Eng |
รองศาสตราจารย์ สมบูรณ์ เจตลีลา ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แถบหด
แถบหดรอบฝาใช้หลักการหดตัวของพอลิเมอร์เมื่อถูกความร้อน ที่ใช้กันมากคือ PVC ในลักษณะเป็นหลอดกลมที่เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าฝาและวงแหวนรอบคอขวด ตัดให้ได้ความยาวตามต้องการด้วยเครื่องตัดอัตโนมัติ แล้วครอบลงตรงบริเวณฝาที่ปิดขวดและวงแหวนรอบคอขวด ดังแสดงในรูปที่ 1 จากนี้ขวดเคลื่อนตัวเข้าไปในอุโมงค์ร้อน ซึ่งทำให้แถบหดตัวรัดฝาแน่นกับฝาที่ปิดขวดและวงแหวนรอบคอขวด หากต้องการเอาฝาออกต้องทำลายแถบหด เราสามารถเอาแถบหดออกได้ง่ายขึ้น โดยจัดทำลักษณะรอยปรุเหนือบริเวณส่วนล่างขึ้นมาพองาม ซึ่งจะทำให้เห็นร่องรอยการแกะชัดเจนขึ้น1 ประโยชน์ของแถบหดอยู่ที่บ่งชี้ร่อยรอยการแกะจำกัดบริเวณตรงฝาเท่านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องหุ้มรอบภาชนะทั้งหมด ซึ่งทำให้ไม่สิ้นเปลืองวัสดุและเวลาที่ใช้ ผลิตภัณฑ์จึงมีราคาไม่แพงมากนัก
ผนึกบนปากภาชนะ
การปิดผนึกบนปากภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์เรียกว่าการปิดผนึกภายใน วัสดุที่ใช้ ได้แก่ เทอร์โมพลาสติก พอลิสไตรีนโฟม กระดาษแก้ว ฟิล์มพลาสติก หรือใช้หลายตัวร่วมกับฟอยล์อลูมิเนียม โดยมีการออกแบบเฉพาะตัว ให้ปิดผนึกบนปากภาชนะ และด้านล่างของฝา ดังนั้นจะเปิดผนึกได้จะต้องมีการตัดหรือทำให้แตกขาดเพื่อเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และเมื่อขจัดผนึก จะเห็นร่อยรอยการแกะและไม่สามารถนำผนึกกลับมาใช้ใหม่ได้ 2 ดังแสดงในรูปที่ 2
การปิดผนึกภายในที่ดีนั้น ผนึกจะต้องอยู่ในสภาพดีไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถปิดผนึกได้ทั่วถึง มีการแนะนำให้ใช้วิธีการเหนี่ยวนำความร้อนสำหรับฝาชนิดพลาสติก แต่ไม่ควรใช้กาวเหนียวที่ไวต่อแรงกด2 เพราะอาจหลุดได้ง่าย
การปิดผนึกภายในกับขอบปากภาชนะบรรจุ ทำให้เวลาเข้าถึงผลิตภัณฑ์จะต้องทำลายผนึกเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้กาวหรือเคลือบเหนียวที่ไวต่อความร้อน ความร้อนที่ได้เกิดจากการเหนี่ยวนำความถี่สูงให้แก่ฟอยล์อลูมิเนียมซึ่งส่วนประกอบของผนึกภายใน เมื่อปิดฝาขวด ขวดจะถูกนำไปผ่านขดลวดเหนี่ยวนำซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการสั่นสะเทือนด้วยความถี่สูงที่ฟอยล์ ทำให้ฟอยล์ร้อนขึ้นและชั้นพอลิเมอร์ที่เคลือบด้านล่างจะปิดผนึกกับปากขวด ดังแสดงในรูปที่ 3 ทำให้ไม่สามารถแกะผนึกออกมาได้โดยไม่มีร่องรอยการแกะ วิธีนี้ใช้ได้ดีกับฝาพลาสติกเท่านั้น หากเป็นฝาโลหะจะรบกวนการเหนี่ยวความร้อนให้แก่ฟอยล์ นอกจากนี้จะต้องออกแบบผนึกภายในให้มีการพิมพ์หรือตกแต่งให้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียว1
เอสารอ้างอิงถึง