เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ


ผู้ช่วยศาสาตราจารย์ ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://images.theconversation.com/files...2&cs=strip
อ่านแล้ว 7,254 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 03/10/2565
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ภาวะไอเรื้อรัง

เป็นอาการที่พบได้บ่อยภายหลังการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัด (Rhinovirus), ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), Adenovirus, และ Respiratory syncytial virus (RSV) ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “post-infectious cough” โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้ง และมีอาการในลักษณะกึ่งเฉียบพลัน คืออาการไอจะคงอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อแต่ไม่เกิน 8 สัปดาห์(1) โดยทั่วไปการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้ภายใน 7-14 วัน อย่างไรก็ตามอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อเชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากเสมหะหรือน้ำมูกที่ไหลลงคอ หรืออาจเกิดจากการอักเสบอันเนื่องมาจากการติดเชื้อในตอนแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะไอเรื้อรังคือการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดเมือกปริมาณมากซึ่งไม่สามารถกำจัดออกไปทางปอดได้อย่างเพียงพอ ภาวะไอเรื้อรังที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ระยะเวลาในการติดเชื้อของผู้ป่วยยาวนานขึ้นด้วย(2) 



ภาพจาก : https://i0.wp.com/allergylosangeles.com/wp-content/uploads/2019/07/man-cough.jpg?fit=710%2C474&ssl=1 

ในการวินิจฉัยภาวะไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ แพทย์จะมีการตรวจร่างกายและซักถามประวัติความเจ็บป่วย เช่น เวลาที่เริ่มเป็นหวัดหรือติดเชื้อ ลักษณะของการไอในปัจจุบัน และอาการอื่นๆ และทำการพิจารณาแยกแยะสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ซึ่งทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน (GERD), หอบหืด, ปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบ, ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย, การสูบบุหรี่, การใช้ยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitor เช่น enalapril, captopril, ramipril การวินิจฉัยอาการจะมีการถามถึงลักษณะการไอเพื่อพิจารณาถึงสาเหตุว่ามาจากการมีเมือกเหลวในทางเดินหายใจไหลลงคอ (postnasal drip) หรือมีการอักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม 
 

ยาที่ใช้รักษาอาการไอเรื้อรัง

ยาที่ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังหลังการติดเชื้อ(3) ได้แก่

  1. กลุ่มยาที่ช่วยลดการเกิด postnasal drip ได้แก่ ยากลุ่ม anti-histamine เช่น chlorpheniramine, cetirizine, loratadine, fexofenadine โดยพบว่ายา anti-histamine ในกลุ่ม first generation ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมจะมีประสิทธิภาพในการลด post-infectious cough ได้ค่อนข้างดีกว่า และหากผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้อาจมีการพิจารณาใช้ยาในรูปแบบพ่นจมูก เช่น fluticasone propionate, ipratropium bromide
  2. กลุ่มยาที่ช่วยต้านการอักเสบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ การไอหลังการติดเชื้ออาจเกิดจากการอักเสบที่บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ไวขึ้น การรักษาจึงสามารถใช้ยาที่ใช้รักษาในโรคหอบหืดโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ(4) ยาในกลุ่มดังกล่าวได้แก่ corticosteroids ชนิดสูดพ่น, Leukotriene receptor antagonist เช่น montalukast, และ corticosteroids ชนิดรับประทาน เช่น prednisolone
  3. กลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอ ได้แก่ ยาระงับการไอที่มีส่วนผสมของ dextromethorphan ในกรณีที่มีการไอแห้ง หรือยาที่ช่วยลดความข้นของเมือกเสมหะเพื่อทำให้เสมหะถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น เช่น guaifenesin ในกรณีไอมีเสมหะ
  4. การบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น 

    การใช้น้ำมันยูคาลิปตัส เชื่อว่าน้ำมันยูคาลิปตัสสามารถบรรเทาอาการไอได้โดยทำให้ความข้นของเสมหะลดลง วิธีใช้โดยการสูดดมไอน้ำที่ผสมน้ำมันยูคาลิปตัส ในสัดส่วนน้ำมันยูคาลิปตัส 12 หยดต่อน้ำเดือดประมาณ 150 มิลลิลิตร หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัสเพื่อสูดดมหรือทาบริเวณหน้าอก หลัง และลำคอ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังคือไม่ควรใช้น้ำมันยูคาลิปตัสในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร และห้ามรับประทานเนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเป็นพิษได้(5) 

    การดื่มชาหรือกาแฟผสมน้ำผึ้ง อาจช่วยบรรเทาอาการไอเรื้อรังได้ อันเนื่องมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อจุลชีพ และต้านการอักเสบ 

    การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ จะช่วยลดการไอ ช่วยชะล้างและลดความข้นของเสมหะ โดยการผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง หรืออาจใช้ Sodium Chloride 0.9% Irrigation Solution ทำการกลั้วคอเป็นเวลา 10 วินาที 

    หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือสภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น มลภาวะ การสูบบุหรี่
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Braman SS. Postinfectious cough: ACCP evidence-based clinical practice guidelines. Chest. 2006; 129(1 Suppl):138S-146S.
  2. Lai K, Shen H, Zhou X, et al. Clinical practice guidelines for diagnosis and management of cough-Chinese Thoracic Society (CTS) asthma consortium. J Thorac Dis. 2018;10(11):6314-6351.
  3. Kristin HRN. What’s causing your lingering cough and how to treat it. [cited 2022 Sep 21]; Available from: https://www.verywellhealth.com/treatments-for-lingering-cough-4107545.
  4. Weinberger SE. Evaluation and treatment of subacute and chronic cough in adults. UpToDate. [cited 2022 Sep 21]; Available from: https://www.uptodate.com/contents/evaluation-and-treatment-of-subacute-and-chronic-cough-in-adults.
  5. Horvath G, Acs K. Essential oils in the treatment of respiratory tract diseases highlighting their role in bacterial infections and their anti-inflammatory action: a review. Flavour Fragr J. 2015;30(5):331-341.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้