Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทุกวันนี้คนหันมาสนใจออกกำลังกายกันมากขึ้น เราคุ้นเคยกับการเต้นแอโรบิคเพื่อออกกำลังกาย การออกกำลังสมองหรือนิวโรบิค (neurobic exercise) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการออกกำลังกาย
ภาพจาก : https://pbs.twimg.com/media/DraHvAmXcAEU4Ch.jpg
Dr. Lawrence Katz นักประสาทวิทยาของ Duke University Medical Center สหรัฐอเมริกา ได้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังสมองตั้งแต่ปีคศ. 1998 และเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “neurobic exercise” ในการฟื้นฟูและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง การออกกำลังสมองอย่างสมบูรณ์เต็มที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส ประกอบกันทั้งหมดจึงจะช่วยให้เซลล์ประสาทต่าง ๆ สามารถทำงานเชื่อมประสานกันได้มากขึ้น โดยทั่วไป การทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ของคนเรานั้น มักทำงานโดยการสั่งการของจิตใต้สำนึก สมองไม่ได้ใช้พลังงานและไม่ได้ถูกกระตุ้นมากนัก กิจกรรมที่เป็นการออกกำลังสมองควรเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ ท้าทายและซับซ้อนมากขึ้นกว่าที่เคยทำ ถ้าทำแล้วเกิดความสนุกสนานด้วยก็ยิ่งดี
วิธีการฝึกออกกำลังสมองสามารถทำได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ หรือสถาน fitness ตัวอย่างคือ การใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการทำภารกิจประจำวันต่าง ๆ เช่นการแปรงฟัน เปลี่ยนมือที่ใช้จับช้อนส้อมในการรับประทานอาหาร ใช้ตะเกียบแทนช้อนส้อม เปลี่ยนมือในการจับเมาส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะรู้สึกยากในตอนแรก แต่ถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้สมองได้ออกกำลัง การหลับตาขณะอาบน้ำ สระผม ซักผ้า (แต่ต้องระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือกับผู้อื่นด้วย) การดูนาฬิกาหรือปฏิทินกลับหัว การเดินถอยหลัง นับเลขถอยหลัง เขียนหนังสือย้อนหลังหรือกลับหัว คิดเลขเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข หรือคิดเลขในใจ การเล่นเกมส์ต่าง ๆ เช่น ซูโดกุ ปริศนาอักษรไชว้ เกมส์ต่อคำศัพท์ การจดจำเบอร์โทรศัพท์แทนการบันทึกไว้ในสมาร์ทโฟน
กิจกรรมบางอย่างซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดา ๆ เช่นเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางใหม่ ๆ สิ่งแวดล้อมข้างทางจะเปลี่ยนไปด้วย จะช่วยกระตุ้นสมองให้จดจำเส้นทางใหม่โดยไม่ต้องพึ่ง GPS มีเรื่องเล่าว่า Bill Gates มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Microsoft ขับรถจากบ้านไปที่ทำงานโดยใช้เส้นทางที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการขับรถ การเปลี่ยนเส้นทางการเดิน ขี่จักรยาน หรือการใช้รถสาธารณะ ก็ทำได้เช่นกัน การเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน cortex และ hippocampus สมองส่วน hippocampus ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ การจัดเก็บและจัดระเบียบความทรงจำ การบอกทิศทาง จากการวิจัยพบว่าคนขับรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะมีขนาดของสมองส่วนนี้ใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยมาก เนื่องจากต้องจดจำท้องถนนและตรอกซอกซอยที่สลับซับซ้อนของกรุงลอนดอนที่มีมากกว่า 25,000 เส้นทาง และยังต้องจดจำเส้นทางไปสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกมากมายหลายแห่งเพื่อขอใบอนุญาตขับขี่
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น การเรียนภาษาที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน หัดเล่นกีฬาที่ยังเล่นไม่เป็น การเล่นหมากฮอสหรือ หมากรุก การเรียนศิลปะ ดนตรี เต้นรำ เรียนทำอาหาร ตลอดจนทำงานอดิเรกแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ยากและท้าทายความสามารถ การเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยไป การพบปะผู้คนที่มาจากสภาพแวดล้อมทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การไปจับจ่ายซื้อของในตลาดที่เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายเอง ทำให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ครบถ้วน คือได้เห็น ได้สัมผัส ได้สูดอากาศ ได้ลิ้มรสผลผลิต และได้พูดคุยซักถามกับเกษตรกร จะช่วยกระตุ้นสมองเพิ่มเติม ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยจะกระตุ้นการหลั่ง dopamine ที่พบว่าเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจ (motivation neurotransmitter) และยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ด้วย
การฝึกสมองหรือการออกกำลังสมอง ไม่จำเป็นต้องใช้เกมส์หรือโปรแกรมฝึกสมองออนไลน์ ไม่ต้องใช้ application ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรืออาหารเสริมซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และมักมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง การใช้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิตจริงจะช่วยกระตุ้นและฝึกสมองได้ดีกว่า
การออกกำลังสมอง ยิ่งทำบ่อยเท่าไหร่ สมองก็จะเสื่อมช้าลง ทำให้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ ลดความเครียด ทำให้ความจำดีขึ้น การควบคุมอารมณ์และคิดบวกมากขึ้น คิดเร็วขึ้น ความคิดสร้างสรรค์และความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น เพิ่มสมาธิในการทำงานและการทำกิจกรมต่าง ๆ การมองเห็นและการได้ยินดีขึ้น
สมองของคนเรานั้นเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานตลอดเวลา ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย การออกกำลังสมองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย พยายามใช้สมองแทนการพึ่งพาเทคโนโลยี การฝึกออกกำลังสมองสามารถทำได้ทุกวัยและทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้อายุมากก่อน