เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ


รศ. พร้อมจิต ศรลัมพ์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 400,357 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/03/2554
อ่านล่าสุด 13 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ช่วงนี้มีข่าวคราวถึงสมุนไพรที่ชื่อ “รางจืด” กันมาก ภาครัฐมีความพยายามที่จะนำศักยภาพของภูมิปัญญาไทยมาปัดฝุ่น และใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการขับเคลื่อนสมุนไพรชนิดนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและมนุษยชาติ วันนี้สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะรายงานให้ท่านได้เห็นภาพของสมุนไพร “รางจืด” ชัดเจนขึ้น

รางจืดมีประวัติในการใช้ล้างพิษในร่างกาย แก้อาการแพ้ผื่นคัน และโรคผิวหนัง เช่น เริม ว่ากันว่าชาวบ้านจะกินน้ำคั้นใบหรือรากรางจืดก่อนที่จะไป “แข่งพนันดื่มเหล้าทนไม่เมา”และได้ผลดี เวลารับประทานของแสลง แล้วปวดท้อง ท้องเสีย ที่เรียกว่าผิดสำแดง ก็จะใช้ใบรางจืดเช่นกัน ทั้งยามเผอิญหรือตั้งใจกินสารพิษ ก็ใช้รางจืดแก้พิษได้ มีการวิจัยในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจน

พ.ศ. 2521 นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นกลุ่มแรกที่ทดลองป้อนผงรากรางจืดให้หนูทดลองก่อนให้น้ำยาสตริกนินแต่พบว่าไม่ได้ผล หนูชักและตาย แต่ถ้าผสมกับน้ำยาสตริกนินก่อนป้อน พบว่าหนูทดลองไม่เป็นอะไร แสดงว่าผงรากรางจืดสามารถดูดซับสารพิษชนิดนี้ไว้

พ.ศ. 2523 อาจารย์พาณี เตชะเสนและคณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำคั้นใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่กินยาฆ่าแมลง“โฟลิดอล”พบว่าแก้พิษได้ ลดอัตราการตายลงจาก 56% เหลือเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่วิธีการฉีดกลับไม่ได้ผล

พ.ศ. 2551 สุชาสินี คงกระพันธ์ ใช้สารสกัดแห้งใบรางจืดป้อนหนูทดลองที่ได้รับยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกนโนฟอสเฟตชื่อมาราไธออนพบว่าช่วยชีวิตได้ 30%

พ.ศ. 2553 จิตบรรจง ตั้งปอง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าสารประกอบในใบรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ประสาทของหนูทดลองที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว จึงสามารถป้องกันสูญเสียการเรียนรู้และความจำได้อย่างมีนัยสำคัญ

มีการวิจัยเรื่องใบรางจืดสามารถปกป้องตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่กำจัดสารพิษในร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่ได้รับสารพิษ พ.ศ. 2543 รายงานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าสารสกัดแห้งของน้ำใบรางจืดน่าจะมีผลลดความเป็นพิษของตับจากแอลกอฮอล์ได้ พ.ศ. 2548 พรเพ็ญ เปรมโยธิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลว่าสารสกัดน้ำรางจืดแสดงฤทธิ์ดังกล่าว ทั้งในหลอดทดลองและในหนูทดลอง

นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดน้ำใบรางจืดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย

ถ้าจะใช้สมุนไพร ควรพิจารณาความเป็นพิษด้วย สำหรับใบรางจืดมีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ป้อนหนูทดลองครั้งเดียว ทั้งขนาดปกติและขนาดสูง ไม่พบความผิดปกติใด ๆ และป้อนติดต่อกัน 28 วันขนาด 500 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ไม่พบอาการผิดปกติเช่นกัน แต่อาจทำให้น้ำหนัก ตับ ไต สูงกว่ากลุ่มควบคุม ค่าชีวเคมีที่เกี่ยวกับไตสูงขึ้น และAST สูงขึ้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

สำหรับการทดลองในคน ยังมีไม่มากนัก นพ. ปัญญา อิทธิธรรม ทดลองเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรรางจืดในเกษตรกรซึ่งสัมผัสสารฆ่าแมลง ทั้งกลุ่มไม่ปลอดภัย กลุ่มเสี่ยง กลุ่มปลอดภัย โดยตรวจจากระดับเอนไซม์ในร่างกายที่เพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสารพิษนี้ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มที่กินและไม่ได้กินสารสกัดน้ำรางจืด แต่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนเพราะมีปัจจัยที่แตกต่างของพื้นฐานร่างกายอื่นๆ ของอาสาสมัคร เช่น ความแข็งแรง อายุเป็นต้น

เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีข่าวเรื่องน้ำคั้นใบรางจืดช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนักมากจากพิษแมงดาทะเล ซึ่งได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์แสดงว่ารางจืดน่าจะมีสรรพคุณในการกำจัดพิษในร่างกายตามที่ตำรายาไทยระบุไว้

อย่างไรก็ตามการทดลองหากลไกที่สารประกอบในใบรางจืดกำจัดพิษและทดลองในคน รวมทั้งการทดสอบพิษระยะยาวที่ให้หนูทดลองกินติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน มีความสำคัญต่อการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและถูกต้อง ทั้งต้องให้ชัดเจนว่าสามารถแก้พิษอะไรได้บ้าง ในขนาดเท่าไร และคุณภาพของใบรางจืดควรเป็นแบบใด เพราะในพื้นที่ปลูกและกระบวนการปลูกอาจก่อให้เกิดโลหะหนักในวัตถุดิบที่เกินมาตรฐาน เช่น แคดเมียมเป็นต้น การที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจและจะจัดสรรงบประมาณพุ่งเป้าให้วิจัยสมุนไพรรางจืดเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะไม่มีเงินทำวิจัย นักวิทยาศาสตร์มีแต่สมองก็ทำอะไรไม่ได้

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือดูข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสมุนไพรได้ที่

http://medplant.mahidol.ac.th

แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้