Eng |
อาจารย์ ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ในสื่อต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในฉบับนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลในการป้องกันตัวเองต่อไป
โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Histoplasma capsulatum โดยเชื้อราชนิดนี้พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นดินที่ปนเปื้อนมูลนกและค้างคาวในบริเวณโพรงต้นไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือในถ้ำ เชื้อราก่อโรคชนิดนี้จะมีรูปร่าง 2 ลักษณะ (dimorphic fungi) โดยในธรรมชาติจะอยู่เป็นสายราที่สามารถสร้างสปอร์ได้และเมื่อเราหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไปในปอดหรือมีการติดเชื้อในร่างกายเชื้อดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นยีสต์ โรคนี้พบการติดเชื้อได้ทั้งในคนปกติและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเดินป่าหรือไปเที่ยวในถ้ำที่มีมูลนกหรือมูลค้างคาวปริมาณมากโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันเช่น หน้ากากอนามัย พื้นที่ระบาดของโรคนี้อยู่ในแถบทวีปอเมริกา แอฟริกา และในบางพื้นที่ของทวีปเอเชีย ในขณะที่ประเทศไทยพบความชุกอยู่ที่ ร้อยละ 0.3-1 โดยมักพบการระบาดเป็นหย่อม ๆ ในบางพื้นที่แถบภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ
ผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อในดินที่ปนเปื้อนมูลนกและค้างคาวเข้าไป ปัจจุบันยังไม่พบการติดต่อของโรคจากคนสู่คนหรือสัตว์สู่คน
ผู้ที่เข้าไปยังแหล่งที่มีการระบาดหรือมีความชุกของโรคสูงรวมถึงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเช่นการทำกิจกรรมหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมหรือพื้นดินที่มีการปนเปื้อนมูลนกหรือค้างคาวปริมาณมาก นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อยังรวมไปถึงเกษตรกร ผู้ทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืช ผู้ดูแลสัตว์เลี้ยง คนงานก่อสร้างหรือรื้อถอนตึก คนสวน นักสำรวจหรือท่องเที่ยวในถ้ำ เป็นต้น
ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงภายหลังการติดเชื้อได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ human immunodeficiency virus (HIV) ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เด็กแรกเกิดและผู้สูงอายุ เป็นต้น
ภายหลังการสูดดมเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-17 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่ที่มักไม่แสดงอาการป่วย แต่ในบางราย (ประมาณร้อยละ 1) มักแสดงอาการและอาการต่าง ๆ สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือการติดเชื้อแบบแพร่กระจาย (disseminated histoplasmosis)
ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปริมาณของเชื้อที่ได้รับและระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยได้แก่มีไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง อ่อนเพลีย หนาวสั่น เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นหรือปวดข้อ นอกจากนี้ในผู้ที่มีภาวะโรคปอดอยู่แล้วเช่นโรคถุงลมโป่งพองอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเรื้อรังรวมถึงอาการรุนแรงได้
ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเรื้อรังจะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลด ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับการติดเชื้อวัณโรคปอด นอกจากนี้ในผู้ที่รับเชื้อปริมาณมากหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการติดเชื้อแบบเรื้อรังที่ปอดจะพบอาการปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงที่นำไปสู่กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือ Acute respiratory distress syndrome (ARDS) รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ของเชื้อจากปอดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย (disseminated histoplasmosis) เช่นสมองหรือไขสันหลัง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองโต นอกจากนี้อาจพบแผลเปื่อยภายในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนัง รวมถึงภาวะเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้แก่ ต่อมหมวกไตทำงานไม่เต็มที่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
แพทย์อาศัยการซักประวัติการไปพื้นที่หรือดำเนินกิจกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อ การตรวจร่างกายและอาการทางคลินิกของผู้ป่วย รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคได้แก่ การย้อมจากสิ่งส่งตรวจเช่นจากผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองหรือไขกระดูก การเพาะเชื้อ การตรวจทางพยาธิวิทยาและการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยารวมถึงการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติการติดเชื้อเฉียบพลันที่ปอดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา ในขณะที่กลุ่มที่ต้องใช้ยารักษาจะใช้ยาต้านเชื้อราเป็นหลักได้แก่ amphotericin B และ itraconazole โดยขนาดและระยะเวลาการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงและลักษณะทางคลินิกของโรค นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการผ่าตัดในกรณีที่มีภาวะอุดตันหรือการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง