Eng |
อาจารย์ ดร.ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากกรณีที่มีข่าวและเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการติดเชื้อหลังจากถูกสัตว์ที่เลี้ยงไว้ข่วนหรือกัด แล้วทำให้มีอาการรุนแรงจนเกิดโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Flesh-eating disease) นั้น ทำให้หลายๆ คนต้องกลับมาย้อนคิดและระมัดระวังตนเองมากขึ้น เพราะนอกจากโรคพิษสุนัขบ้าจากเชื้อไวรัสแล้วยังมีโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียได้อีกด้วย บทความนี้จะนำเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ รวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้
ภาพจาก : http://theleadershipreview.org/features/i-sell-bacteria/
โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียและก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงที่ผิวหนัง โดยมีการแพร่กระจายไปยังชั้นเนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อพังผืด รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โรคนี้เป็นโรคที่มีรายงานอุบัติการณ์หรือการเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นหรือเป็นโรคนี้แล้ว ย่อมส่งผลเสียและเป็นอันตรายอย่างมากต่อตัวผู้ป่วย
สาเหตุของการเกิดโรค
โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci) เชื้อเคล็บเซลลา (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และ แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) โดยพบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุที่สำคัญคือ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci) แต่เชื้อที่มีความรุนแรงคือ แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
อาการของโรค
ในระยะแรกของการติดเชื้อ จะเกิดอาการ เจ็บ ปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว โดยอาการที่ปวดมากมักไม่สัมพันธ์กับบาดแผลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น และเกิดการตายของเนื้อเยื่อในบริเวณนั้น ตำแหน่งที่เกิดโรคส่วนใหญ่คือบริเวณขาและเท้า ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ การช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และภาวะไตวาย
บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
การวินิจฉัยและรักษาโรค
ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการผ่าตัดนำส่วนเนื้อเยื่อที่มีการตายออก และการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อยับยั้งการติดเชื้อที่อาจลุกลามเพิ่มขึ้น และป้องกันการดื้อยาของเชื้อที่เป็นสาเหตุ
การดูแลป้องกันโรค
ระวังอย่าให้มีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่นถูกของมีคมข่วน ตำ แทง บาด หรือถูกสัตว์เลี้ยงข่วนหรือกัด อย่าชะล่าใจโดยเด็ดขาด ควรทำความสะอาดทันทีโดยใช้น้ำสะอาด สบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เช่น โพวิโดนไอโอดีน ที่บาดแผล ห้ามใช้ยาผงโรยใส่แผลโดยตรง และควรสังเกตว่าบาดแผลนั้นลึกหรือไม่ ถ้าลักษณะของบาดแผลรวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้การรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ฝึกให้มีสุขลักษณะที่ดี เช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงถ้ามีอาการผิดปกติภายหลังการเกิดบาดแผล เช่น มีไข้ ปวด บวมบริเวณบาดแผลเพิ่มมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรดูแลบุคคลที่มีบาดแผลโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคไม่ดี ก็จะเป็นการป้องกันทั้งตนเองและผู้อื่นจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้