เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไวรัสร้ายของลูกน้อย…โรคอาร์เอสวี (RSV)


อาจารย์ ดร.ภญ. ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://png.clipart.me/graphics/thumbs/13...737166.jpg
อ่านแล้ว 131,188 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 07/08/2559
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


หลายโรคที่มากับหน้าฝนและต้องเฝ้าระวังในช่วงนี้ มีหนึ่งในกลุ่มอาการที่มักพบบ่อย คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น หลายโรคพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในบางโรคนั้นการติดเชื้อในเด็กมักพบได้บ่อยและทำให้มีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งหนึ่งในโรคเหล่านั้นคือ การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV, Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งพบการติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กเล็กที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง โดยคาดการณ์ว่าในเด็กอายุสองขวบทุกคนจะต้องเคยติดเชื้อชนิดนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ในประเทศไทยช่วงที่พบบ่อยที่สุดคือช่วงฤดูฝน ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 
 
ภาพจาก : http://previews.123rf.com/images/1507kot/1507kot1109/
1507kot110900012/10688937-sick-boy-lying-in-bed-
with-fever-illustration--Stock-Vector-sick-cartoon-child.jpg 
อาร์เอสวี (RSV) คืออะไร 
โรคอาร์เอสวีเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสอาร์เอสวีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 4–6 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยส่วนมากมักไม่ค่อยแสดงอาการรุนแรงในผู้ใหญ่ อาการที่พบในผู้ใหญ่โดยทั่วไปมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคหวัด คือ ปวดหัว มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ไอแบบไม่มีเสมหะ มีอาการคัดจมูก โดยอาการเหล่านี้มักหายได้เองใน 1–2 สัปดาห์ 
แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการที่รุนแรงคือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำมักก่อให้เกิดอาการรุนแรง นอกจากนี้ผู้ป่วยอีกกลุ่มที่พบการติดเชื้อโรคนี้ได้บ่อยและมีอาการรุนแรงคือ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะในเด็กทารกจะมีอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้โรคมีความรุนแรงสูง 
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการเริ่มต้นเช่นเดียวกับอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนคือ มีอาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้น 1–2 วันอาจจะมีอาการแสดงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้แก่ มีไข้ ไอรุนแรง หายใจลำบากโดยอาจมีอาการหายใจเร็ว หรือมีเสียงวี๊ดขณะหายใจ 
ในเด็กเล็กซึ่งยังสื่อสารไม่ได้จะต้องอาจจะต้องอาศัยการสังเกตอาการ โดยในช่วงแรกจะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ซึมลง และทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1–3 วัน จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก หายใจตื้น สั้นๆ เร็วๆ และอาจจะมีเสียงตอนหายใจด้วย ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีอาการตัวเขียวหรือภาวะ cyanosis เกิดเนื่องมาจากการขาดออกซิเจนทำให้สีผิวออกม่วงๆ โดยมักจะเริ่มเห็นจากริมฝีปากหรือที่เล็บ นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีอาจจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆที่พบมากคือ หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) หรือในภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างอื่นๆ เช่น หลอดลมอักเสบหรือปวดบวมได้ ซึ่งภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนหรืออาการของโรคในกรณีที่รุนแรงมากควรจะได้รับการดูแลจากแพทย์ในโรงพยาบาล 
อาร์เอสวี (RSV) ติดต่อทางไหน 
ไวรัสอาร์เอสวีสามารถแพร่กระจายผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น และไวรัสชนิดนี้สามารถทนอยู่นอกร่างกายได้หลายชั่วโมง ดังนั้นนอกจากการได้รับเชื้อผ่านการไอจามใส่กันแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปากและเยื่อบุดวงตาได้ ภายหลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 2–3 วันไปจนถึง 2–3 สัปดาห์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการแสดงควรลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยการใส่ผ้าปิดปาก 
การตรวจและวินิจฉัย โดยส่วนมากการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์จะทำโดยการซักประวัติและตรวจดูอาการ หากต้องการการตรวจยืนยันจึงจะทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเป็นรายๆ ไป ซึ่งในบางโรงพยาบาลอาจจะมีการตรวจยืนยันหาเชื้อด้วยวิธี RSV Rapid Ag-detection test ซึ่งได้ผลการทดสอบภายในไม่กี่ชั่วโมง 
อาร์เอสวี (RSV) รักษาอย่างไร 
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจึงทำให้ไม่มียารักษาอาการโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อย หอบ มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจมีการให้ยาพ่นขยายหลอดลม ร่วมกับการให้ออกซิเจน ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการให้สารน้ำทดแทนเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในเด็ก ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้ออื่นๆ มักจะได้รับยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการ 
การป้องกันและการเฝ้าระวัง เนื่องจากโรคนี้ติดต่อทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ดังนั้นควรปฏิบัติตนตามหลักการรักษาสุขลักษณะที่ดี หมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการควรสวมใส่ผ้าปิดปากเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หากมีเด็กที่มีอาการป่วยควรแยกออกจากเด็กปกติ และควรให้เด็กหยุดการเรียนจนกว่าจะหายจากการติดเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค 
อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคนี้จะติดต่อได้ง่ายและมักมีความรุนแรงในเด็กเล็ก ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหากต้องฝากเด็กเล็กไว้ตามสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในครอบครัวมีเด็กที่โตกว่าและไปโรงเรียน หรือการนำเด็กเล็กไปสถานที่ชุมชน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ หรือหากจำเป็นเช่น มีพี่น้องที่ไปโรงเรียนแล้ว จะต้องระมัดระวัง และควรล้างมือก่อนสัมผัสกับเด็กเล็ก การรักษาสุขลักษณะและการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดการติดต่อของเชื้อ และควรเพิ่มความระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนเพื่อให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเจ็บป่วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Respiratory syncytial virus (RSV). [Accessed on July 2016] from: http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/respiratory-syncytial-virus/basics/definition/con-20022497.
  2. Krilov L.R. Respiratory Syncytial Virus Infection. [Accessed on July 2016] from: http://emedicine.medscape.com/article/971488-overview#showall.
  3. Centers for disease control and prevention. Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV). [Accessed on July 2016] from: http://www.cdc.gov/rsv/clinical/index.html.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้