เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เครื่องสำอางกับสุขภาพ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.s-i.lt/wp-content/uploads/201.../img-2.jpg
อ่านแล้ว 38,298 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/04/2560
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/y8ky9vp2
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y8ky9vp2
 
เครื่องสำอาง แตกต่างจากยาอย่างชัดเจน เครื่องสำอางใช้ทาถูบนร่างกายเพื่อทำความสะอาด แต่งแต้มให้สวยงาม เพิ่มความดึงดูดและเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอก เช่น ครีมทาผิว โลชั่น น้ำหอม ลิปสติค ยาทาเล็บ ผลิตภัณฑ์รอบผิวหน้าและดวงตา น้ำยาดัดผม น้ำยาโกรกสีผม รวมทั้งยาสีฟัน ยา ใช้เพื่อแก้ไข รักษา และป้องกันโรคที่เกิดกับร่างกาย ส่วนเครื่องสำอางไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือมีผลต่อโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย

ภาพจาก : http://www.s-i.lt/wp-content/uploads/2013/02/img-2.jpg
มีอะไรอยู่ในเครื่องสำอาง ?
น้ำหอมและสารกันเสียนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในเครื่องสำอาง ต่ำกว่าปกติ
  • น้ำหอม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนัง น้ำหอมประกอบด้วยสารเคมีและสารธรรมชาติต่างๆรวมกันมากมาย เครื่องสำอางที่ติดฉลากว่า "ปราศจากน้ำหอม" บางชนิดปราศจากการใส่น้ำหอมจริงๆ แต่บางผลิตภัณฑ์ยังมีการปรุงแต่งด้วยน้ำหอมเล็กน้อยเพื่อกลบกลิ่นไขและสารประกอบอื่นๆ
  • สารกันเสีย ในเครื่องสำอาง นับเป็นอันดับสองรองจากน้ำหอมที่ก่อให้เกิดปัญหาทำให้ผิวหนังแพ้ได้ สารกันเสียทำหน้าที่กันเชื้อแบคทีเรียและราไม่ให้เจริญเติบโตในผลิตภัณฑ์ และยังป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสียง่ายเมื่อได้รับแสงแดดและความร้อน
  • สี ในเครื่องสำอาง ต้องเป็นสีที่ปลอดภัยตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือ สีที่ใช้สำหรับ อาหาร ยาและเครื่องสำอาง (FD&C) หรือสีที่ใช้สำหรับยาและเครื่องสำอาง (D&C) หรือสีใช้ภายนอกสำหรับยาและเครื่องสำอางเท่านั้น
เครื่องสำอางปลอดภัยหรือไม่?
ส่วนใหญ่ปลอดภัย ยกเว้นเครื่องสำอางปลอมหรือชนิดที่ผิดกฎหมาย ความไม่ปลอดภัยบางครั้งเกิดจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น
  1. การขยี้ตาที่มีมาสคาร่า ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ถ้าไม่รักษา เพื่อความปลอดภัยไม่ควรเขียนคิ้ว ทาขอบตาระหว่างที่เดินทางในรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน
  2. ไม่ควรใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากเราเองไปสู่ผู้อื่น หรือจากผู้อื่นมาสู่เราได้ รวมถึงการไม่ใช้หวีร่วมกัน ไม่ใช้สบู่อาบน้ำก้อนเดียวกัน เพราะเชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
  3. ขณะนอนหลับ ไม่ควรมีเครื่องสำอางอยู่รอบดวงตาและผิวหน้า เพราะเคมีในเครื่องสำอางอาจเข้าตาเมื่อขยี้ตาได้ ปัญหาตาอักเสบจะตามติดมาได้ง่าย
  4. ผลิตภัณฑ์ประเภทแอโรซอล ไม่ควรวางกระป๋องแอโรซอลใกล้ความร้อนหรือไฟ หรือใกล้คนที่ชอบสูบบุหรี่ เพราะองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ติดไฟง่าย สามารถระเบิดได้ ระหว่างการใช้งาน เช่น สเปรย์ผม ให้ระวังไม่สูดดมเข้าไป เพราะจะสะสมที่ปอด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
จะป้องกันตนเองจากอันตรายของเครื่องสำอางอย่างไร?
  • ไม่แต่งหน้าระหว่างขับรถ หรือโดยสารในรถ
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
  • ปิดภาชนะให้แน่น เก็บให้พ้นจากแสงและความร้อน
  • อย่าใช้เครื่องสำอาง หากมีปัญหาตาอักเสบ และทิ้งผลิตภัณฑ์ไปหากพบปัญหา เช่น เก่าเก็บ เนื้อครีมสลายตัว
  • อย่าเติมของเหลวหรืออื่นๆลงในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นมีคำแนะนำบนฉลาก
  • โยนทิ้ง หากพบว่าสีเครื่องสำอางที่ใช้อยู่เริ่มเปลี่ยน หรือส่งกลิ่นผิดปรกติ
  • อย่าใช้กระป๋องสเปรย์ใกล้ความร้อน หรือระหว่างสูบบุหรี่ เพราะอาจระเบิดได้
  • อย่าสูดดมละอองสเปรย์ หรือผงแป้งเข้าปอด เพราะถ้าสเปรย์ทุกวัน อาจเกิดการสะสมจนเกิดอันตรายต่อปอดได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สีถาวรบริเวณรอบดวงตา เพราะมักจะมีโลหะ เช่น ตะกั่ว เป็นองค์ประกอบ ก่อให้เกิดอันตรายต่อตาได้
เวชเครื่องสำอาง คืออะไร?
ผลิตภัณฑ์บางชนิดเป็นได้ทั้งยาและเครื่องสำอาง เช่น แชมพูสระผม จัดเป็นเครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดเส้นผม แต่หากมีองค์ประกอบของสารขจัดรังแคซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อราอันเป็นสาเหตุของรังแค แชมพูชนิดขจัดรังแคจะจัดเป็นยา และหาซื้อได้จากร้ายขายยาเท่านั้น ตัวอย่างอื่นๆที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งยาและเครื่องสำอาง เช่น ยาสีฟันผสมฟูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ขจัดกลิ่นตัวชนิดที่มีฤทธิ์ระงับเหงื่อ และครีมบำรุงผิวที่มีสารกันแดดชนิดเคมี (chemical sunscreening agent) ผลิตภัณฑ์เวชสำอางต้องมีคุณสมบัติครบทั้งทางเครื่องสำอางและยาตามที่ อย.กำหนด
เครื่องสำอางสามารถเก็บได้นานแค่ไหน?
ผลิตภัณฑ์ประเภทรอบดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาสคาร่า อายเชโด่ ดินสอเขียวคิ้วและขอบตา ไม่สามารถใช้ได้นานๆเท่ากับชนิดอื่นๆ เพราะโอกาสในการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ระหว่างการใช้งานมีสูงมาก อาจทำให้เกิดอักเสบของเยื้อบุลูกตาได้ ผู้เชี่ยวชาญทางเครื่องสำอางแนะนำให้เปลี่ยนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทิ้งทุก 3 เดือนภายหลังจากการเปิดใช้งาน ผลิตภัณฑ์ประเภทสมุนไพรหรือชนิดที่มีองค์ประกอบจากธรรมชาติ มักจะเก็บได้ไม่นาน ผู้ใช้ควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปรกติ เช่น สี กลิ่น และความหนืดของเนื้อครีม เพราะทั้งสี กลิ่นและความหนืดที่เปลี่ยนไป แสดงถึงการสลายตัวของผลิตภัณฑ์อันอาจมีสาเหตุจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้ เนื่องจากสารสกัดจากธรรมชาติมักจะไม่มีสารกันเสีย ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นให้หยุดใช้ และทิ้งไปทันทีไม่ต้องเสียดาย นอกจากนั้นการเก็บผลิตภัณฑ์ต้องเก็บตามคำแนะนำบนฉลาก เช่น หลีกเลี่ยงจากความร้อน และแสงแดด หากเก็บไม่ได้ตามคำแนะนำ อายุของผลิตภัณฑ์จะสั้นกว่าวันหมดอายุที่กำหนดไว้บนฉลาก
ความปลอดภัยในการโกรกสีผมระหว่างตั้งครรภ์?
จากการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัคร พบว่าสีย้อมผมหรือสารเคมีจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยมากๆในระหว่างการโกรกสีผม และไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีความรู้มากมายนักถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์ในระยะยาว หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเช่นนี้จะดีกว่า
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Hollowell JG, Staehling NW, Flanders WD, Hannon WH, Gunter EW, Spencer CA, et al. Serum TSH, T(4), and thyroid antibodies in the United States population (1988 to 1994): National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES III). J Clin Endocrinol Metab. 2002;87(2):489-99.
  2. Biondi B, Bartalena L, Cooper DS, Heged?s L, Laurberg P, Kahaly GJ. The 2015 European Thyroid Association Guidelines on Diagnosis and Treatment of Endogenous Subclinical Hyperthyroidism. Eur Thyroid J. 2015 Sep;4(3):149-63
  3. Palacios SS,Pascual-Corrales E, Galofre JC. Management of Subclinical Hyperthyroidism. Int J Endocrinol Metab. 2012; 10(2): 490–496.
-->

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


เครื่องสำอางกับสุขภาพ 1 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 3 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้