เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อ่านฉลากยาดีๆ มีประโยชน์


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.dogilike.com/content/vettalk/...talk/1980/
อ่านแล้ว 103,284 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/06/2559
อ่านล่าสุด 16 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

การใช้ยาถึงแม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาอย่างผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อการรักษาและรวมไปถึงสุขภาพของผู้ใช้ยา บางครั้งผู้ใช้ยาอาจลืมวิธีการใช้ยาแต่ก็ละเลยที่จะอ่านฉลากยา ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านฉลากเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก


ฉลากยาที่พบได้บ่อย คือ ฉลากยาจากบริษัทผู้ผลิต และ ฉลากยาจากสถานพยาบาล/คลินิก/ร้านขายยา ดังตัวอย่างในรูปที่ 1 ซึ่งรายละเอียดจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้การให้ข้อมูลมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ยาได้อย่างถูกต้อง และมีความปลอดภัยจากการใช้ยา

ข้อมูลแสดงบนบรรจุภัณฑ์
ยาทุกชนิดทุกประเภทจำเป็นต้องมีฉลากและเอกสารกำกับยาติดอยู่ในขวดหรือในกล่องยา เพราะฉลากและเอกสารกำกับยาเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะแนะนำให้ผู้บริโภครู้ไว้เพื่อประกอบในการใช้ยา ในเอกสารกำกับยาจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับยาเอาไว้หลายประเด็น ไม่เพียงแต่ทำให้เราทราบชื่อยา ข้อบ่งใช้ หรือสรรพคุณของยาเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ ดังนั้นการใช้ยาอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาพยาบาล เพราะหากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่โทษอย่างมหันต์ได้ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ความในมาตรา 25 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันต้องจัดให้มีฉลากตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ โดยจะต้องปิดไว้ที่ภาชนะและหีบห่อบรรจุยาหรือฉลากและเอกสารกำกับยา ดังตัวอย่างในรูปที่ 2 ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

ชื่อยาบนฉลาก ซึ่งจะมีทั้งชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้า จึงเป็นที่มาของยาชนิดเดียวกันอาจมีชื่อการค้าหลายชื่อหรือมีหลายยี่ห้อ ผู้ใช้ยาจึงควรทราบสูตร ส่วนประกอบ หรือ ชื่อสามัญทางยาของยาที่ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงตัวยาที่แพ้ หรือ การใช้ยาซ้ำซ้อน อันเป็นสาเหตุของการใช้ยาเกินขนาดที่อาจจะเป็นอันตรายได้
วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้ยาที่หมดอายุแล้ว วันหมดอายุของยาจึงบอกช่วงเวลาที่ควรใช้หรือจ่ายยา บางครั้งผู้ผลิตอาจจะใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทนข้อความภาษาไทย เช่น
MFG. date หรือ MFd ย่อมาจากคำว่า manufacturing date แปลว่าวันที่ผลิต เช่น
  • MFd 22/6/16 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อวันที่ 22 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 หรือ พ.ศ. 2559
  • MFG. date 15.12.58 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อวันที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558
  • MFd AUG.15 หมายถึง ยานี้ผลิตเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558
EXP หรือ Exp. date ย่อมาจากคำว่า expiration date แปลว่า วันที่หมดอายุ เช่น
  • EXP JUL 17 หมายถึง ยานี้หมดอายุเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 หรือ พ.ศ. 2560
  • Exp. date 15.12.61 หมายถึง ยานี้หมดอายุวันที่ 15 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561
ผลข้างเคียงของยา ข้อห้ามใช้และคำเตือน เป็นข้อความที่ผู้ใช้ยาควรให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ยานี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไต ไม่ควรใช้ยาใด หากผู้ใช้ยาไม่เข้าใจข้อความในเอกสารกำกับยา สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรได้
เลขทะเบียนตำรับยาบนบรรจุภัณฑ์มักจะมีคำว่า Reg. No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา สิ่งนี้แสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ยานั้นได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วว่ามีผลในการรักษาจริง
ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้ทราบว่ายาดังกล่าวมีข้อควรระวังในการใช้ยามากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้ยานี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร โดยมากจะแสดงข้อความด้วยอักษรสีแดงบนบรรจุภัณฑ์
ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญโดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของบริษัทนั้นๆ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อร้องเรียนได้ถูกต้อง โดยระบุเลขที่หรือครั้งที่ผลิตของยานั้นเพื่อให้หน่วยงานรับเรื่องทำการตรวจสอบได้ถูกต้องและรวดเร็ว
ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย ฉลากยาจากสถานพยาบาลจะแสดงชื่อและนามสกุลของผู้ป่วยกำกับทุกครั้ง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยถูกรายแล้ว ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งเพื่อเตือนใจผู้ป่วย คือ ไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นหรือรับประทานยาของผู้อื่น เนื่องจากแต่ละคนอาจมีโรคที่แตกต่างกัน หรือยามีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย ความรุนแรงของโรคต่างกัน รวมถึงขนาดยาที่ใช้แตกต่างกัน นอกจากจะไม่ช่วยในการรักษา อาจส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้
การอ่านฉลากยานับเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยรักษาประโยชน์และให้ความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งที่เราศึกษาหาความรู้ด้านยาด้วย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.health-pmk.org/
  2. https://www.doctor.or.th/ask/detail/4711
  3. http://www.pharmacistchitchat.com/2015/05/05
  4. http://matt-thai.blogspot.com/p/blog-page.html


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะตูมซาอุ ผักหลายชื่อ 5 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 13 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้