เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เก็บยาอย่างไรให้คงคุณภาพ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.wms.co.uk/sharedimages/Zoom/W.../W2206.jpg
อ่านแล้ว 27,349 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/07/2559
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

แม้ว่ายาที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมจะผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ แต่หากการจัดเก็บยาในคลังเวชภัณฑ์ ห้องจ่ายยา สถานีอนามัย รถที่ใช้ขนส่ง หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพของยาหรือทำให้เกิดการเสื่อมสลาย (degradation) ของตัวยาสำคัญ (active pharmaceutical ingredients) ไวขึ้น อะไรบ้างที่ทำให้คุณภาพหรือความคงตัวของยาลดลงหรือเสียไป

สภาวะต่อไปนี้มีผลต่อความคงตัวของยา ได้แก่
อุณหภูมิ (temperature) อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปจะมีผลต่อคุณภาพของยาได้ โดยทั่วไปมักให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง คือ อุณหภูมิประมาณ 18 -25 องศาเซลเซียส แต่ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็น โดยเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่เก็บไว้ที่ช่องแช่แข็งหรือที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเราเปิด-ปิดตู้เย็น อาจทำให้อุณหภูมิแกว่งขึ้นลงได้ และควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงเป็นเวลานานหรือมีความร้อนสูง เช่น รถยนต์จอดตากแดด ใกล้ๆ เตา ตู้อบ ตู้ไมโครเวฟ แสง ยาบางชนิดเมื่อถูกแสงจ้าหรือแสงแดดเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะทําให้ยาเสื่อมสภาพ ใช้รักษาไม่ได้ผล ดังนั้น บรรจุภัณฑ์จึงมักทำเป็นซองหรือขวดสีชา กล่องกระดาษทึบ แผงอลูมิเนียม หรือแผงยาแบบกดเม็ดยาออก (บลิสเตอร์) ที่มีความทึบแสง เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่ควรแกะออกจากภาชนะบรรจุเดิมของยาหากยังไม่ต้องการใช้
ความชื้น (moisture) ความชื้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยาที่อยู่ในรูปของแข็งไม่คงตัว โดยอาจจะทำปฏิกิริยาโดยตรงหรือเอื้อให้เกิดปฏิกิริยาสลายตัวของยา ยาเม็ดส่วนใหญ่เมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยาทำให้บวมหรือเกาะเป็นก้อนได้ จึงไม่ควรเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง และควรปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้ง
ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ความเป็นกรด-ด่างจะมีผลต่อความคงตัวโดยเฉพาะตำรับยาฉีดหรือยาน้ำ หากความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ตัวยาสำคัญตกตะกอนหรือเสื่อมสลาย
Oxidation and enzymatic degradation สารออกซิเดชันที่สำคัญที่สุด คือ ก๊าซออกซิเจนในอากาศ ปฏิกิริยาออกซิเดชันจะเกิดเร็วขึ้นเมื่อถูก แสง ความร้อน หรือมีตัวเร่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาดังกล่าวเราควรปิดภาชนะบรรจุให้สนิท และไม่วางบรรจุภัณฑ์ในที่ที่ไม่เหมาะสม
การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพ จากการที่ยาสัมผัสกับ อากาศ ความชื้น แสงแดด ซึ่งต่างก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพของยา ดังนั้น จึงไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมา ทั้งนี้เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพอยู่ได้จนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ แต่หากมีความจำเป็นต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่ ให้แบ่งออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ สำหรับยาบางรูปแบบ แม้ว่าหลังเปิดใช้จะเก็บอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถเก็บยานั้นใช้ได้จนถึงวันที่ยาหมดอายุ ได้แก่ ยาหยอดตา หลังเปิดใช้มีอายุอยู่ได้ 1 เดือน ยาปฎิชีวนะชนิดน้ำเชื่อมแขวนตะกอน หากเก็บที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) อยู่ได้ 1 สัปดาห์ และหากเก็บในตู้เย็นอยู่ได้ 2 สัปดาห์
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Briscoe CJ, Hage DS. Factors affecting the stability of drugs and drug metabolites in biological matrices. Bioanalysis. 2009;1(1):205-20,
  2. http://cst-kh.edu.ps/staff/mabujamee/wp-content/uploads/2010/10/Unit-4-Drug-Stability.pdf
  3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21083197
  4. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/193
  5. http://www.healthtoday.net/thailand/Disease_n/disease177_5.html
  6. http://www.pharmyaring.com/download/drug_sharing1_pdf.pdf


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้