เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไขมันในเลือดสูงกับอาหาร


ภญ.วิภารักษ์ บุญมาก ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://groundupstrength.wdfiles.com/loca...-foods.jpg
อ่านแล้ว 29,721 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/10/2560
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/yd5na427
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yd5na427
 

บทนำ
โรคไขมันในเลือดสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากทั้งในประชากรไทยและประชากรทั่วโลก โรคนี้เป็นภัยเงียบ เนื่องจากเป็นโรคที่ค่อยๆเกิดขึ้น ไม่มีอาการผิดปกติใดๆให้สังเกต แต่หากไม่ทำการรักษาเพื่อให้ระดับไขมันลดลงสู่ระดับที่ควรจะเป็น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นคือภาวะเส้นเลือดอุดตันซึ่งมักถูกเรียกรวมๆกันว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วมักจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก และอาจมีความรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคดังกล่าวนี้ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (หรือที่รู้จักกันในชื่อของอัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคเส้นเลือดที่ขาตีบตัน

ภาพจาก : http://buzznigeria.com/wp-content/uploads/2016/03/heart-cholesterol-fatty-food.jpg
ไขมันที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดของเรานั้นแท้จริงแล้วถูกสร้างขึ้นเองภายในร่างกายมากถึง 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% นั้นเป็นไขมันที่ได้รับจากอาหาร1 ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยหลายชนิดที่ส่งผลให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง ทั้งความผิดปกติทางพันธุกรรมที่แต่ละคนจะมีอัตราการสร้างไขมันที่มากน้อยแตกต่างกันไป รวมถึงปริมาณไขมันส่วนเกินจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ดังนั้น การรักษาโรคนี้จึงต้องอาศัยทั้งการใช้ยาเพื่อลดการสร้างไขมันในร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารต่างๆโดยเฉพาะสารอาหารจำพวกไขมันได้ดีมากยิ่งขึ้น และการควบคุมปริมาณอาหารไขมันนั้นถือเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้เกิดการควบคุมปริมาณไขมันในเลือดที่มีประสิทธิภาพ
อาหารไขมันสูง มีโทษหรือไม่?
ไขมันในอาหารมีความหลากหลายทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์ เช่น กรดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acids) ชนิดต่างๆ ที่หลายท่านอาจคุ้นเคยในชื่อของ โอเมก้า 3 และ โอเมก้า 6 และไขมันชนิดที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น ไขมันอิ่มตัว และไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป ถึงแม้หลายท่านจะมองว่า ไขมัน คือผู้ร้ายตัวฉกาจที่ก่อให้เกิดทั้งโรคหลอดเลือดอุดตันและยังสะสมอยู่ตามบริเวณต่างๆในร่างกาย แท้จริงแล้วไขมันก็มีข้อดีอยู่หลายประการ ไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกาย เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนชนิดต่างๆ รวมถึงไขมันสะสมที่หลายๆท่านอยากหนีให้ไกลก็ยังให้ประโยชน์ในการเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สำคัญ1 ดังนั้น การเลือกชนิดของอาหารที่ประกอบด้วยไขมันที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันชนิดอันตราย เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากไขมันมากที่สุดและได้รับโทษจากไขมันน้อยที่สุด
การเลือกชนิดของอาหาร
ก่อนจะกล่าวถึงชนิดของอาหาร อาจต้องกล่าวถึงปริมาณอาหารที่รับประทานก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากไขมันเป็นแหล่งพลังงานสะสมที่ดีที่สุด ให้พลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสารอาหารชนิดอื่น เมื่อเราได้รับสารอาหารชนิดใดก็ตามเกินความต้องการของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้งและน้ำตาล หรือโปรตีนในรูปของเนื้อสัตว์ สารอาหารเหล่านี้สามารถเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของไขมันได้2-3 ดังนั้น การรับประทานอาหารแต่พอดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ และปฏิบัติตามได้ไม่ยากนัก
แนวคิดสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปริมาณไขมันที่รับประทานต่อวันอาจไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของชนิดไขมันในเลือดรวมถึงอาจไม่สัมพันธ์โดยตรงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่สิ่งที่ดูจะส่งผลชัดเจน คือ ชนิดของกรดไขมันที่รับประทาน4 ดังนั้น การเลือกชนิดของไขมันในอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง และควรหลีกเลี่ยงไขมันชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาหารที่มีไขมันอันตรายดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
  • อาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acids) เช่น ไขมันสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ ไข่แดง นม น้ำมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากแทนที่อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวด้วยอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acids) ในปริมาณที่ให้พลังงานเท่ากัน จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดลงอีกด้วย5 จึงมีคำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานที่ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวมากกว่า 10% ของพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน6
  • อาหารที่ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดทรานส์ (tans-fatty acids) ไขมันชนิดนี้เกิดจากการผ่านกรรมวิธีทางเคมีให้มีความคงตัวดีขึ้น ไม่เป็นไข ไม่มีกลิ่นหืน และทนความร้อนสูงได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ไขมันแปรรูปดังกล่าว ได้แก่ เนยเทียม มาการีน เนยขาว (shortening) จึงพบไขมันชนิดนี้ได้มากในอาหารจำพวกเบเกอรี่ ขนมอบ คุกกี้ โดนัท ครีมเทียม อาหารจานด่วนหรือ fast food จากการศึกษาพบว่า ไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมาก7 จนได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของไขมันอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ หรือไม่ควรเกิน 1% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน
ส่วนอาหารที่ควรเลือกรับประทาน คือ อาหารที่ประกอบด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acids) ซึ่งพบมากในน้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก และน้ำมันจากปลาชนิดต่างๆ ไขมันชนิดนี้ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าไขมันอิ่มตัวดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ยังมีอาหารชนิดอื่นๆที่ถึงแม้จะไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด แต่มีผลดีในแง่ของการลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาหารที่มีเส้นใยสูงหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) ผักและผลไม้รวมถึงถั่วต่างๆ จำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานต่อวัน (ไม่ควรมากกว่า 5 กรัม หรือ1 ช้อนชา) และควรลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินจนนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต4
บทสรุป
ไขมันสูงเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ทั้งการรับประทานยาลดไขมัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม การควบคุมปริมาณและชนิดของไขมันในอาหารเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการควบคุมระดับไขมันในเลือดรวมถึงป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปริมาณโดยรวมของพลังงานที่ได้รับต่อวันยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สรุปง่ายๆคือ ควรรับประทานอาหารโดยตั้งอยู่บนความสมดุลเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากอาหารและได้รับโทษให้น้อยที่สุด เพราะคำกล่าวที่ว่า รับประทานอะไรก็เป็นเช่นนั้น (You are what you eat) ยังคงเป็นจริงเสมอ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Nielsen J. Systems biology of lipid metabolism: from yeast to human. FEBS Lett. 2009 Dec 17; 583(24): 3905-13.
  2. Saltiel AR, Kahn CR. Insulin signalling and the regulation of glucose and lipid metabolism. Nature. 2001 Dec 13; 414(6865): 799-806.
  3. El Khoury D, Anderson GH. Recent advances in dietary proteins and lipid metabolism. Curr Opin Lipidol. 2013 Jun; 24(3): 207-13.
  4. Piepoli MF, Hoes AW, Agewall S, et al. 2016 European Guidelines on cardiovascular disease prevention in clinical practice: The Sixth Joint Task Force of the European Society of Cardiology and Other Societies on Cardiovascular Disease Prevention in Clinical Practice (constituted by representatives of 10 societies and by invited experts) Developed with the special contribution of the European Association for Cardiovascular Prevention & Rehabilitation (EACPR). Eur Heart J. 2016 Aug 1; 37(29): 2315-81.
  5. Wen YT, Dai JH, Gao Q. Effects of Omega-3 fatty acid on major cardiovascular events and mortality in patients with coronary heart disease: a meta-analysis of randomized controlled trials. Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2014 May; 24(5): 470-5.
  6. Astrup A, Dyerberg J, Elwood P, et al. The role of reducing intakes of saturated fat in the prevention of cardiovascular disease: where does the evidence stand in 2010? Am J Clin Nutr. 2011 Apr; 93(4): 684-8.
  7. Mozaffarian D, Katan MB, Ascherio A, et al. Trans fatty acids and cardiovascular disease. N Engl J Med. 2006 Apr 13; 354(15): 1601-13.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 3 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้