคายผิวหนัง ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้คล้ายกับการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดอาจลดลงหากใช้ร่วมกับยาบางชนิดในกลุ่ม ยาต้านชัก ยาต้านไวรัส ยาต้านแบคทีเรีย (โดยเฉพาะไรแฟมพิซิน) เป็นต้น ซึ่งช่วงนั้นอาจต้องพิจารณาใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย

เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย (หรือข้อด้อย) ของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีประสิทธิภาพสูงเทียบได้กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม การใช้สะดวก และกลับมาตั้งครรภ์ได้เร็วเมื่อแกะแผ่นยาออก แต่ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนอยู่ด้วย จึงมีผลไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ของเอสโตรเจนรวมถึงความเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่ต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดฉีด (ที่มีตัวยาเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต), ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (ที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล หรือเอโทโนเจสเตรล) และห่วงอนามัยคุมกำเนิด (ที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล หรือสารทองแดง) และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ นอกจากนี้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังยังมีข้อดีและข้อเสีย (หรือข้อด้อย) อื่น ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1



ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ "ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง"

เมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีข้อควรคำนึงบางประการดังนี้
  1. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีตัวยาเป็นฮอร์โมนรวมซึ่งคล้ายกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่ใช้กันมาก จึงมีผลไม่พึงประสงค์ ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในผู้ที่ห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจึงห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังด้วย
  2. ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่ได้เหนือกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีข้อดีเพียงแค่ว่ายาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน ทำให้หมดปัญหาเรื่องลืมรับประทาน รับประทานไม่ตรงเวลา หรืออาเจียนภายหลังรับประทาน
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังมีข้อห้ามใช้หลายอย่างดังกล่าวข้างต้น ก่อนเริ่มใช้จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าไม่มีโรคหรือความผิดปกติที่เป็นข้อห้าม
  4. ก่อนแปะแผ่นยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน
  5. เมื่อถึงกำหนดวันเปลี่ยนแผ่นยา แม้จะเปลี่ยนเวลาใดก็ได้ที่สะดวกภายในวันนั้น แต่ถ้าแกะยาแผ่นเดิมออกแล้วต้องแปะแผ่นใหม่ทันที (ไม่ให้แกะรอไว้ล่วงหน้า)
  6. ไม่ให้หยุดยาเกิน 7 วัน ดังนั้นเมื่อหยุดยาครบกำหนดแล้วให้เริ่มแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ทันทีในวันรุ่งขึ้น แม้ว่าในวันนั้นประจำเดือนยังไม่มาหรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีประจำเดือนมาติดต่อกัน 2 รอบของการคุมกำเนิด ให้ทดสอบการตั้งครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นให้หยุดแปะแผ่นยาทันที
  7. ไม่ให้แปะยา 2 แผ่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าแผ่นหนึ่งจะเป็นแผ่นเดิมก็ตาม
  8. หากความเหนียวของแผ่นยาลดลงจนไม่สามารถแปะทั้งแผ่นให้แนบผิวหนังได้ดังเดิม ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ไม่ให้แก้ไขด้วยการทากาวหรือใช้พลาสเตอร์ปิดทับโดยเด็ดขาด
  9. สำรวจด้วยสายตาทุกวันว่าแผ่นยายังแปะอยู่ในสภาพเดิม ไม่หลุดลอกหรือเผยอ
  10. ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  11. ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษาว่ามีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (เช่นเดียวกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม) เพราะอาจได้รับยาอื่นที่เกิดปฏิกิริยาต่อกันกับตัวยาฮอร์โมนในยาคุมกำเนิด จนรบกวนประสิทธิภาพของกันและกันได้ (กล่าวคือประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง หรือประสิทธิภาพในการรักษาโรคของยาอื่นลดลง) หรือเกิดผลไม่พึงประสงค์มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. Evra® EPAR - product information, updated: October 26, 2021. https://www.ema.europa.eu/en/documents/product-information/evra-epar-product-information_en.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  2. Xulane® (norelgestromin and ethinyl estradiol transdermal system). Highlights of prescribing information, revised: February 2021. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?type=display%20&setid=f7848550-086a-43d8-8ae5-047f4b9e4382. Accessed: October 28, 2021.
  3. Twirla® (levonorgestrel and ethinyl estradiol) transdermal system. Highlights of prescribing information, revised: Febuary 2020. Reference ID: 4561873. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/204017s000lbl.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  4. Graziottin A. A review of transdermal hormonal contraception: focus on the ethinylestradiol/norelgestromin contraceptive patch. Treat Endocrinol 2006; 5:359-65.
  5. Sivasankaran S, Jonnalagadda S. Advances in controlled release hormonal technologies for contraception: a review of existing devices, underlying mechanisms, and future directions. J Control Release 2021; 330:797-811.
  6. Abd E, Yousef SA, Pastore MN, Telaprolu K, Mohammed YH, Namjoshi S, et al. Skin models for the testing of transdermal drugs. Clin Pharmacol 2016; 8:163-76.
  7. Arellano R, Patel J. Contraception updates. https://www.accp.com/docs/bookstore/acsap/a2021b2_sample.pdf. Accessed: October 28, 2021.
  8. Galzote RM, Rafie S, Teal R, Mody SK. Transdermal delivery of combined hormonal contraception: a review of the current literature. Int J Womens Health 2017; 9:315-21.
  9. Bahamondes L, Valeria Bahamondes M, Shulman LP. Non-contraceptive benefits of hormonal and intrauterine reversible contraceptive methods. Hum Reprod Update 2015; 21:640-51.
  10. Maguire K, Westhoff C. The state of hormonal contraception today: established and emerging noncontraceptive health benefits. Am J Obstet Gynecol 2011; 205(4 Suppl):S4-8.
  11. Bateson D, McNamee K, Briggs P. Newer non-oral hormonal contraception. BMJ 2013. doi: 10.1136/bmj.f341. Accessed: October 28, 2021.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


วิตามินซีกับโรคเกาต์ 9 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้