เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคมือเท้าปากในเด็ก


อาจารย์ ดร.ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://healthosphere.com/wp-content/uplo...images.jpg
อ่านแล้ว 21,402 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/09/2559
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในบทความที่แล้วเราได้กล่าวถึงโรคอาร์เอสวีซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดในเด็กเล็กและโรคไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคที่มักเกิดในเด็กเล็กอีกโรคหนึ่งคือ โรคมือเท้าปาก ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้ทุกช่วงของปี แต่มักจะมีการระบาดในช่วงหน้าฝนเช่นกัน 
 
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างคนสู่คนเท่านั้น โดยในหลายครั้งเกิดความสับสนกับโรคปากเท้าเปื่อยซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสัตว์ โดยไวรัสที่ก่อโรคนั้นเป็นเชื้อคนละชนิดกัน โรคมือเท้าปากเป็นโรคไม่มีการติดต่อข้ามไปยังสัตว์เลี้ยงหรือติดต่อมาจากสัตว์เลี้ยง โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย แต่อย่างไรก็ตามมักพบได้บ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี 
โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยมีหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น คอกซากีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A16) เป็นต้น แต่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงที่สุดคือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือเรียกกันสั้นๆว่า EV71 โดยไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นที่โชคดีที่สายพันธุ์ที่พบได้ประเทศไทยไม่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีรายงานการพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ EV71 ในประเทศไทยอยู่บ้างเช่นกัน 
อาการแสดงของโรคจะเกิดภายหลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ 3 – 6 วันจะเริ่มแสดงอาการ โดยอาการแสดงแรกที่พบคือมีไข้ หลังจากนั้นประมาณ 1 – 2 วันจะมีอาการเจ็บในช่องปากและลำคอ และอาจจะมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก เช่น ลิ้น เหงือก หรือกระพุ้งแก้มได้ ซึ่งจะทำให้ความอยากอาหารลดลง นอกจากนี้แล้วยังอาจมีอาการไม่สบายตัว ต่อมาอีก 1 – 2 วันอาจจะมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้าได้ โดยจะเป็นลักษณะผื่นแดง หรืออาจมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส แต่จะไม่มีอาการคัน 
โดยทั่วไปแล้วโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง มักจะเป็นมากอยู่ 2 – 3 วันและจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน โดยในเด็กต้องเฝ้าระวังภาวะขาดน้ำเนื่องมาจากอาการแสดงของโรคมักจะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ซึ่งจะทำให้การกลืนอาหารเจ็บและลำบากได้ อาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจเกิดได้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ EV71 แต่อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดน้อยมากโดยอาการที่เกิดขึ้นได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral meningitis) หรือสมองอักเสบ (Encephalitis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก หอบ อาเจียน หรือในรายที่รุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ 
โรคมือเท้าปากไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาโรคโดยตรง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นการให้ยาลดไข้ paracetamol หรือให้ยาบ้วนปากเพื่อช่วยลดอาการเจ็บของแผลในช่องปาก เป็นต้น แต่ในรายที่มีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การดูแลผู้ป่วยในระหว่างที่มีอาการได้แก่ การแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ดื่มน้ำโดยอาจให้ดื่มน้ำเย็น โดยไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดหรือน้ำอัดลม เพราะจะส่งผลต่อแผลในช่องปากได้ ควรให้ทานอาหารอ่อน ไม่ควรทานอาหารรสจัด และควรกลั้วปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อลดอาการเจ็บในช่องปาก ในรายที่มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่ควรพยายามเจาะออก ควรปล่อยให้แห้งไปเอง เนื่องจากน้ำในตุ่มน้ำใสมีเชื้อไวรัสอยู่ซึ่งจะสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ 
โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำใส หรือสารคัดหลั่งจากจมูกและปากอันได้แก่ น้ำมูก เสมหะ หรือน้ำลาย นอกจากนี้แล้วไวรัสยังสามารถพบได้ในอุจจาระ โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่ในระยะแรกที่แสดงอาการ และอาจจะยังพบได้อีกหลายสัปดาห์ในอุจจาระของผู้ป่วยที่หายจากอาการของโรคแล้ว นอกจากนี้แล้วในผู้ใหญ่อาจจะสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งการได้รับไวรัสอาจเป็นการได้รับโดยตรงเช่นจากการไอหรือจาม หรืออาจจะได้รับไวรัสโดยอ้อมโดยการสัมผัสกับพื้นผิวหรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เช่นในสถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งอาจมีของเล่นหรือของใช้เด็กที่ปนเปื้อนน้ำลายเนื่องจากเด็กเล็กมักชอบนำสิ่งของเข้าปาก เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการมีสุขลักษณะที่ดี 
เนื่องจากโรคมือเท้าปากมักพบในเด็กเล็ก ดังนั้นการระบาดมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือตามโรงเรียนอนุบาล วิธีการลดการแพร่กระจายที่ดีที่สุดคือการแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กอื่น และควรให้เด็กที่ป่วยหยุดรักษาจนกว่าอาการจะหาย แต่อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสยังสามารถพบในอุจจาระเด็กอีกหลายสัปดาห์ ดังนั้นการมีสุขลักษณะที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป ไม่ควรใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนน้ำลายร่วมกันเช่นของเล่นเด็ก หรืออุปกรณ์ทานอาหาร และควรมีมาตรการในการทำความสะอาดอุปกรณ์หรือพื้นที่ที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งทุกวัน และในกรณีที่เกิดการระบาดและพบการติดเชื้อของเด็กหลายคน ควรมีการพิจารณาปิดชั้นเรียนเพื่อหยุดการระบาดของไวรัส 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Centers for Disease Control and Prevention. Hand, Foot and Mouth Disease (HFMD). Available from: http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/ [Accessed on September, 2016].
  2. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Hand, Foot and Mouth Disease. Available from: http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hand-foot-and-mouth-disease/basics/definition/con-20032747 [Accessed on September, 2016].
  3. ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. โรค มือ-เท้า-ปาก และโรคจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71. Available from: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=492 [Accessed on September, 2016].


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคมือเท้าปากในเด็ก 1 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรป้องกันยุง 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้