เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ลืมกินยาตามเวลา อันตรายหรือไม่


ภก. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 660,743 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/12/2554
อ่านล่าสุด 9 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัญหาที่มักพบเสมอเวลาจะรับประทานยา คือ ต้องรับประทานก่อนหรือหลังอาหาร และก่อนอาหารนานเท่าไหร่ หลังอาหารกี่นาที ก่อนนอนนานแค่ไหน ถ้าลืมแล้วจะทำอย่างไร บทความนี้จึงขอสรุปหลักการและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องทั่วไปของวิธีการรับประทานยาเหล่านี้ 
1. ยาก่อนอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหาร อย่างน้อย ๓๐ นาที 
ยาที่รับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่าง ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งก็คือก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย ๓๐ นาที เนื่องจาก

  • ยาอาจถูกทำลายและเสียประสิทธิภาพในการรักษา เมื่อพบกับกรดปริมาณมากที่กระเพาะอาหารจะหลั่งออกมาหลังมื้ออาหาร การรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง ทำให้ยาไม่ถูกทำลาย และประสิทธิภาพของยาไม่ลดลง
  • อาหารและส่วนประกอบของอาหารอาจลดการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่สามารถรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหารได้
  • ยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน จะใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาทีก่อนที่จะออกฤทธิ์ การรับประทานยาก่อนอาหารจึงเป็นเสมือนการเตรียมพร้อมให้ระบบทางเดินอาหาร ก่อนจะรับประทานอาหาร

การลืมรับประทานยาก่อนอาหาร 
ถ้าลืมรับประทานยาก่อนอาหาร หรือนึกได้ว่าต้องรับประทานยาก่อนที่จะทานอาหารไม่ถึงครึ่งชั่วโมง การทานยาก่อนอาหารทันที จึงไม่ต่างกับการรับประทานยาหลังอาหาร ควรข้ามยามื้อที่ลืมไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการหลั่งอินซูลิน กรณียาที่รับประทานก่อนอาหารเพราะยาจะถูกทำลายหรืออาหารอาจลดการดูดซึมของยา อาจรอให้กระเพาะอาหารว่างก่อนแล้วค่อยรับประทานยาก็ได้ ซึ่งก็คือประมาณ ๒ ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร แต่ยาที่ต้องรับประทานในมื้อถัดไปอยู่แล้ว ให้ทานยาก่อนอาหารมื้อถัดไปแทนได้เลย ไม่ต้องทานยาซ้ำ

2. ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันทีและไม่ควรนานเกิน ๑๕ นาทีหลังอาหาร 
ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหารทันที อาจทานพร้อมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารคำแรกก็ได้ เพราะไม่ว่าจะกรณีใด ยาจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารพร้อมกับอาหารที่รับประทานเหมือนๆ กัน ยาที่ควรรับประทานหลังอาหาร เนื่องจาก 
 

  • ยามีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน การรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
  • ต้องการกรดในกระเพาะอาหารช่วยในการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรดในกระเพาะอาหารจะหลั่งสูงสุดในระหว่างที่รับประทานอาหารเท่านั้น

การลืมรับประทานยาหลังอาหาร 
ถ้าลืมรับประทานยาหลังอาหาร สามารถรับประทานยาได้ทันทีที่นึกได้และไม่เกิน ๑๕ นาที แต่ถ้านึกได้หลังจากรับประทานอาหารมากกว่า ๑๕ นาทีแล้ว ควรรอรับประทานหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจรับประทานอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนรับประทานยาก็ได้ กรณีที่ยานั้นมีความสำคัญมาก

3. ยาก่อนนอน ควรรับประทานยาก่อนเข้านอน ๑๕ – ๓๐ นาท 
ยาที่แนะนำให้รับประทานก่อนนอนมีหลายประเภท แต่โดยทั่วไป ควรรับประทานก่อนนอน ๑๕ – ๓๐ นาที เนื่องจาก 
 

  • ยามีผลข้างเคียงสำคัญคือทำให้ง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะมาก ถ้ารับประทานก่อนนอนนานเกินไป อาจส่งผลต่อให้ผู้รับประทานยาทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กรณีที่ยังไม่พร้อมจะเข้านอน
  • ยาที่ช่วยให้นอนหลับ มักใช้เวลาประมาณ ๑๕ – ๓๐ นาทีก่อนที่จะออกฤทธิ์ช่วยให้หลับ

การลืมรับประทานยาก่อนนอน 
ถ้าลืมรับประทานยาก่อนนอน มักนึกได้เมื่อถึงเช้าของวันรุ่งขึ้นแล้ว ไม่ควรรับประทานยานั้นอีก ควรรอให้ถึงเวลาก่อนเข้านอนในคืนถัดไปค่อยรับประทานยานั้น

4. ยารับประทานเวลามีอาการ ควรรับประทานเมื่อมีอาการจริงๆ 
ยาในกลุ่มนี้ มักระบุในฉลากว่ารับประทานทุก ๔ – ๖ ชั่วโมง ทุก ๘ ชั่วโมง หรือทุก ๑๒ ชั่วโมง เวลามีอาการ เมื่อมีอาการสามารถรับประทานยาได้เลย ไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร เนื่องจากไม่ว่าจะรับประทานอาหารหรือไม่ ก็ไม่ส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หลังรับประทานยาแล้วถ้ายังมีอาการอยู่สามารถทานยาซ้ำได้ ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ไม่ควรรับประทานบ่อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก เมื่อหายแล้วสามารถหยุดยาได้เลย

หมายเหตุ ยาบางประเภท อาจมีวิธีรับประทานยานอกเหนือไปจากยาโดยทั่วๆ ไปข้างต้น รวมทั้งยาบางประเภทอาจรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แล้วแต่สะดวก เนื่องจากยาอาจมีการออกฤทธิ์ที่พิเศษหรือมีผลข้างเคียงอื่นๆ ซึ่งผู้ทำหน้าที่ส่งมอบยาเหล่านี้จะอธิบายวิธีการรับประทานเป็นกรณีๆ ไป

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Larry AB, editors. Applied clinical pharmacokinetics. 2nd ed. New York: McGraw-Hill Medical; 2008.
  2. Joseph TD, editors. Concepts in clinical pharmacokinetics. 5th ed. American Society of Health-System Pharmacists; 2010.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้