เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เรามาออกกำลังสมองกันเถอะ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://ronwhitetraining.com/wp-content/u...ument.jpeg
อ่านแล้ว 18,590 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/05/2562
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ทุกวันนี้คนหันมาสนใจออกกำลังกายกันมากขึ้น เราคุ้นเคยกับการเต้นแอโรบิคเพื่อออกกำลังกาย การออกกำลังสมองหรือนิวโรบิค (neurobic exercise) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการออกกำลังกาย 
 
ภาพจาก : https://pbs.twimg.com/media/DraHvAmXcAEU4Ch.jpg 
Dr. Lawrence Katz นักประสาทวิทยาของ Duke University Medical Center สหรัฐอเมริกา ได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังสมองตั้งแต่ปีคศ. 1998 และเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “neurobic exercise” ในการฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง การออกกำลังสมองอย่างสมบูรณ์เต็มที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ประกอบกันทั้งหมดจึงจะช่วยให้เซลล์ประสาทต่าง ๆ สามารถทำงานเชื่อมประสานกันได้มากขึ้น โดยทั่วไป การทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ของคนเรานั้น มักทำงานโดยการสั่งการของจิตใต้สำนึก สมองไม่ได้ใช้พลังงานและไม่ได้ถูกกระตุ้นมากนัก กิจกรรมที่เป็นการออกกำลังสมองควรเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ ท้าทายและซับซ้อนมากขึ้นกว่าที่เคยทำ ถ้าทำแล้วเกิดความสนุกสนานด้วยก็ยิ่งดี 
วิธีการฝึกออกกำลังสมองสามารถทำได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ หรือสถาน fitness ตัวอย่างคือ การใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการทำภารกิจประจำวันต่าง ๆ เช่นการแปรงฟัน เปลี่ยนมือที่ใช้จับช้อนส้อมในการรับประทานอาหาร ใช้ตะเกียบแทนช้อนส้อม เปลี่ยนมือในการจับเมาส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะรู้สึกยากในตอนแรก แต่ถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้สมองได้ออกกำลัง การหลับตาขณะอาบน้ำ สระผม ซักผ้า (แต่ต้องระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือกับผู้อื่นด้วย) การดูนาฬิกาหรือปฏิทินกลับหัว การเดินถอยหลัง นับเลขถอยหลัง เขียนหนังสือย้อนหลังหรือกลับหัว คิดเลขเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข หรือคิดเลขในใจ การเล่นเกมส์ต่าง ๆ เช่น ซูโดกุ ปริศนาอักษรไชว้ เกมส์ต่อคำศัพท์ การจดจำเบอร์โทรศัพท์แทนการบันทึกไว้ในสมาร์ทโฟน 
กิจกรรมบางอย่างซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดา ๆ เช่นเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางใหม่ ๆ สิ่งแวดล้อมข้างทางจะเปลี่ยนไปด้วย จะช่วยกระตุ้นสมองให้จดจำเส้นทางใหม่โดยไม่ต้องพึ่ง GPS มีเรื่องเล่าว่า Bill Gates มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ขับรถจากบ้านไปที่ทำงานโดยใช้เส้นทางที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการขับรถ การเปลี่ยนเส้นทางการเดิน ขี่จักรยาน หรือการใช้รถสาธารณะ ก็ทำได้เช่นกัน การเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน cortex และ hippocampus สมองส่วน hippocampus ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การจัดเก็บและจัดระเบียบความทรงจำ การบอกทิศทาง จากการวิจัยพบว่าคนขับรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะมีขนาดของสมองส่วนนี้ใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยมาก เนื่องจากต้องจดจำท้องถนนและตรอกซอกซอยที่สลับซับซ้อนของกรุงลอนดอนที่มีมากกว่า 25,000 เส้นทาง และยังต้องจดจำเส้นทางไปสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกมากมายหลายแห่งเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่ 
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น การเรียนภาษาที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน หัดเล่นกีฬาที่ยังเล่นไม่เป็น การเล่นหมากฮอสหรือ หมากรุก การเรียนศิลปะ ดนตรี เต้นรำ เรียนทำอาหาร ตลอดจนทำงานอดิเรกแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ยากและท้าทายความสามารถ การเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยไป การพบปะผู้คนที่มาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การไปจับจ่ายซื้อของในตลาดที่เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายเอง ทำให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ครบถ้วน คือได้เห็น ได้สัมผัส ได้สูดอากาศ ได้ลิ้มรสผลผลิต และได้พูดคุยซักถามกับเกษตรกร จะช่วยกระตุ้นสมองเพิ่มเติม ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยจะกระตุ้นการหลั่ง dopamine ที่พบว่าเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจ (motivation neurotransmitter) และยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ด้วย 
การฝึกสมองหรือการออกกำลังสมอง ไม่จำเป็นต้องใช้เกมส์หรือโปรแกรมฝึกสมองออนไลน์ ไม่ต้องใช้ application ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรืออาหารเสริมซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และมักมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง การใช้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิตจริงจะช่วยกระตุ้นและฝึกสมองได้ดีกว่า 
การออกกำลังสมอง ยิ่งทำบ่อยเท่าไหร่ สมองก็จะเสื่อมช้าลง ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ ลดความเครียด ทำให้ความจำดีขึ้น การควบคุมอารมณ์และคิดบวกมากขึ้น คิดเร็วขึ้น ความคิดสร้างสรรค์และความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น เพิ่มสมาธิในการทำงานและการทำกิจกรมต่าง ๆ การมองเห็นและการได้ยินดีขึ้น 
สมองของคนเรานั้นเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานตลอดเวลา ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย การออกกำลังสมองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย พยายามใช้สมองแทนการพึ่งพาเทคโนโลยี การฝึกออกกำลังสมองสามารถทำได้ทุกวัยและทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้อายุมากก่อน 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Katz L, Rubin M. Keep your brain alive: 83 neurobic exercises to help prevent memory loss and increase mental fitness. Workman Publishing Company, Inc., New York, USA, 2014
  2. Wolinsky FD, Unverzagt FW, Smith DM, Jones R, Stoddard A, Tennstedt SL. The active cognitive training trial and health-related quality of life: protection that lasts for 5 years. J Gerontol A Biol Sci Med Sci. 2006; 61(12): 1324-1329
  3. https://bebrainfit.com/brain-exercises


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) 21 วินาทีที่แล้ว
28 วินาทีที่แล้ว
ยาที่ผู้หญิงพึงระวัง 48 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้