เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ภัยใกล้ตัว


อาจารย์ ดร.ทนพ. เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.podiatrytoday.com/current-ins...-fasciitis
อ่านแล้ว 88,139 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/02/2560
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

จากกรณีที่มีข่าวและเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการติดเชื้อหลังจากถูกสัตว์ที่เลี้ยงไว้ข่วนหรือกัด แล้วทำให้มีอาการรุนแรงจนเกิดโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Flesh-eating disease) นั้น ทำให้หลายๆ คนต้องกลับมาย้อนคิดและระมัดระวังตนเองมากขึ้น เพราะนอกจากโรคพิษสุนัขบ้าจากเชื้อไวรัสแล้วยังมีโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียได้อีกด้วย บทความนี้จะนำเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ รวมถึงการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้
 
ภาพจาก : http://theleadershipreview.org/features/i-sell-bacteria/

โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียและก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงที่ผิวหนัง โดยมีการแพร่กระจายไปยังชั้นเนื้อเยื่ออ่อนใต้ผิวหนัง เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อพังผืด รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โรคนี้เป็นโรคที่มีรายงานอุบัติการณ์หรือการเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถ้ามีอาการเกิดขึ้นหรือเป็นโรคนี้แล้ว ย่อมส่งผลเสียและเป็นอันตรายอย่างมากต่อตัวผู้ป่วย
สาเหตุของการเกิดโรค
โรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci) เชื้อเคล็บเซลลา (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และ แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) โดยพบว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุที่สำคัญคือ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A streptococci) แต่เชื้อที่มีความรุนแรงคือ แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
อาการของโรค
ในระยะแรกของการติดเชื้อ จะเกิดอาการ เจ็บ ปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว โดยอาการที่ปวดมากมักไม่สัมพันธ์กับบาดแผลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น และเกิดการตายของเนื้อเยื่อในบริเวณนั้น ตำแหน่งที่เกิดโรคส่วนใหญ่คือบริเวณขาและเท้า ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ การช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และภาวะไตวาย
บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค

 

  1. ผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ เช่นมีดบาด ตะปูตำ สัตว์กัดหรือข่วน แล้วไม่มีการทำความสะอาดบาดแผล หรือทำความสะอาดบาดแผลอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มดังกล่าว จนเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
  2. ผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไตวาย หลอดเลือดผิดปกติ มะเร็ง ผู้สูงอายุที่ได้เคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น

การวินิจฉัยและรักษาโรค
ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างเร่งด่วน โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการผ่าตัดนำส่วนเนื้อเยื่อที่มีการตายออก และการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อยับยั้งการติดเชื้อที่อาจลุกลามเพิ่มขึ้น และป้องกันการดื้อยาของเชื้อที่เป็นสาเหตุ
การดูแลป้องกันโรค
ระวังอย่าให้มีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่นถูกของมีคมข่วน ตำ แทง บาด หรือถูกสัตว์เลี้ยงข่วนหรือกัด อย่าชะล่าใจโดยเด็ดขาด ควรทำความสะอาดทันทีโดยใช้น้ำสะอาด สบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เช่น โพวิโดนไอโอดีน ที่บาดแผล ห้ามใช้ยาผงโรยใส่แผลโดยตรง และควรสังเกตว่าบาดแผลนั้นลึกหรือไม่ ถ้าลักษณะของบาดแผลรวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้การรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ฝึกให้มีสุขลักษณะที่ดี เช่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงถ้ามีอาการผิดปกติภายหลังการเกิดบาดแผล เช่น มีไข้ ปวด บวมบริเวณบาดแผลเพิ่มมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรดูแลบุคคลที่มีบาดแผลโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคไม่ดี ก็จะเป็นการป้องกันทั้งตนเองและผู้อื่นจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่าหรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Centers for disease control and prevention. Necrotizing Fasciitis: A Rare Disease, especially for the heath. [Internet]. [Cited 2017 Jan 26]. Available from: https://www.cdc.gov/features/necrotizingfasciitis/
  2. Gretchen Holm. Necrotizing fasciitis (soft tissue inflammation). Healthline. [Online]. [Cited 2017 Jan 26]. Available from http://www.healthline.com/health/necrotizing-soft-tissue- infection#Overview1
  3. บทความเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคเนื้อเน่า...สาเหตุจากแบคทีเรียกินเนื้อคน จากกลุ่มสื่อสารสาธารณะ และภาคีเครือข่าย สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข
  4. จรัสศรี ฬียาพรรณ. โรคแบคทีเรียกินเนื้อ. บทความน่ารู้สำหรับประชาชน สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่ง ประเทศไทย. [ออนไลน์]. [วันที่สืบค้นข้อมูล 26 มกราคม 2560]. เข้าถึงได้จาก http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1220&cid=12#.WIm3C_l97Dc


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 4 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้