เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เครื่องหมายสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีความหมายว่าอย่างไร


อาจารย์.ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 52,874 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 13/01/2564
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ความหมายของ “เครื่องสำอาง”

เครื่องสำอาง ตามความหมายในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 หมายความถึง 

(๑) วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทําด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปล่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกายหรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี และรวมตลอดทั้งเครื่องประทิ่นต่างๆ สําหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย 

(๒) วัตถุที่มุ่งหมายสําหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอางโดยเฉพาะ หรือ 

(๓) วัตถุอื่นที่กําหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสําอาง 

ฉลากเครื่องสำอาง

ฉลากเครื่องสำอางจะต้องเขียนด้วยข้อความที่ตรงต่อความจริง ใช้ข้อความภาษาไทยและมีข้อความที่อ่านได้ชัดเจน โดยบนฉลากเครื่องสำอางจะต้องระบุข้อความที่สำคัญได้แก่ ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า ประเภทของเครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต (กรณีที่ผลิตในประเทศ) ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต (กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า) ปริมาณสุทธิ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน เดือน/ปีที่ผลิตและที่หมดอายุ (กรณีเครื่องสำอางมีอายุการใช้งานต่ำกว่า 30 เดือน) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เลขที่ใบรับแจ้ง และชื่อสารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง (เรียงจากมากไปหาน้อย) รวมถึงข้อความอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค 

สัญลักษณ์บนฉลากเครื่องสำอาง

ทั้งนี้เราอาจเคยพบสัญลักษณ์ต่างๆบนฉลากเครื่องสำอาง ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านั้นจะมีความสำคัญในการช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคมีประโยชน์ในการเลือกซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะแก่ความต้องการ สัญลักษณ์บนฉลากเครื่องสำอางที่เป็นสากลเหล่านี้ ได้แก่

  1. riod After Opening (PAO) 
    สัญลักษณ์รูปกระปุกเปิดฝา เป็นสัญลักษณ์ที่พบได้บ่อยบนฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มาจากแถบประเทศยุโรป ความหมายของสัญลักษณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึงวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์หลังการเปิดใช้ โดยตัวเลขที่ระบุอยู่ในสัญลักษณ์หมายถึงจำนวนเดือนที่เครื่องสำอางสามารถใช้ได้นั่นเอง เช่น 6M หมายถึง เครื่องสำอางมีอายุหลังจากการเปิดใช้ 6 เดือน หรือ 24M หมายถึง เครื่องสำอางมีอายุหลังจากการเปิดใช้ 24 เดือนหรือ 2 ปี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุ (shelf life) มากกว่า 30 เดือนขึ้นไป 

     
  2. Best Before End of (BBE) 
    สัญลักษณ์รูปนาฬิกาทราย เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์หลังสัญลักษณ์ บางครั้งอาจจะใช้เป็นอักษรย่อ BBE หรือ EXP ในการแสดงวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์แทน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุ (shelf life) น้อยกว่า 30 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องมีการระบุวันหมดอายุไว้บนฉลาก 

     
  3. Net contents (e-mark) 
    สัญลักษณ์ตัว “อี” ในภาษาอังกฤษพิมพ์เล็ก สัญลักษณ์นี้บ่งบอกถึงปริมาณหรือน้ำหนักที่บรรจุตรงตามที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายของสหภาพยุโรป 

     
  4. Open Flame 
    สัญลักษณ์รูปไฟ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารที่ติดไฟได้ เช่นสารพวกแอลกอฮอล์ สารขับดันในสเปรย์ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ควรเก็บไว้ให้ห่างจากประกายไฟและที่ที่มีอุณหภูมิสูง มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ สเปรย์ระงับกลิ่นกาย สเปรย์จัดแต่งทรงผม เป็นต้น 

     
  5. Refer to Insert 
    สัญลักษณ์รูปมือชี้บนหนังสือ ความหมายของสัญลักษณ์นี้หมายถึง ผลิตภัณฑ์มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าในแผ่นพับ มักพบในผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถอธิบายรายละเอียดบนฉลากผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจนจึงมีเอกสารแนบกำกับไว้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 

     
  6. Mobius loop 
    สัญลักษณ์ลูกศรเรียงเป็นสามเหลี่ยม สัญลักษณ์ดังกล่าวบ่งบอกว่าภาชนะบรรจุของผลิตภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยลูกศรแต่ละดอกหมายถึง “Recycling”, “Recyclable”, “Recycled Product” เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่ต้องใส่บนฉลาก มักพบอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือวางจำหน่ายจากประเทศอเมริกา สัญลักษณ์ดังกล่าวอาจมีลักษณะที่หลากหลายซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสัญลักษณ์ลูกศรที่เรียงเป็นสามเหลี่ยมมีตัวเลขอยู่ด้านในและตัวอักษรภาษาอังกฤษบ่งบอกชนิดของวัสดุที่รีไซเคิลได้ (รหัสเรซิน) อยู่ด้านล่าง จะบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตจากวัสดุชนิดใดเพื่อสะดวกในกระบวนการแยกสำหรับการรีไซเคิล หากเครื่องหมาย Mobius loop นี้ถูกบรรจุอยู่ในวงกลมอีกชั้นหนึ่งจะหมายถึงสินค้าดังกล่าวมีวัสดุบางส่วนมาจากการรีไซเคิล และหากมีเปอร์เซ็นระบุเป็นสัดส่วนภายใน Mobius loop จะเป็นตัวเลขซึ่งแสดงสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิลที่ใช้ในสินค้า เป็นต้น 

     
  7. Green dot 
    สัญลักษณ์ลูกศรสีเขียวที่เชื่อมต่อกันในวงกลม สัญลักษณ์นี้ถูกใช้ในประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อแสดงว่าผู้ผลิตได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลจัดการการกู้คืนและรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยมีการกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธี 

     
  8. สัญลักษณ์ไม่มีการใช้สัตว์ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ 
    สัญลักษณ์รูปกระต่ายซึ่งอาจพบได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ สัญลักษณ์ “Leaping Bunny”, “Cruelty free”, “Not Tested on Animals” สัญลักษณ์ Leaping Bunny เป็นสัญลักษณ์ระดับสากลที่รับรองว่าผู้ผลิตไม่ได้ทำการทดลองในสัตว์ หรือมีส่วนผสมใดๆ ที่ผ่านการทดลองในสัตว์มาก่อนในตลอดทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดสอบในสัตว์ไม่รวมการทดสอบในหลอดทดลองหรือการทดสอบที่ดำเนินการโดยสมบูรณ์กับอาสาสมัครที่เป็นมนุษย์ โดยสัญลักษณ์นี้เป็นไปตามมาตรฐานและได้รับการรับรองจากหน่วยงาน Coalition for Consumer Information on Cosmetics (CCIC) ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 

    สัญลักษณ์ Cruelty free bunny เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการรับรองจากโปรแกรม People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) บ่งบอกให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าไม่มีการทดสอบกับสัตว์ในกระบวนการคัดเลือกส่วนผสม ตั้งตำรับ และการผลิตผลิตภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับในประเทศอเมริกา 

    สัญลักษณ์ Not Tested on Animals เป็นสัญลักษณ์ที่รับรองการปลอดการทารุณยกรรมสัตว์ รวมถึงนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ โดยองค์การการรับรองของประเทศออสเตรเลีย 

     
  9. Certified Vegan 
    สัญลักษณ์ Certified Vegan เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับรองโดยองค์การ Vegan Awareness Foundation บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากการทารุณยกรรมสัตว์ และไม่มีส่วนผสมที่มาจากสัตว์ในสูตรตำรับ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ Certified Vegan ต้องไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ปลา ไก่ หรือผลพลอยได้จากสัตว์ (รวมถึงผ้าไหม หรือสีย้อมจากแมลง) ไข่ นม น้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์ต้องไม่มีการทดสอบส่วนผสมหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโดยใช้สัตว์ ไม่มีส่วนประกอบของ GMOs ที่มาจากสัตว์ในส่วนผสมหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับความนิยมในประเทศอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ 

     
  10. Halal Certified 
    ผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย Halal Certified จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าปราศจากส่วนผสมของสุกร และส่วนผสมที่ศาสนาอิสลามไม่อนุญาต เช่น เลือด ชิ้นส่วนมนุษย์ (รวมถึงสเตมเซลล์) สัตว์เลื้อยคลาน แมลง หรือสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุญาตแต่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมการฆ่าตามที่กำหนด สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) โดยมีกระบวนการผลิตที่เข้มงวดทั้งกระบวนการตามมาตรฐานฮาลาล 

     
  11. USDA organic 
    เป็นตรารับรองจาก U.S. Department of Agriculture สำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ผลิตจากส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิก คือมาจากธรรมชาติและไม่มีการใช้สารเคมีหรือการตัดต่อพันธุกรรมหรือฆ่าเชื้อโรคโดยการฉายรังสี ในสัดส่วนที่มากกว่า 95% สินค้าที่ขอสัญลักษณ์ USDA organic ได้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ (1) สินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิก 100% และ (2) สินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิกไม่น้อยกว่า 95% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิกน้อยกว่า 95% จะไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ USDA organic ได้ แต่ถ้ามีส่วนผสมเป็นออร์แกนิกไม่น้อยกว่า 70% จะสามารถระบุบนฉลากว่าใช้ส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิกได้ เช่น “Made with organic ingredients” หรือถ้ามีส่วนผสมเป็นออร์แกนิกน้อยกว่า 70% จะสามารถระบุว่ามีส่วนผสมบางส่วนเป็นออร์แกนิกได้ “Some organic ingredients” 

     
  12. ECOCERT COSMOS 
    เป็นมาตรฐานรับรองเครื่องสำอางธรรมชาติและออร์แกนิกของยุโรปและเป็นที่แพร่หลายในตลาดโลก ตรวจรับรองโดยองค์กร ECOCERT โดยมีหน่วยงานสมาชิก 5 องค์กรได้แก่ Ecocert Greenlife SAS (ประเทศฝรั่งเศส) Cosmebio (ประเทศฝรั่งเศส) BDIH (ประเทศเยอรมนี) ICEA (ประเทศอิตาลี) และ Soil Association (ประเทศอังกฤษ) ข้อกำหนดของ ECOCERT COSMOS ได้กำหนดว่า ส่วนผสมทั้งหมด 100% ที่ใช้ในการผลิตต้องเป็นไปตามกฎหมายยุโรปว่าด้วยเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และต้องไม่ผ่านกระบวนการผลิตต้องห้าม ต้องมีปริมาณส่วนผสมจากธรรมชาติหรือออร์แกนิกอย่างน้อย 95% ของส่วนผสมทั้งหมด มีปริมาณส่วนผสมที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์หรือสารเคมีไม่เกิน 5% ประเภทหรือระดับของการรับรองจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของส่วนผสมจำพวกพืชและส่วนผสมที่มาจากพืชซึ่งส่วนผสมนั้นได้จากการปลูกแบบออร์แกนิคและได้รับการรับรองออร์แกนิค การรับรอง ECOCERT COSMOS แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 

    (1) COSMOS organic certification ต้องมีส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิกอย่างน้อย 20% ในตำรับ (หรือ 10% สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วล้างออก หรือผลิตภัณฑ์ประเภทผง) และส่วนผสมที่มาจากพืชอย่างน้อย 95% ต้องเป็นออร์แกนิก 

    (2) COSMOS natural certification ส่วนผสมทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบว่าเป็นส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติ แต่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของส่วนผสมออร์แกนิก 

     
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 86 ก (วันที่ 8 กันยายน 2558)
  2. Cosmetics Europe. Understanding the label. Available in: https://cosmeticseurope.eu/cosmetic-products/understanding-label/
  3. สัญลักษณ์เพื่อสิ่งแวดล้อม. Available in: http://www.elfar.ssru.ac.th/chantana_in/pluginfile.php/198 /block_html/content/Environmental%20labels1.pdf
  4. Leaping bunny program. The corporate standard of compassion for animals ("The standard"). Available in: https://www.leapingbunny.org/about/corporate-standard-compassion-animals-standard
  5. PETA's global beauty without bunnies program. Available in: https://www.peta.org/living/personal-care-fashion/beauty-without-bunnies/
  6. Australian government. Not tested on animals. Available in: https://www.ipaustralia.gov.au/tools-resources/certification-rules/586044
  7. Certified vegan. Available in: https://vegan.org/certification/
  8. Sugibayashi K, Yusuf E, Todo H, Dahlizar S, Sakdiset P, Arce F, et al. Halal cosmetics: A review on ingredients, production, and testing methods. Cosmetics. 2019; 6(37): 1-17.
  9. U.S. Department of agriculture. USDA organic. Available in: https://www.usda.gov/topics/organic
  10. Ecocert group. Organic and natural cosmetics. Available in: https://www.ecocert.com/en/certification-detail/natural-and-organic-cosmetics-cosmos
  11. https://www.psychiatry.org/patients-families/ocd/what-is-obsessive-compulsive-disorder.
  12. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06052015-1417.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


34 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้