เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไมเกรน .. กินยาไม่ถูกต้องอันตรายมากกว่าที่คิด


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : รศ.ดร.ภก.ศุภโชค มั่งมูล และ รศ.ภญ.สมใจ นครชัย)


ภาพประกอบจาก: http://img.medscape.com/news/2014/dt_140...00x600.jpg
อ่านแล้ว 136,654 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/05/2559
อ่านล่าสุด 7 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เมื่อเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว หลายๆ ท่านเข้าใจว่าเป็นโรคปวดไมเกรน เพราะเราเคยเรียกโรคปวดไมเกรนกันว่า โรคปวดศีรษะข้างเดียว จึงทำให้เข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียวแสดงว่าเป็นไมเกรน 
แท้จริงอาการปวดไมเกรนนั้นไม่จำเป็นต้องปวดศีรษะเพียงข้างเดียว อาจปวดสองข้างก็ได้ ในทางกลับกัน อาการปวดศีรษะข้างเดียวอาจไม่ใช่ไมเกรนก็ได้ 
อาการของโรคไมเกรนเป็นผลจากการขยายและหดของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะ โดยมักมีอาการนำ (aura) ก่อนอาการปวด แต่อาจไม่มีอาการนำก็ได้ อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เกิดตาพร่า เห็นภาพ หรือ แสงสีผิดปกติ อาการนำอื่นๆ คือ รู้สึกหนักที่แขนขาเหมือนไม่มีแรง มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา หรือแสบร้อน อาการนำจะเกิดนานประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นไม่นานจะเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งจะปวดเป็นพักๆ ปวดตุบๆ ข้างเดียว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงนี้จะอยู่นาน 2-3 ชั่วโมง จากนั้นอาการจะทุเลาลง แล้วเกิดอาการปวดขึ้นใหม่ได้ ผู้ป่วยไมเกรนประเภทที่ไม่มีอาการนำ อาจเกิดอาการอื่นแทน เช่น รู้สึกไวกับแสง เสียง หรือกลิ่นมากกว่าปกติ รู้สึกเพลีย หิวอาหารและน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดก่อนนานหลายๆ ชั่วโมงกว่าจะมีอาการปวดศีรษะ ผู้ป่วยไมเกรนมักจะทราบเองว่าปัจจัยใดที่ทำให้อาการไมเกรนของตนกำเริบ เช่น อดนอน เครียด รับประทานอาหารประเภท ถั่ว เนย ช็อกโกแลต ชีส ไวน์แดง ชา กาแฟ สตรีช่วงมีประจำเดือน การได้ยินเสียงดัง ได้กลิ่นฉุน แสงจ้า เป็นต้น 
นอกจากโรคไมเกรนแล้ว โรคปวดศีรษะยังมีอีกหลายประเภท เช่น โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด (tension headache) โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headache) และ โรคปวดศีรษะเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูง(increase intracranial pressure) เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดการปวดศีรษะเพียงข้างเดียวได้ 
มีโรคปวดศีรษะอีกประเภทหนึ่งที่อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นไมเกรน คือ โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีความกังวลและเครียดตลอดเวลา ต้องทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันวันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณบ่าและแขนเกิดการเกร็งตึง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตึงบริเวณท้ายทอย ร้าวขึ้นไปที่ขมับข้างที่มีการตึงของกล้ามเนื้อ หรือเกิดอาการปวดรอบศีรษะคล้ายถูกรัด ซึ่งถ้ามีอาการไม่มาก เมื่อพัก นวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งและตึง อาการจะหายไปเอง แต่ในรายที่มีอาการหนักอาจปวดต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โรคปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียดจะไม่เกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า หรือเห็นแสงสี 
โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ก็มีอาการปวดศีรษะข้างเดียวได้เช่นกัน แต่จะปวดรุนแรง ปวดบ่อย มักปวดรอบตาและขมับ มีตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูกในด้านเดียวกัน จะไม่มีคลื่นใส้อาเจียน ส่วนโรคปวดศีรษะที่เกิดเนื่องจากมีแรงดันในสมองสูงนั้น เกิดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง เช่น มีเนื้องงอกในสมอง เลือดออกในสมอง น้ำคั่งในสมอง เป็นต้น ซึ่งต้องแก้ไขที่สาเหตุ 
ฉะนั้นก่อนที่จะสรุปว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อน ไม่ควรคิดเอาเองว่ามีอาการปวดศีรษะข้างเดียว แสดงว่าเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนแน่ๆ แล้วไปหาซื้อยาแก้ไมเกรนมารับประทาน เพราะ การรับประทานยาไมเกรนไม่ถูกต้องมีอันตรายไม่น้อย ซึ่งท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้จาก บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ทาง website นี้ เรื่อง “ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย” และ “ปวดไมเกรน ... ระวังปัญหายาตีกันของ ergotamine” ในบทความได้กล่าวถึงอันตรายของ ergotamine ซึ่งเป็นยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนว่า ยานี้บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนด้วยกลไกการออกฤทธิ์คือ ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะ (เพราะอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากการขยายตัวมากผิดปกติของหลอดเลือดที่กะโหลกศีรษะ) แต่ฤทธิ์การหดหลอดเลือดนี้มิได้เกิดกับหลอดเลือดที่ผิดปกติเท่านั้น ยังทำให้หลอดเลือดส่วนปลาย (บริเวณมือ แขน ขา) หดตัวด้วย จึงก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์คือ การไหลเวียนเลือดไปทางหลอดเลือดส่วนปลายลดลง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า ผลข้างเคียงนี้สัมพันธ์กับปริมาณยา ergotamine ในกระแสเลือด และหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณมือ แขน หรือขา ไม่เพียงพอ และทำให้เกิดเนื้อตายที่บริเวณดังกล่าว จนอาจจำเป็นต้องตัดแขนหรือขาทิ้งในที่สุด และโอกาสเกิดอาการพึงประสงค์ที่รุนแรงนี้จะเพิ่มขึ้นหากใช้ยา ergotamine ร่วมกับยาอื่นที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว หรือยาที่มีผลเพิ่มระดับ ergotamine ในกระแสเลือด หรือใช้ ergotamine เกินขนาดยาที่แนะนำ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.mayoclinic.org/symptoms/headache/basics/causes/sym-20050800 access 21/04/2016
  2. http://www.nhs.uk/Conditions/Headache/Pages/Introduction.aspx access 21/04/2016
  3. http://www.headaches.org/2008/12/11/the-complete-headache-chart/ access 21/04/2016
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ต้อลม-ต้อเนื้อ 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้